เมื่อพูดถึงชื่อ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ “ไอติม” ภาพจำของคนจำนวนมากมักนึกถึงบทบาทของการเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่บทบาทอีกด้านหนึ่งของพริษฐ์ คือการทำหน้าที่เป็นซีอีโอบริษัทสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือ EdTech ในชื่อ “StartDee” ซึ่งมาจากคำว่า จุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดี

“ผมมีความสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นทางการศึกษามาสักระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เรียนจบการเมืองและเศรษฐศาสตร์” พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า “เป้าหมายส่วนตัวของผมคืออยากพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งการศึกษาเป็นกลไกสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ”

StartDee สตาร์ทอัพด้าน EdTech
StartDee สตาร์ทอัพด้าน EdTech

พริษฐ์ ชวนให้เราจินตนาการโดยเปรียบประเทศหนึ่งๆ ให้มีลักษณะของขนมเค้กก้อนหนึ่ง เป็นเค้กที่มีสัญลักษณ์ของการรวมรายได้ของคนทุกคน

“การทำให้เค้กก้อนนี้ มีคุณภาพดี มีความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 เป้าหมาย”

เป้าหมายแรก คือ ทำอย่างไรให้เค้กก้อนนี้ โตขึ้น กล่าวคือ ทำให้เศรษฐกิจหรือรายได้ประเทศขยายตัว

“ถ้าอยากให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต บุคลากรในประเทศต้องมีทักษะที่ตอบโจทย์ แรงงานหางานทำได้ มีการสร้างงานและสร้างนวัตกรรม ถ้าอยากให้เศรษฐกิจขยายตัว จำเป็นต้องติดอาวุธให้ประชาชน และทักษะความรู้ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานต้องการ โดยมีกลไกสำคัญคือการปฏิรูประบบการศึกษาที่ออกแบบหลักสูตรและวิธีการสอนที่เอื้อต่อทักษะเหล่านั้น”

เป้าหมายที่สอง การแบ่งเค้กอย่างยุติธรรม นี่คือ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเติบโตในสภาวะที่ฐานะทางการเงินไม่ดี รายได้ไม่สูง คุณอาจไม่มีโอกาสในชีวิตเมื่อเทียบกับคนที่มีฐานะทางการเงินที่มีรายได้สูง

“การรีเซตหรือกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น จะต้องทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันได้”

เป้าหมายที่สาม เค้กต้องอร่อย นั่นคือ ประเทศต้องมีค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในสิทธิเสรีภาพ ความหลากหลาย เปิดให้ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง เคารพซึ่งกันและกัน

การสร้างค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตยในสังคม ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่รั้วโรงเรียนและในห้องเรียนเสียก่อน

“บรรยากาศในห้องเรียนต้องเปิดให้เด็กตั้งคำถาม มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้ามี มันก็จะแปรเป็นค่านิยมให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย”

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวเขายอมรับว่า StartDee คงไม่สามารถตอบโจทย์ได้หมดทั้งสามเป้าหมายอย่างเท่ากัน แต่ในฐานะผู้บริหารของ StartDee มีความพยายามให้ความสำคัญโดยเฉพาะเป้าหมายที่สาม ผ่านการเพิ่มเนื้อหานอกหลักสูตร เช่น วิชาเกี่ยวกับเพศศึกษาที่ไปไกลกว่ากายภาพ แต่เป็นการลงลึกถึงมุมมอง ทัศนคติ และเคารพทุกเพศอย่างเสมอภาค หรือการนำเสนอมุมมองทางประวัติศาสตร์ให้มีหลากหลายมุมมอง เพื่อให้มีทักษะที่เรียกว่า “Critical Thinking”

StartDee = Netflix เพื่อการศึกษา

...

หลักสูตรการเรียนการสอนจาก StartDee
หลักสูตรการเรียนการสอนจาก StartDee

เน็ตฟลิกซ์ บริการซีรีส์และภาพยนตร์สตรีมมิงชั้นนำของโลก ที่มาพร้อมกับแนวคิดจ่ายเงินเดือนละครั้ง ดูซีรีส์และภาพยนตร์ได้ไม่อั้น ซึ่งนั่นคือแนวคิดของ StartDee เช่นกัน

“เรามีความพยายามเป็นเน็ตฟลิกซ์ของการศึกษาไทย เป็นแอปเดียวที่รวมเนื้อหาการเรียนการสอน ตั้งแต่ประถม 4 ไปจนถึงมัธยม 6 โดยมีอัตราค่าสมาชิก 200 บาทต่อเดือน”

พริษฐ์ อธิบายว่า ตัวเลข 200 บาท เป็นตัวเลขที่ StartDee ประเมินแล้วว่า เป็นตัวเลขที่อยู่กึ่งกลางระหว่างค่าใช้จ่ายที่สบายกระเป๋าที่สุดของผู้ปกครอง และก็เป็นตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับหล่อเลี้ยงให้สตาร์ทอัพดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกเหนือจากความพยายามเป็นเน็ตฟลิกซ์เพื่อการศึกษาแล้ว พริษฐ์ เน้นย้ำว่า StartDee คือการทำให้เรื่องของการศึกษาทุกคนต้อง “เข้าถึงได้”

แน่นอนว่า กำลังทรัพย์ 200 บาท ก็อาจเป็นเรื่องยากของครอบครัวที่ไม่มีกำลังทรัพย์จริงๆ ซึ่ง StartDee มีส่วนที่เป็น CSR โดยมีบริษัทเอกชน หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เข้ามาช่วยเรื่องการสมทบช่วยเหลือนักเรียน

พริษฐ์ เน้นย้ำว่า ปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำถึงสองตลบ

ตลบแรกเป็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนตามหัวเมืองก็จะมีคนสมัครล้น เพราะอาจจะมีครูที่พร้อม ความเชี่ยวชาญในวิชาเฉพาะ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก บางโรงเรียนครูไม่พอสำหรับทุกวิชา ไม่พอสำหรับระดับชั้น เกิดการแชร์ครูร่วมกัน

ตลบที่สอง ถ้าเด็กคนหนึ่งเจอความเหลื่อมล้ำจากตลบแรก แต่อยากหาความรู้นอกห้องเรียนเพื่อเสริมความเข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ก็จะเจอกำแพงของราคาของสถาบันกวดวิชา ค่าเรียนพิเศษของเด็กบางคนถึงระดับแสนก็มี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่คนที่จ่ายได้ก็ไม่ควรต้องจ่าย และคนส่วนใหญ่ก็จ่ายไม่ไหว

“เพราะฉะนั้นทำให้เราสังเกตว่า สัดส่วนของเด็กที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมันน้อยมาก แต่มุมกลับเราเห็นเด็กในสัดส่วนที่สูงขึ้น ที่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟน ซึ่งตัวเลขของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า เด็กนักเรียน 86 เปอร์เซ็นต์ของไทยเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้แล้ว”

StartDee และการ Disrupt

หลังจาก StartDee เปิดให้บริการเป็นเวลา 1 ปี ตัวแอปพลิเคชันมีผู้ดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 6 แสนครั้ง มียอดสมาชิกที่ใช้งานประจำเกือบหมื่นคน เพียงแต่การบ้านกองใหญ่ของ StartDee คือการทำให้คนที่ดาวน์โหลดมาใช้งาน แล้วเรียนฟรี 7 วัน เป็นสมาชิกและใช้งาน StartDee อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ StartDee เป็นบริษัท EdTech ดังนั้นจึงมี 4 สิ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ โดยปัจจัยสำคัญที่ว่านี้ ถูกย่อด้วยอัลฟาเบท 4 ตัว ได้แก่คำว่า T-E-C-H

“ที่ StartDee เราคิดว่าเราทำตัว T และตัว E สำเร็จแล้ว แต่ C และ H เป็นขั้นตอนต่อไป”

พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ เล่าว่า ตัว T ย่อมาจากคำว่า Teaching Resources หรือทรัพยากรการสอน นั่นคือ การทลายข้อจำกัดการเข้าถึงครูหรือการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพราะเด็กที่เข้ามาเรียนอาจขาดแคลนครูหรือผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้น ถ้าเด็กไม่ได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ก็สามารถเข้ามาที่ StartDee ได้ ตอนนี้มีคลิปวิดีโอการเรียนการสอนกว่า 7 พันคลิปวิดีโอ

ตัว E ย่อมาจาก Experience หรือประสบการณ์ เพราะการเรียนออนไลน์ ไม่ได้หมายความว่า ก๊อบปี้สิ่งอยู่ในห้องเรียนมาไว้ในออนไลน์ เพราะรูปแบบการเรียนไม่เหมือนกัน

“ที่เห็นได้ชัดคือสมาธิของผู้เรียน ถ้าในห้องเรียนสมาธิอาจจะมีมากหน่อย แต่ถ้าในมือถือไม่นานเท่าในห้องเรียนแน่ๆ”

สิ่งที่จะตามมาจากนั้น ในการออกแบบการเรียนการสอนในออนไลน์ จึงต้องทำให้ผู้เรียนหายสงสัยได้เร็วที่สุด โดยซอยเนื้อหา เริ่มจากง่ายไปยาก มีระบบ Quiz เพื่อทดสอบความเข้าใจ

อัลฟาเบทตัวที่สาม คือ ตัว C มาจากคำว่า Classroom Design โดยพริษฐ์ ยืนยันว่า StartDee ไม่ได้เข้ามาทดแทนโรงเรียน แต่เป็นส่วนเสริมให้การเรียนดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ครูผู้สอนต้องใช้เวลาบรรยายเนื้อหาตลอดเกือบคาบเรียน ซึ่งมีเนื้อหาเยอะมาก

“สิ่งที่ StartDee มองก็คือต้อง Flip Classroom ให้เด็กดูเนื้อหาจากที่บ้านเสียก่อน ดูเนื้อหาตอนไหนก็ได้ที่สะดวก เมื่อมาถึงห้องเรียนก็เอาสิ่งที่ไปดูมาถกเถียงกัน มาออกแบบกิจกรรมในการคิด วิเคราะห์แบ่งกลุ่มออกไปทำโจทย์ ทำโครงการ ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกันแบบทีม”

สุดท้าย คือ ตัว H มาจากคำว่า Handmade เป็นการปรับเนื้อหาตามความถนัดของผู้เรียน

“เราคิดบนหลักการที่ว่าความถนัดของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเก่งเลขแต่ไม่เก่งภาษา บางคนเก่งภาษาแต่ไม่เก่งเลข”

สิ่งที่พริษฐ์ เฝ้าหวังเป็นอย่างมาก นั่นคือ เมื่อ StartDee มีผู้ใช้งานมากขึ้น เขาอยากที่จะนำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งเข้ามาใช้งาน มีวิชาที่ถนัดและไม่ถนัด ควรจะยิงเนื้อหาอย่างไร เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จากนั้นค่อยๆ ยิงเนื้อหาที่ยากขึ้นตามลำดับ

“มันก็คงคล้ายๆ กับเน็ตฟลิกซ์มั้งครับ ถ้าเราดูซีรีส์เกาหลีเยอะ ระบบก็จะแนะนำซีรีส์เกาหลีมาให้เราเยอะขึ้น” พริษฐ์ ร่ายยาว

การศึกษาไทยหลังยุคโควิด-19

แม้ในเวลานี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ของโควิดก็จะต้องผ่านพ้นไป เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน

สิ่งที่เราอยากชวนพริษฐ์ คุยก็คือ การศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

...

เบื้องหลังการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของ StartDee
เบื้องหลังการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของ StartDee

“ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับการถอดบทเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำมาปรับปรุง-ปฏิรูปอย่างไร” พริษฐ์ ตอบ และกล่าวต่อไปว่า “แม้โควิดจะส่งผลกระทบในเชิงลบระยะสั้น แต่ถ้ามองให้ดีมันเป็น Wake up call ให้เตือนภัย ซึ่งหลายประเทศได้มีการปฏิรูปทางการศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงนี้”

พริษฐ์ เสนอมุมมองของตัวเองว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นมีด้วยกัน 3 ประการ อย่างแรก อยากให้กระทรวงศึกษาธิการเห็นถึงความจำเป็นในการเข้าถึงเทคโนโลยี เนื่องจากโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรเข้าถึงได้แล้ว เพราะคนที่เข้าถึงได้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อาจจะไวรัส ภัยพิบัติ หรือโรงเรียนปิดก็ยังเรียนต่อได้ เป็นต้น และจุดนี้ควรใช้เป็นโอกาสในการวางเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต

“ฟินแลนด์และเม็กซิโก มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่าประชาชนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และรัฐจะต้องเร่งด่วนในการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานให้คนเข้าถึงในทุกพื้นที่”

อย่างที่สอง คือเรื่องของการกระจายอำนาจให้โรงเรียนตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ จะใช้งบประมาณไปกับเรื่องใด เช่น ในเรื่องของบุคลากร หรือการออกแบบหลักสูตร ควรให้โรงเรียนดำเนินการ และออกแบบการเรียน เพื่อให้ตรงกับบริบทของพื้นที่

อย่างสุดท้าย คือ การทบทวนความทันสมัยของหลักสูตร เพราะจากสถานการณ์ของโควิดทำให้ชั่วโมงการเรียนลดลง เพราะเด็กไม่มีเวลาเรียนเท่ากับในห้องเรียน ในต่างประเทศมีการรีวิวว่าเนื้อหาส่วนไหนที่จะตัดทอนออกไปได้บ้าง กลายเป็นว่าบางเนื้อหาถูกตัดออกไปถาวรก็มี

นอกจากนี้ การประเมินผลของเด็กประเภทท่องจำแล้วมาสอบ มันทำไม่ได้ในช่วงโควิด เพราะถ้าทำที่บ้านเด็กสามารถค้นจากกูเกิลแล้วนำมาตอบได้ หลายประเทศเลยเกิดการทบทวนว่า การท่องจำแบบนี้ ยังจำเป็นหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือควรใช้รูปแบบอื่น โดยเปลี่ยนข้อสอบไปเป็นแบบการเขียนเรียงความ หรือข้อสอบที่ใช้การคิดวิเคราะห์แทน

StartDee ไม่ใช่การสร้างฐานเสียงทางการเมือง

เมื่อผู้บริหารเป็นซีอีโอหนุ่ม เคยมีโอกาสชิมลางทางการเมือง และในปัจจุบันก็ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จึงมีคำถามที่ไม่ถามไม่ได้ว่า การทำ StartDee เป็นการปูทางสู่โอกาสทางการเมืองในอนาคตหรือไม่

“การทำสตาร์ทอัพเป็นความต้องการส่วนตัวครับ ผมไม่เคยมองถึงประเด็นทางการเมือง ผมมีสองบทบาทและมีความพยายามอย่างเคร่งครัดที่จะทำให้สองบทบาทไม่กระทบกันและกัน” พริษฐ์ ยืนยัน

“แต่ถ้าถามว่าผมเคยเจอพาร์ทเนอร์ที่ไม่สบายใจพอเห็นว่าซีอีโอเป็นชื่อพริษฐ์หรือไม่ ก็ต้องยอมรับครับว่าเคยเจอ” พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า “แต่ผมยืนยันว่า ผมพยายามแยกให้ชัดเสมอ เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกคนสบายใจว่า StartDee ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

...

บรรยากาศการทำงานกว่า 120 ชีวิตของ StartDee
บรรยากาศการทำงานกว่า 120 ชีวิตของ StartDee

ขณะเดียวกัน ที่ StartDee ไม่เคยใช้มุมมองทางการเมืองนำการทำงาน ทุกคนมีอิสระทางความคิด

“บริษัทเราเปิดกว้างความคิดทางการเมือง คนที่ทำงานในบริษัทไม่จำเป็นต้องมีความคิดเดียวกับซีอีโอ”

ก่อนที่จะจบบทสนทนา เราได้ถามไปว่า ในอีก 2 ปี จะถึงฤดูกาลเลือกตั้งอีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้น บทบาทของพริษฐ์ และ StartDee จะเป็นอย่างไร

พริษฐ์ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า StartDee ขับเคลื่อนด้วยทีมงาน 120 คน ซึ่งทุกคนมาด้วยความต้องการพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น

“เพราะฉะนั้น เมื่อการเลือกตั้งมาถึง ไม่ว่าอนาคตของผมจะเป็นอย่างไร StartDee ไปต่อได้อย่างแน่นอน”

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Varanya Phae-araya

...