แน่นอนว่ากระแสความรุนแรงในโลกการเปลี่ยนแปลงของ “สื่อ” เป็นเรื่องที่ทั้งโลกต้องจับตาและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่อนาล็อกหรือ ดิจิทัลเท่านั้น แต่โลกในอีก 365 วันข้างหน้านี้ กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เราต้องรู้เท่าทันและก้าวทันเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพแนวโน้มสื่อไทยปี 2567 ไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ

AR และ VR มาแรง รศ.ดร.สมิทธิ์ บอกว่า แนวโน้มของการใช้สื่อในไทยปี 2567 ในแง่ของแคมเปญ บริษัทต่างๆจะเริ่มนำ Augmented reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มาใช้กับแคมเปญของตัวเองมากขึ้น เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผลิตภัณฑ์ และทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูทันสมัย

“ผมคิดว่า AR และ VR จะเป็นส่วนเสริมของแบรนด์ เรียกว่ายกระดับจาก QR Code เลย อีกไม่นานนับจากนี้ QR ก็จะเริ่มล้าสมัย ไม่มีใครนั่งส่อง QR แล้วครับ ทุกคนจะเริ่มส่อง AR แทน แล้วก็จะมีข้อมูลขึ้นมา หน้าจออะไรต่างๆ หรือบนแพ็กเกจจิ้งจะมีอะไรที่มันเหนือกว่าแพ็กเกจจิ้งปกติ เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค” อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ บอก

...

ในแง่ของ Media ต่างๆ รศ.ดร. สมิทธิ์ ฉายภาพให้เห็นว่า ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การนำเสนอแบบเดิมๆที่เป็นบรอด คาสต์แทบไม่ได้รับความสนใจ แต่ทุกสื่อจะหันมาใช้เทคโนโลยีการสตรีมมิง ไม่ว่าจะเป็นข่าว คอนเทนต์ การเสวนา รายการทอล์ก ทั้งหมดจะถูกนำเสนอผ่านการสตรีมมิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างรวดเร็วฉับไว ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าเทรนด์ปีนี้สตรีมมิงมาแรงมาก เนื้อหาหรือคอนเทนต์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข่าว เหตุการณ์ปัจจุบัน เสวนา ทอล์กต่างๆ จะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งหมด ทั้งยูทูบ ติ๊กต่อก X เรียกว่ารวดเร็วมากๆ” รศ.ดร.สมิทธิ์บอกพร้อมกับเสริมว่า ในแง่ของสื่อมวลชน ส่วนใหญ่ก็จะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง องค์กรสื่อมีอำนาจในการดึง Magnet ที่เป็นนักข่าวของตัวเองได้น้อยลง เพราะว่าข้อต่อรองในการเข้าถึงประชาชนจะไม่ได้เกิดจากการอยู่ในองค์กรข่าวอีกต่อไปแล้ว เพราะนักข่าวก็จะมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองหรือมีช่องทางในการนำเสนอข่าว หรือข้อมูลบนช่องทางของตัวเอง

เมื่อถามถึงกระแส X โซเชียลมีเดีย น้องใหม่ที่กำลังมาแรง อาจารย์สมิทธิ์ บอกว่า แพลตฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ในชื่อเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในกิจกรรมเรื่องทางสังคม เทรนด์แฮชแท็กต่างๆที่ให้คนแชร์ต่อๆกัน จุดแข็งของ X คือการทำให้เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมโยงกับโลกได้มากขึ้น เพราะ X เป็นแพลตฟอร์มของประชากรโลก

หมายความว่า X จะถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเด็กนักเรียนและเยาวชนเข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมโลกมากขึ้น เชื่อมโยงกับเทรนด์ของดาราระดับโลกได้เร็ว แล้วคนต่างประเทศเองก็สามารถมาเข้าแฮชแท็กไทย ช่วยคนในประเทศไทยเรียกร้องประเด็นทางสังคมได้ด้วย หรืออินกับดาราไทยได้ด้วยเช่นกัน

“ผมคิดว่า X สามารถ connect ความเป็นประชากรโลกให้กับทุกคนได้อย่างง่ายและรวดเร็ว มันไม่ได้เยอะ มันต้องคิดมาแล้วล่ะ ทำไงถึงจะสั้นที่สุด เข้าใจง่ายสุด”

รศ.ดร.สมิทธิ์ บอกว่า ความทรงอิทธิพลของ X คือการถูกนำมาใช้งานในการสร้าง Social Cause หรือประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สิทธิ ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม ที่ทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น

...

ขณะที่แพลตฟอร์มที่เคยมาแรงอย่าง Tik Tok จะกลายเป็นแพลต ฟอร์มที่นำเสนอเรื่องสายลม แสงแดด แนวอารมณ์รัก อารมณ์ชอบ อารมณ์สนุก ที่สามารถนำไปใช้ในเรื่องของการตลาด ถือเป็นแหล่งรวมคนอารมณ์ดี เพราะคนอารมณ์ดีก็จะซื้อของ แล้วก็หาข้อมูลหาอินฟลูเอนเซอร์หน้าตาสวยๆหล่อๆ แล้วก็ซื้อสินค้าตาม เพื่อให้ การสนับสนุนแฟนคลับ แฟนด้อม ว่ากันไป

“ติ๊กต่อกยังไม่หายไป แต่อาจจะเหมาะสม สำหรับข้อมูลบางประเภท เช่น ค้นหารีวิวสินค้าใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ แต่อาจจะไม่เหมาะสมในกรณีที่เราต้องการข้อมูลในเชิงวิชาการ หรือต้องการอ้างอิงและมีความน่าเชื่อถือ” อ.สมิทธิ์ให้ความเห็นและว่า ส่วนการที่ติ๊กต่อกเปิดตัว AI ในรูปแบบ Creative Assistant นั้น อาจเป็นเพราะต้องการเข้ามามีส่วนเสริมในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ตอบโจทย์ครีเอเตอร์ เช่น ถ้าครีเอเตอร์ได้รับงานรีวิวสินค้ามา และคิดไม่ออกว่าจะทำคลิปยังไงให้กระแสมันดี ก็สามารถใช้ AI ช่วยป้อนข้อมูลได้ คือในตัว AI ก็จะมีคีย์เวิร์ดต่างๆ เช่น ตอนนี้คลิปแนวไหนกำลังมาแรง ต้องทำคลิปสไตล์ไหน ต้องพูดคำอะไร ก็จะมีข้อมูลมาอยู่ใน AI แต่การครีเอต คอนเทนต์ AI อาจจะยังไปไม่ได้ไกลขนาดนั้นในแพลตฟอร์ม TikTok

...

ในปี 2567 อ.สมิทธิ์ ยืนยันว่า คอนเทนต์ จะมีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และผู้บริโภคจะมีตัวเลือกในการรับชมคอนเทนต์มากขึ้น สื่อจึงต้องผลิตคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เรียกว่าเป็น Niche มากกว่า Mass ผู้คนจะเริ่มหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเป็นตัวเอง เป็นตัวตนที่แตกต่างและเป็นตัวจริงมากขึ้นเรื่อยๆ อินฟลูเอนเซอร์คนไหนไม่ใช่ตัวจริง รู้ไม่ลึกก็จะค่อยๆหลุดออกไป เพราะว่าคนรู้จักเลือกมากขึ้น เพราะตัวเลือกมีให้เลือกเยอะ ปีนี้ถ้าใครจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องเก่งจริง ถ้าเก่งไม่จริงมาแล้วก็ไป ส่วนดาราที่ Mass มากๆ ถ้าจะอยู่ได้ ก็ต้องไม่ใช่เป็นแค่ดารา แต่ต้องมีความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วย

รศ.ดร.สมิทธิ์ ยังได้แนะนำถึงข้อดีและข้อควรระวังของการใช้งาน AI ว่า ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นคนเสพสื่อ การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการสร้างคอนเทนต์นั้น อาจารย์สมิทธิ์มองว่า ในฐานะที่เป็นคนเสพสื่อแล้ว การใช้ AI เพื่อทำคอนเทนต์นั้น ถ้าสร้างอะไรที่ออกมาดี ผู้บริโภคก็รับได้ทั้งหมด แต่ส่วนของสื่อควรจะใช้ AI หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสื่อใช้งานอย่างไร มองในด้านดี อย่างในกรณีที่เป็นสื่อโฆษณา ก็จะได้สื่อที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น แล้วถ้าเกิดว่าสื่อข่าวที่ใช้ AI ในการช่วยเขียนช่วยผลิต และช่วยตรวจสอบว่าข้อมูลจริงหรือเท็จอย่างไร AI สามารถเปรียบเทียบได้ให้เราระดับหนึ่ง เราก็จะได้สื่อที่มีความลึกมากขึ้น และถ้าเกิด AI เปรียบเทียบได้หลากหลาย เราก็จะได้สื่อที่มีความรอบด้านมากขึ้นอีก ไม่ใช่ว่ามองจากมุมเดียว ในทางกลับกันถ้าคลังความรู้ของ AI มีความอคติหรือ Bias ตั้งแต่อยู่ในคลังเลย ก็มีโอกาสที่ผลผลิตจากการดึงข้อมูลความรู้นั้นออกมาก็อาจจะมีอคติตามไปด้วย

...

“ผมคิดว่าคนที่ทำงานสื่อต้องหันกลับมาพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น อันดับแรกเลยคือ คิดคอนเทนต์ที่มีความเป็นตัวตนจริงๆของเรา สิ่งที่คุณทำกับสิ่งที่คุณเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน เนื้อหากับตัวตนต้องไปด้วยกัน อย่างนั้นจึงจะน่าเชื่อถือและสร้างความผูกพันกับผู้ชมได้ ไม่ว่าจะเป็นงานข่าว งานพรีเซนเตอร์ งานละคร ต้องมีลักษณะแบบนี้” อ.สมิทธิ์บอก พร้อมกับทิ้งท้ายว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สำคัญที่สุดคือการใช้อย่างมีวิจารณญาณ มีความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น AI, AR, VR หรือโซเชียลมีเดีย เราต้องเข้าไปใช้แล้วก็ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนาทักษะต่างๆ แล้วก็ดูว่ากระแสโซเชียลต่างๆมีเทรนด์อย่างไร แล้วก็นำมาสื่อสารกับผู้บริโภค ต้องฟังและตอบรับต่อผู้บริโภคอย่างเหมาะสม โดยใช้เครื่องมือและเทคนิควิเคราะห์ข้อมูล ก็จะช่วยทำความเข้าใจผู้บริโภคได้ดีขึ้น

สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมสิ่งที่ดีงาม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม