“Metaverse Unlimited” งานฟอรัมออนไลน์ระดับโลกได้รวบรวม 10 ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวาลเมตาเวิร์ส จัดขึ้นในวันที่ 15-16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย Translucia Metaverse สุดจินตนาการรายแรกของไทยที่เป็นโครงการของทีแอนด์บี มีเดีย
โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด (T&B Media Global) มาร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองต่อทิศทางการเติบโตของเมตาเวิร์ส ที่มาพร้อมโอกาสไร้ขีดจำกัด และข้อที่ควรตระหนักเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
Metaverse เปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสใหม่ไม่สิ้นสุด
เมตาเวิร์สนำความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เพิ่มโอกาสใหม่ๆ ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง T&B Media Global (Thailand) กล่าวว่า Translucia Metaverse ที่ทางบริษัทสร้างขึ้นมีเป้าหมายสร้างเมตาเวิร์สเพื่อให้มีส่วนช่วยสร้างสมดุลให้กับสังคมและเศรษฐกิจ โดยการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงที่ผนวกจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน ทำให้ “Translucia Metaverse แห่งนี้ ทุกจินตนาการจะกลายเป็นจริง”
เมตาเวิร์สสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เกมออนไลน์แต่ยังใช้ในอุตสาหกรรมความบันเทิงรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ การตลาด ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของโลกความจริงได้ เป็นโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง พัฒนาและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ เคธี่ แฮ็กเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานบริหารเมตาเวิร์ส เดอะ ฟิวเจอร์ส อินเทลลิเจนท์กรุ๊ป (The Futures Intelligent Group) เจ้าของฉายา เจ้าแม่โลกเสมือนจริง (Godmother of Metaverse) ให้นิยาม “เมตาเวิร์ส” ว่า เป็นที่หลอมรวมโลกดิจิทัลกับโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน เป็นที่ที่ทุกสิ่งเป็นไปได้และให้โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด เมตาเวิร์สเป็นโลกใบใหม่ที่เกิดจากการผสานเทคโนโลยีหลากแขนงเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ AR, VR, Blockchain, non-fungible tokens (NFT) เป็นต้น
...
เมตาเวิร์สจะอยู่ในชีวิตของทุกคน
ทุกวันนี้ เมตาเวิร์สได้วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ทุกคนต่างต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก่อนที่จะมีหนังอวตารออกฉาย นักวิจัยต่างก็มองช่องทางในการพัฒนาโลกเสมือนจริงอยู่ก่อนแล้ว ตามที่ อัลเลน เชสไน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ข้อมูลและงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ผู้อยู่เบื้องหลัง Maya 3D โปรแกรมที่ใช้สร้างฉากในหนังดัง “AVATAR” ระบุว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานกว่าห้าทศวรรษแล้ว แต่เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายจากการพัฒนาขึ้นเป็นเกมออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เกมเมอร์สร้างอวตารของตนเองจึงได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีการพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มต่างๆ
รวมไปถึงการศึกษาเรื่องเมตาเวิร์สที่จะมาอยู่ในชีวิตจริงของมนุษย์มีการศึกษาที่ลึกซึ้ง ซึ่ง พัทน์ ภัทรนุธาพร หรือที่รู้จักกันในนาม พีพี ผู้ช่วยนักวิจัยและนวัตกรชาวไทย ที่เป็นดาวรุ่งในวงการเมตาเวิร์สจากสถาบัน MIT Media Lab ระบุว่าทิศทางการพัฒนาของเมตาเวิร์สกำลังก้าวไปสู่จุดที่สามารถประมวลผล ระบุปัญหา แนะนำวิธีแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลิตสิ่งที่บริโภคได้จริงให้ครบถ้วนอยู่ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว เช่น สถาบัน MIT Media Lab กำลังวิจัยอุปกรณ์อัจฉริยะใช้สวมใส่เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างครบวงจร โดยอุปกรณ์นี้เรียกว่า wisdom device สามารถตรวจจับความเจ็บป่วย บ่งชี้การทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่างๆในร่างกายของผู้สวมใส่อุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำ สามารถวินิจฉัยโรคพร้อมผลิตยาขึ้นมารักษาอาการดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
“เราสามารถนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ปฏิวัติระบบการศึกษา ให้น่าสนใจได้โดยใช้ AI สร้างคาแรกเตอร์ในโลกเสมือนจริง เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือตัวละครดังอย่างแฮรี่ พ็อตเตอร์ ให้มาเป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็กๆ แทนที่การใช้ครูจริง วิธีนี้จะช่วย เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ออนไลน์ เพราะนักเรียนมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับคาแรกเตอร์เหล่านี้”
พัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับวงการอาชีพสถาปัตยกรรมเกี่ยวพันกับที่อยู่อาศัย เศณวี ชาตะเมธีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง DesireSynthesis สตูดิโอ ออกแบบสถาปัตยกรรม กล่าวว่า การสร้างงานออกแบบในโลกเสมือนจริงช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านของตนเองได้อย่างแท้จริงและมีความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านประสบการณ์ที่ได้รับในโลกเสมือน อีกทั้งยังช่วยให้คนทำงานมีความเข้าใจตรงกันตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง ผู้อยู่อาศัย จึงลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาและลดความสูญเสียด้านงบประมาณ
ประโยชน์ในงานออกแบบช่วยแปลงสภาพเมืองใหญ่ที่แออัดให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ชาเจย์ บูซาน กรรมการบริหาร จากบริษัทออกแบบชื่อดัง Zaha Hadid Architects แนะว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์จากชุมชนเกมออนไลน์ที่มีคนอยู่ร่วม 3 พันล้านคนให้เข้ามีส่วนร่วมแบ่งปันความคิดให้เมืองน่าอยู่ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการออกแบบด้วยความรับผิดชอบ แม้เทคโนโลยีสุดล้ำจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์มหาศาล แต่ก็ควรใช้งานอย่างระมัดระวัง ภายใต้กรอบกติกาที่ดีงามร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเทคโนโลยี
มุมมองแบบอวตาร ช่วยให้สังคมน่าอยู่
เทคโนโลยีแบบอวตารให้ผลดีต่อการพัฒนาสังคม เจเรมี ไบเลนซัน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ Virtual Human Interaction มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เสริมว่า เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) ส่งผลดีต่อการพัฒนาเชิงสังคมได้จริง ผลการศึกษาจากงานวิจัยที่ให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับอวตารของตนเอง ซึ่งอวตารนี้มีความแตกต่างจากตัวตนจริงทั้งอายุ เพศและเชื้อชาติ พบว่าประสบการณ์นี้ช่วยให้นักเรียนมีความเห็นอกเห็นใจคนที่มีภูมิหลังต่างจากตนเองมากขึ้นสอดคล้องกับ เดวิด เบร ผู้บริหารสูงสุด องค์กร LeadDoAdapt Ventures และผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบัน Stimson Center และ Atlantic Council ชี้ว่าเทคโนโลยีเมตาเวิร์สสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสันติภาพและแก้ปัญหาสังคมโดยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอีกมุมโลกได้ออกเดินทางทำความรู้จักผู้คนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลกและสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองท้องถิ่นนั้นๆในโลกเสมือนจริงได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ประสบการณ์เสมือนจริงช่วยให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาข้อขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำและอคติ ทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น
...
ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม แม้เมตาเวิร์สจะช่วยให้เรามีชีวิตสุขสบายทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้ในทุกวงการ ดี.ฟ็อก แฮร์เรล ผู้อำนวยการสถาบัน MIT Center for Advanced Virtuality ก็เตือนว่า เทคโนโลยี AI มีคุณอนันต์และสามารถเป็นภัยคุกคามได้เช่นกันหากไม่ระมัดระวัง “อคติเชิงลบสามารถแฝงตัวเข้าสู่จักรวาลเมตาเวิร์สได้ หากผู้ใช้ขาดความระมัดระวัง”
แอสลีย์ คาโซแวน กรรมการบริหารของ Responsible AI Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมการใช้ “AI อย่างมีความรับผิดชอบ” ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้งานในเมตาเวิร์ส ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้มาตรฐานและการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้จักรวาลเมตาเวิร์สเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ จีน ลิม ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท BeingAI หนึ่งในผู้สร้างสรรค์หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อดัง “โซเฟีย” ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับหุ่นยนต์ AI ว่าจะเป็นภัยต่อมนุษย์นั้นเป็นเพราะขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ AI ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
บทสรุปจากฟอรัมนี้คือ เมตาเวิร์สไม่ใช่เรื่องไกลตัว ได้มีการนำมาใช้ในหลายมิติแล้ว และจะอยู่กับชีวิตประจำวันของคนจากนี้ไป สามารถชมคลิปจากฟอรัมโดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่ https://www.facebook.com/TransluciaMetaverse/