ภายใต้ความสะดวกสบาย และเรื่องน่าตื่นเต้นมากมายของชีวิตยุคดิจิทัล เบื้องหลังเกิดจากความสำเร็จในการคิดค้นและเดินหน้าไม่หยุดของเหล่า Tech Startup คนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นผ่านเทคโนโลยี ครั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศตัวหนุน พร้อมจับมือ Business to Business Startup เต็มกำลัง โดยมี Founders Club เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมตัวกันครั้งสำคัญ ที่ไม่เพียงเกิดขึ้นเพื่อพบปะเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้น ต่อทั้งวงการธุรกิจ รวมถึงสังคมและประเทศอีกด้วย

ไมโครซอฟท์ พร้อมหนุน และก้าวไปด้วยกัน

ในฐานะยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการทำงานของเหล่าบรรดา Tech Startup ผ่านโซลูชันต่างๆ เท่านั้น แต่ยังหวังจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงพลังจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสังคม

คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่านี่คือจุดเริ่มต้นหนึ่งในการรวมพลังคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นผ่านเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันกับที่เป้าหมายที่ ไมโครซอฟท์ จะเดินต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยจาก ‘Made in Thailand’ สู่ ‘Born in Thailand’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศผู้ผลิต แต่คือผู้คิดค้นและสร้างสรรค์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมสำคัญ

“ที่ ไมโครซอฟท์ เรามีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างพลัง (Empower) ให้กับทุกคน ทุกองค์กร บนโลกใบนี้ ให้บรรลุเป้าหมายของในแบบฉบับของตัวเอง ไมโครซอฟท์ วางตัวชัดเจนเป็นแพลตฟอร์มที่จะมา Empower แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นไม่ว่าจะที่ประเทศไหนบนโลกนี้ ก็คือ การมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นสตาร์ทอัพซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ เราจึงเชื่อว่าพันธมิตรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

เป้าหมายสำคัญในปีนี้ของ ไมโครซอฟท์ คือการผลักดันและสนับสนุนประเทศไทย จากเดิมที่เราเป็นเพียงโรงงานการผลิต ตามนิยามว่า ‘Made in Thailand’ ให้ก้าวไปสู่ ‘Born in Thailand’ ที่การคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งนี้ก็คือเหล่า Tech Startup ในเมืองไทยนั่นเอง ปีนี้ ไมโครซอฟท์ จึงมุ่งมั่นอย่างมากที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพให้ก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ให้ได้ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ก็หมายความว่ามิชชั่น (Mission) ก็ต้องชัดเจน และมิชชั่น (Mission) ต้องเป็นมิชชั่น (Mission) ที่ยิ่งใหญ่ที่ใช่เพียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับแค่ประเทศไทย แต่ต้องหมายถึงเพื่อโลกใบนี้ด้วย”

ทั้งนี้สิ่งที่ ไมโครซอฟท์ ประกาศตัวชัดในวันนี้ คือการก้าวเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการน่าสนใจ นั่นคือ “Microsoft Founders Program for Startups” ที่ต้องการเข้ามาช่วยลดอุปสรรคในการสร้าง Business to Business Tech Startup หน้าใหม่ โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและความรู้ความเชี่ยวชาญจากที่ปรึกษามืออาชีพขึ้น กับอีกหนึ่งโครงการ คือ “Microsoft for Corporate Venture Building” ที่มุ่งให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหม่ในเครือขององค์กรขนาดใหญ่ หรือที่หมายถึงกลุ่มสตาร์ทอัพในองค์กรขนาดใหญ่ ให้สามารถเดินไปสู่การเติบโตได้ง่ายขึ้น

โดยโครงการ “Microsoft Founders Program for Startups” จะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมใน 2 ด้านหลัก ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการสรรค์สร้างนวัตกรรมและดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงสิทธิประโยชน์จากการเข้าถึงโอกาสในการเจอลูกค้าและพัฒนาธุรกิจ พร้อมการได้รับคำปรึกษาแบบเฉพาะตัว โดยจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ 12 ชั่วโมงเต็มในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงรับงบการตลาดสูงสุดเป็นมูลค่า 2,000 USD ต่อไตรมาส ความน่าสนใจยังเป็นโอกาสในการร่วมงานสัมมนาออนไลน์ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อนำเสนอโซลูชันให้ลูกค้า ในขณะเดียวกันโซลูชันที่ผ่านเกณฑ์ด้านความปลอดภัย ก็จะรับตรารับรองจากไมโครซอฟท์ พร้อมโอกาสในการร่วมกันขายโซลูชันออกสู่ตลาดร่วมกับไมโครซอฟท์และเครือข่ายพันธมิตรอีกด้วย เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มหาศาล ต่อการสร้างนวัตกรรมและดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นสำหรับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม อาทิ เครดิตสำหรับใช้งานคลาวด์ Azure (มูลค่าตามระดับของสตาร์ทอัพแต่ละราย), การใช้งานโซลูชันจากไมโครซอฟท์อย่าง Microsoft 365 Business Standard, Power BI Pro, GitHub Enterprise, Dynamics, Power Platform เพื่อดำเนินธุรกิจและสร้างสรรค์ผลงาน ขณะเดียวกันยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเครือข่ายนักพัฒนาและสตาร์ทอัพของไมโครซอฟท์ และเรียนรู้การใช้งาน Azure และสอบรับ certificate ระดับมืออาชีพแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ส่วนอีกโครงการ คือ “Microsoft for Corporate Venture Building” เกิดขึ้นเพื่อเคียงข้างสตาร์ทอัพในองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉพาะ โดยจะได้รับการสนับสนุนทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม การเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตร การลงทุน และช่องทางการทำตลาด พร้อมกันนั้นก็ยังมีเทคโนโลยีอีกมากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการพัฒนาโซลูชัน อย่างคลาวด์ Azure, GitHub, นวัตกรรมด้านความปลอดภัยอย่าง Azure Confidential Computing (การใช้งาน หรือแบ่งปันข้อมูลโดยที่เข้ารหัสเพื่อรักษาข้อมูลให้เป็นความลับจากบุคคลภายนอก)

นอกจากนี้ สิ่งนี้ยังถือเป็นการดำเนินธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากจะได้รับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายพาร์ตเนอร์ของไมโครซอฟท์ เช่น ตัวช่วยอย่าง LinkedIn เพื่อการเฟ้นหาบุคลากร รวมถึงนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์เพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ในองค์กร และ Microsoft 365 เพื่อการทำงานเอกสารและติดต่อประสานงาน เป็นต้น

การรวมตัวกันครั้งแรกผ่าน Founders Club ครั้งนี้จึงไม่ได้เพียงเป็นวันของพบปะอย่างเป็นทางการ แต่ยังหมายถึงรวมพลังครั้งสำคัญ พร้อมกันนั้นเหล่าสตาร์ทอัพยังได้มีโอกาสเสวนาและส่งต่อพลังทางความคิด ร่วมกับแขกรับเชิญพิเศษ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่นับเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจของหลายต่อหลายคน ที่ยังมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม

คุณชัชชาติ เปิดเผยว่า การเห็นพลังของคุณรุ่นใหม่ผ่านกลุ่มสตาร์ทอัพในครั้งนี้นับเป็นเครื่องยืนยันหนึ่งว่า ยังมีคนรุ่นใหม่อีกมากที่มีศักยภาพ และพร้อมจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น

“สตาร์ทอัพเป็นกลุ่มคนที่มีพลัง และมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ทั้งนี้สำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเมืองนั้น ก็ต้องมองประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือ People Centric แล้วเอาปัญหามาเป็นโจทย์ แต่ข้อดีหนึ่งคือ การที่เรามีปัญหาที่หยิบจับออกมาได้ง่าย ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราสามารถแมตช์ความเชี่ยวชาญของสตาร์ทอัพ เข้ากับปัญหาได้ตรง ก็จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วและมีพลัง

ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในหลายโครงการ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ที่คนพูดถึง แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วม แม้แต่การสร้างความโปร่งใสในการทำงาน ยกตัวอย่างล่าสุดที่มีการนำ AI เข้าไปช่วยตรวจสอบในโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเทคโนโลยีได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากในโครงการหลายหน่วยงานแล้ว และวันนี้สตาร์ทอัพจึงนับเป็นอีกกลุ่มที่จะสามารถสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมได้มากขึ้น”

พลังของการเปลี่ยนแปลงสังคม

คุณธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่าสิ่งที่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กำลังทำอยู่ในวันนี้ ก็เป็นมากกว่านำเสนอเทคโนโลยี หรือโซลูชันต่างๆ เพื่อตอบสนองการทำงานของเหล่าสตาร์ทอัพเพื่อสร้างสรรค์และร่วมเติบโตไปด้วยกันในเชิงธุรกิจ แต่ยังหมายถึงการรวมพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมอีกด้วยเช่นกัน

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือกลุ่มสตาร์ทอัพวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยศักยภาพ และมีพลังที่พร้อมจะเปลี่ยนสังคม ประเทศ หรือแม้แต่โลกใบนี้ให้ดีขึ้น อย่างที่พวกเรามีโอกาสได้เสวนาร่วมกับท่านผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ก็ได้จะเห็นกลุ่มเทคสตาร์ทอัพเองก็เต็มไปด้วยไอเดียและพลังอีกมากที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้น ขาดก็แต่พื้นที่ให้ได้สามารถเผยศักยภาพเหล่านั้น ซึ่ง ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เองหวังอย่างมากที่จะเป็นตัวกลางนี้ เพื่อรวมพลังและร่วมสร้างเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ผ่านแนวทางที่เราเชี่ยวชาญ”

ในขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่เสมอมา ก็มีความยินดีอย่างมากเช่นกันที่จะเปิดรับความคิดเห็น รวมถึงแนวทางของกลุ่มเทคสตาร์ทอัพเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองน่าอยู่ตามเป้าหมายสำคัญหนึ่ง ซึ่งคุณชัชชาติเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยียังจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม และพัฒนาเมือง พร้อมกับที่กลุ่มคนที่จะสามารถคิดค้นและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ก็คือเหล่าเทคสตาร์ทอัพนั่นเอง

สำหรับการรวมตัวกันครั้งแรกผ่าน Founders Club ในครั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ยังส่งต่อแรงบันดาลใจต่อกันในรูปแบบหนึ่ง ผ่านมอบรางวัลเพื่อชื่นชมความสำเร็จของเหล่าเทคสตาร์ทอัพในแต่ละด้านอีกด้วย

1. รางวัล Microsoft Best Solutions Award ได้แก่ Buzzebees Co., Ltd. ผู้นำด้านการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม Loyalty Program และจัดหา Privileges ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2012

2. รางวัล Microsoft Best SME Solutions Award ได้แก่ PUUN Intelligent Co., Ltd. ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม PEAK บริการนวัตกรรมการบัญชีออนไลน์ ที่มีส่วนต่อการสร้างระบบแห่งการดำเนินธุรกิจในอนาคต

3. รางวัล Microsoft Innovation Excellence Award ได้แก่ Bizcuit Solution Co., Ltd. กับความเชี่ยวชาญในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างพลังให้กับองค์กรชั้นนำ และเป็นผู้นำด้านวิทยาการวิเคราะห์ข้อความภาษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI
4. รางวัล Microsoft Azure Rookie Award ได้แก่ Choco Card Enterprise Co., Ltd. ผู้พัฒนาระบบสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางด้าน CRM และ Digital Marketing

คุณธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การรวมตัวกันผ่าน Founders Club ครั้งแรกนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นร่วมกันในอนาคต ในขณะที่การมองเห็นเป้าหมายร่วมกันของทั้ง ไมโครซอฟท์ และเหล่าสตาร์ทอัพก็จะช่วยปูทางสู่ความสำเร็จร่วมกันได้ไม่ยาก ทั้งความสำเร็จในภาคธุรกิจ และพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม.