ผู้หญิงผนึกกำลัง ขอพื้นที่ยืนในโลกเทคโนโลยีดิจิทัลบ้าง หนุนสร้างความเปลี่ยนแปลง ผลักดันศักยภาพหญิงไทยเข้าถึงไอซีที ลดความเหลื่อมลํ้า สร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นรับสังคมยุค 5.0 ที่กำลังมาถึง

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ประเด็น Girls in ICT หรือผู้หญิงในแวดวงสื่อสารเทคโนโลยี เป็นวาระของโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านดิจิทัล (Gender Digital Divide) จากงานวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมมาจาก 3 เรื่องหลักคือ 1.ความรู้ด้านดิจิทัล 2.การเข้าถึง 3.ความปลอดภัยทางออนไลน์ “ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงไอซีทีน้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังมีความเสี่ยงถูกคุกคามทางเพศและถูกกลั่นแกล้งมากกว่าด้วย”

...

ด้าน น.ส.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในฐานะผู้หญิงในโลกสตาร์ตอัพ กล่าวว่า การเป็นผู้บริหารหญิงในกลุ่มสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญคือต้องมี Passion มีความเชื่อว่าผู้หญิงมีความสามารถเหมือนผู้ชาย ลองค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราอยากเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม หาสิ่งที่สร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคมให้ได้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองด้วย ขณะที่แวดวงสตาร์ตอัพต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งและมีศักยภาพ โดยไม่นำเรื่องเพศและวัยมาเป็นตัวกีดกันความสามารถ

น.ส.กมลนันท์ เจียรวนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี กล่าวว่า ผู้หญิงควรต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสายอาชีพที่สังคมกำหนดให้แค่ผู้ชายเข้าไปทำงาน มีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM และมีผู้หญิงเพียง 24% ได้รับตำแหน่งผู้จัดการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยผู้ชาย บรรทัดฐานสังคมยุคใหม่จึงควรเปิดโอกาสผู้หญิงได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขยายโอกาสทางความรู้และอาชีพให้แก่ผู้หญิง ขณะเดียวกันผู้ปกครองต้องสร้างกรอบความคิดให้เด็กผู้หญิงมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกความจริงกับโลกออนไลน์ได้อย่างสมดุลและปลอดภัย

ด.ญ.พรปวีณ์ ม้วนหรีด วัย 14 ปี ทูตเยาวชนหญิงไทยคนแรกและคนปัจจุบันของ NASA Artemis Gerneration GISTDA Thailand & NASA USA เปิดเผยว่า มีความสนใจเรื่องของ STEM โดยเฉพาะด้านอวกาศมาตั้งแต่เด็ก มีความฝันที่อยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Extra-Terrestrial (E.T.) รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมนิทรรศการอวกาศของ NASA จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินตามความฝันที่อยากจะท่องอวกาศ และตอนนี้ก็ได้ทำความฝันให้เป็นจริงสำเร็จแล้ว เพราะมีโอกาสเข้าไปนำเสนอแนวคิดการใช้ระบบ GPD นำทางเชื่อมโยงกับการท่องอวกาศและดาวเทียมต่อคณะกรรมการโครงการท่องอวกาศ “ตอนนี้อยากผลักดันเรื่อง Space Technology ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่ประเทศไทยควรเริ่มพัฒนา จากการส่งเสริมเยาวชนที่เป็นหัวใจและอนาคตของชาติให้ได้รับแรงบันดาลใจ รวมถึงการทำให้เยาวชนหญิงได้เข้าถึงเทคโนโลยีในวงกว้าง สิ่งสำคัญต้องเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีพลัง มีความฝัน และศักยภาพเพียงพอที่จะทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้เช่นเดียวกัน”

...

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังก้าวไปสู่ยุค 5.0 ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง “เทคโนโลยี” เข้ากับ “กรอบความคิด” (Mindset) ในการวางรากฐานทางสังคมเพื่อลดช่องว่าง ลดอคติ รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรี จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า มีผู้หญิงเพียง 37% ที่จบการศึกษาด้านไอซีทีและวิศวกรรม ซึ่งเหตุผลที่ผู้หญิงสนใจด้านดังกล่าวน้อยอาจเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างเพศ และบรรทัดฐานสังคม จึงต้องมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น ผ่านการวางแนวทาง 5 ด้าน คือ1.ตั้งเป้าหมาย 2.สร้างตัวชี้วัดและประกาศเป็นนโยบายที่มีความโปร่งใส 3.ขับเคลื่อนตามกลไกการตลาดสร้างวัฒนธรรมให้เกิดความเท่าเทียม 4.เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงความสามารถและเปิดโอกาสเป็นผู้นำ 5.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้หญิงเข้าถึงได้มากขึ้น.