เอไอเอสจับมือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ตีแผ่ 5 คดีดังภัยไซเบอร์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ผ่านละครคุณธรรม 12 เรื่อง สะท้อนบทเรียนกลลวงมิจฉาชีพ ติดตามได้ช่องทาง Learndiaunjaicyber

1.หลอกซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่ได้สินค้า โดยคนร้ายจะสร้างเพจปลอมให้เหมือนเพจจริง แล้วนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากเพจจริงมาโพสต์ขาย คัดลอกคอนเทนต์ รูปภาพ ราคาโพสต์ลงในเพจปลอม หลอกล่อให้ลูกค้าหลงเชื่อและซื้อสินค้าหรือบริการ โดยให้โอนเงินไปยังบัญชีรับประโยชน์ของคนอื่น (บัญชีม้า) อ้างว่าเป็นบัญชีของทีมบริหาร เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจได้อีก ลูกค้าจะถูกบล็อกช่องทาง โดยไม่ได้สินค้าหรือบริการตามที่ซื้อ

2.หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม เริ่มจากคนร้ายโทร.มาหลอกว่า ยกตัวอย่าง โทร.จากกระทรวงการคลังเพื่อทำการยกเลิกโครงการคนละครึ่ง, โทร.จากกรมที่ดินเพื่อให้จ่ายภาษีที่ดิน แต่ยกเลิกค่าภาษีได้ถ้าทำตามขั้นตอน, โทร.จากการไฟฟ้าฯเพื่อขอคืนเงินค่าประกันราคามิเตอร์ไฟฟ้า โดยจะสอบถามชื่อสกุล รวมไปถึงรุ่นยี่ห้อของโทรศัพท์เหยื่อ เมื่อแน่ใจว่าเป็นมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) แล้วจึงเริ่มให้เพิ่มเพื่อนไลน์หรือขอแอดไลน์ แล้วหลอกให้คลิกลิงก์ เข้าสู่เว็บไซต์ปลอม แล้วให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอม อ้างว่าให้ยื่นคำร้องผ่านแอปฯ จากนั้นจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ รวมไปถึงให้ตั้งค่ารหัส PIN เพื่อเข้าใช้งานแอปฯ แล้วเครื่องจะถูกล็อกหน้าจอ แล้วให้ผู้เสียหายกดปลดล็อกหน้าจอเพื่อดำเนินการต่อ ถึงขั้นตอนนี้คนร้ายจะหลอก phising  ล้วงเอาข้อมูลส่วนตัว รวมไปถึงรหัส PIN ของเหยื่อไป เพื่อโอนเงินออกจากแอปพลิเคชันของธนาคารในเครื่องมือถือของผู้เสียหายเอง

...

3.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิจฉาชีพมักโฆษณาผ่านเพจเฟซบุ๊กเพื่อชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนของบริษัทใหญ่ที่น่าเชื่อถือ มีการนำรูปผู้บริหารมายืนยัน จากนั้นจะถูกล่อให้แอดเป็นเพื่อนในไลน์ พูดคุย เชิญชวนให้เปิดพอร์ตระยะสั้น ให้โอนเงินครั้งแรกจำนวนน้อยๆก่อน คือ 2,220 บาท ต้องเทรดทั้งหมด 9 รอบ ในแต่ละรอบมีการให้โอนเงินเติมเข้าเพิ่มเติมไปถึงหลักแสนบาท โดยจะแสดงผลกำไรและแจ้งกลับมาให้เหยื่อดีใจ ตื่นเต้น หลงเชื่อ พอครบการเทรด 9 รอบ ผู้เสียหายขอปิดบัญชีเพื่อดึงเงินกลับ มิจฉาชีพจะแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆเป็นเงินหลักแสนอีก กรณีผู้เสียหายไม่ยอมโอนเงินอีกต่อไป กลุ่มคนร้ายจะเชิดเงินหนี ขาดการติดต่อโดยการบล็อกทุกช่องทาง

4.คดีปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน เริ่มจากโทร.มาอ้างว่าเป็นคนรู้จัก หลอกให้ทายชื่อ ให้เหยื่อเผลอพูดชื่อคนรู้จักไป แล้วสวมรอยเป็นคนนั้น บอกว่าโทรศัพท์หายเปลี่ยนเบอร์ใหม่ ให้เมมชื่อไว้ หลังจากนั้นโทร.มาวันหลังเพื่อขอยืมเงิน

5.คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน ส่วนใหญ่โฆษณาบนเฟซบุ๊ก เป็นแอปฯกู้เงินออนไลน์ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว หลอกให้เพิ่มเพื่อนในไลน์ เพื่อสนทนากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ จากนั้นหลอกให้กดลิงก์ โหลดแอปพลิเคชัน สมัครใช้งาน ยืนยันตัวตน เช่น ให้ส่งภาพใบหน้าพร้อมบัตรประชาชน ชื่อสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร. เมื่อทำรายการในระบบของคนร้ายเสร็จสิ้น กลุ่มคนร้ายจะอ้างว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลบัญชีผิด หรือกดหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนผิด ต้องทำการโอนเงินก่อนเพื่อปลดล็อกระบบ แล้วยอดเงินที่โอนจะคืนให้หลังจากอนุมัติสินเชื่อ จากนั้นออกอุบายเรื่อยๆว่า ผู้เสียหายโอนเงินช้า ปลดล็อกไม่ทันในเวลาที่กำหนด ผู้เสียหายถ่ายรูปไม่ชัด ระบบล็อก ต้องโอนเงินปลดล็อก แล้วแต่กรณี จนผู้เสียหายแน่ใจว่าตัวเองถูกหลอก จึงหยุดโอนเงินหลังสูญเงินไปแล้วจำนวนหนึ่ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทความไซเบอร์เน็ต" เพิ่มเติม