ภายในงาน Made on YouTube ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในนครลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ อเมริกา “ยูทูบ” (YouTube) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ ประกาศอัดฉีดโปรแกรมสําหรับครีเอเตอร์พาร์ตเนอร์ (YouTube Partner Program : YPP) เพิ่มพลังดูดครีเอเตอร์เข้าค่าย ปรับเงื่อนไขจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตลาดคลิปวิดีโอสั้น (Shorts) ปะทะกำลังคู่แข่งราชาคลิปสั้น “ติ๊กต่อก” (TikTok)

Susan Wojcicki ซีอีโอของยูทูบ ประกาศว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จ่ายค่าตอบแทนให้เหล่าครีเอเตอร์ ศิลปิน และสื่อรวมแล้วมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท คิดอัตราแลกเปลี่ยน 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยชุมชนครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์จำนวนกว่า 2 ล้านคน เติบโตและหลากหลายมากขึ้นทุกขณะ “โปรแกรมพาร์ตเนอร์ YPP ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2550 ช่วยเปลี่ยนชีวิตเหล่าครีเอเตอร์ทั่วโลก และเป็นการวางเดิมพันครั้งใหญ่ที่ชี้ชัดว่ายูทูบจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเหล่าครีเอเตอร์ประสบความสำเร็จเท่านั้น”

...

ประกาศก้องเสียขนาดนี้ ยูทูบจึงต้องขนสารพัดปัจจัยมาประเคนให้กับพันธมิตรเหล่าครีเอเตอร์แบบเต็มกำลัง ได้แก่ การประกาศความเป็นพาร์ตเนอร์กับครีเอเตอร์คลิปสั้นหรือ Shorts ซึ่งยูทูบมุ่งมั่นโปรโมตเพื่อชนกับเจ้าตลาดอย่าง ติ๊กต่อก โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ครีเอเตอร์ที่ใช้ Shorts เป็นหลัก จะสามารถสมัครเข้าร่วมโปรแกรมพาร์ตเนอร์ได้ หากมีผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไปและมียอดดู Shorts แตะ 10 ล้านครั้ง ในช่วง 90 วันที่ผ่านมา โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่มีในโปรแกรมพาร์ตเนอร์ YouTube รวมไปถึงการสร้างรายได้ ส่วนครีเอเตอร์วิดีโอแบบยาวยังสามารถสมัครเข้าร่วมโปรแกรมได้ เมื่อมีผู้ติดตามครบ 1,000 คน มีเวลาในการรับชมครบ 4,000 ชั่วโมง นอกจากนั้นยูทูบยังมีแผนเปิดตัวโปรแกรมพาร์ต เนอร์ในระดับใหม่ ที่ปรับลดเกณฑ์ต่ำลงมาด้วย

ยูทูบที่กำลังโปรโมตบริการ Shorts เปิดเผยว่า มีผู้รับชม Shorts วันละ 30,000 ล้านครั้ง มีผู้ใช้ที่เข้าสู่ระบบเดือนละ 1,500 ล้านคน โดยในปีหน้าเป็นต้นไปอีกเช่นกัน ยูทูบจะเปลี่ยนระบบให้ผลตอบแทน จากการให้โบนัสแบบตายตัวมาใช้โมเดลส่วนแบ่งรายได้

และเพื่อตัดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ยุ่งยากและแข่งขันกับติ๊กต่อกได้เคียงบ่าเคียงไหล่มากขึ้น ยูทูบยังจะเปิดตัว Creator Music ในปีหน้า เพื่อให้ครีเอเตอร์เข้าถึงทำเนียบเพลงจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการทำวิดีโอในราคาสมเหตุผล และเงื่อนไขตรงนี้คือการสร้างแหล่งรายได้ใหม่บนยูทูบให้กับศิลปิน เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงด้วย สําหรับครีเอเตอร์ที่ไม่ต้องการซื้อใบอนุญาตใช้เพลง ก็ยังสามารถใช้เพลงและแบ่งรายได้กับศิลปิน เจ้าของลิขสิทธิ์ได้เหมือนเดิม.