Home Sweet Home เกมแนวผจญภัย สร้างขึ้นโดยอิงจากความเชื่อ ความลึกลับ บรรยากาศความน่ากลัวของผีแบบไทยๆ ซึ่งกลายเป็นความแปลกปนความหลอน ที่ชาวตะวันตกไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ทำให้เกม Home Sweet Home กลายเป็นเกมที่ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นเกมไปทั่วโลก
หลักฐานที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด นั่นคือ ตัวเกม Home Sweet Home ได้คะแนนจากเกมเมอร์บนสตีม (Steam) แพลตฟอร์มซื้อขายเกมชื่อดังมากถึง 9 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
หลังจากนั้น Home Sweet Home ได้ถูกต่อยอดจากเกมที่เล่นคนเดียว (Single Player) มาเป็นเกมใหม่ แต่ใช้คำว่า Survive ต่อท้ายชื่อเดิม พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นกลายเป็นเกมแบบเล่นหลายคน (Multiplayer)
เกมก่อนหน้านี้ ทำไมถึงตั้งชื่อว่า Home Sweet Home แล้วเมื่อทำเกมใหม่ ถึงยังใช้ชื่อว่า Home Sweet Home นี่เป็นคำถามชุดแรกที่ถูกถามไปยัง ศรุต ทับลอย ผู้กำกับของเกม Home Sweet Home และ Home Sweet Home Survive ของบริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
...
“สำหรับผม ประเทศไทยคือ Home Sweet Home ของคนไทยเท่านั้นเอง ซึ่งชื่อไม่ได้สัมพันธ์กับเกมเลยด้วยซ้ำ มันเป็นโปรเจกต์ที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อบอกว่าประเทศเราดีที่สุดแล้ว อยากให้เห็นคุณค่าของมัน” ศรุต อธิบาย
เมื่อเราได้ถามถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเกม Home Sweet Home Survive ศรุต ในฐานะผู้กำกับของเกม เปิดเผยว่า ตัวเกมเกิดขึ้นจากกระแสเรียกร้องของแฟนเกม Home Sweet Home ที่อยากเห็นเกมแบบมัลติเพลเยอร์
“ตอนที่เราได้พัฒนา Home Sweet Home Survive อยู่ระหว่างการพัฒนาเกม Home Sweet Home EP.2 โดยในช่วงนั้น ทีมพัฒนาบางส่วนหมดงานของตัวเองไปแล้ว ก็เลยเอาทีมงานมาพัฒนาโปรเจกต์ชิ้นนี้ต่อ แล้วเอาไปปล่อยในตอนจบเกมของ Home Sweet Home EP.2” ศรุต กล่าวต่อไปว่า “การได้ทำเกม Home Sweet Home Survive ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ทีมงานของเราได้มีโอกาสเรียนรู้ Know-how ของเกมแบบมัลติเพลเยอร์ เพราะถ้าเราทำเกมเนื้อเรื่องต่อไปมันก็ทำได้นะครับ แต่ก็จะได้ความรู้เท่าเดิม”
นอกเหนือจากเกมมัลติเพลเยอร์แล้ว แนวเกมแบบโลกเปิด หรือ Open world ก็เป็นสิ่งที่แฟนเกมเรียกร้องอยากเห็น แต่การพัฒนาเกมประเภทนี้ ใช้ทุนมหาศาลในการพัฒนา
“การทำเกมแนว Open world ถือเป็นเรื่องที่เกินกำลังพอสมควร แต่ถามว่ามีแนวโน้มอยากจะทำหรือไม่ ยอมรับว่าอยากจะทำ แต่ปัจจุบันเรายังทำไม่ได้ เกมที่ทำได้ในเวลานี้จึงเป็นเกม Home Sweet Home Survive”
ท้าชน Dead by Daylight
สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งตัวเกม Home Sweet Home Survive เป็นเกมที่ได้แรงบันดาลใจจาก Dead by Daylight ซึ่งถือได้ว่า “เป็นผู้มาก่อน” ในเกมแนวหนีผี โดยที่เกม Dead by Daylight วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2016 จนปัจจุบันปี 2021 ก็ยังเป็นเกมที่ได้รับความนิยมติดลมบน ในแพลตฟอร์มสตีม
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การมาของ Home Sweet Home Survive ถือเป็นการท้าชนกับเกมเจ้าตลาดอย่าง Dead by Daylight นั่นจึงเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากเกมเก่าที่เล่นมานาน มาสู่เกมใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว
“คุณเล่นเกมนั้นมา 4 ปีแล้ว คุณไม่เบื่อเหรอ?” ศรุต ตั้งคำถามกลับ พร้อมกับเสียงหัวเราะ “ในเมื่อมันอะไรใหม่ๆ ก็อยากให้ลองเล่นดูสักหน่อย เผื่อจะชอบครับ”
ศรุต อธิบายต่อไปว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ตัวเกม Home Sweet Home Survive จะเหมือนกับ Dead by Daylight มันทำไม่ได้ และจะถูกฟ้องร้อง รวมถึงการโจมตีจากเหล่าเกมเมอร์ด้วย
ส่วนข้อครหาที่บอกว่าตัวเกม Home Sweet Home Survive ก๊อบปี้ Dead by Daylight ศรุต ตอบในประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เจอเท่าไร แต่มีได้ยินบ้างเล็กน้อย โดยยืนยันว่า ให้ลองมาเล่นดูก่อน ตัวเกมมีความแตกต่างกันเยอะ สิ่งที่มีความคล้ายกันเป็นเรื่องของภาพที่อยู่เบื้องหน้า
...
“การจะบอกว่าเกมมัลติเพลย์เยอร์ 4 v 1 เป็นก๊อบปี้ Dead by Daylight หมดเลย คงไม่ใช่ เพราะเกมแนวนี้ Dead by Daylight ก็ไม่ได้เป็นเกมแรกๆ ที่พัฒนาขึ้นมา เพียงแต่มันเป็นเกมที่ดังที่สุด ทั้งนี้ทีมของอิ๊กดราซิลค่อนข้างเล็ก และเพิ่งทำเกมแนว 4 v 1 จึงยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก กว่าที่จะไล่ตามเกมเจ้าตลาดอย่าง Dead by Daylight ได้”
อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับเกม Home Sweet Home Survive ระบุว่า ก่อนที่จะพัฒนา Home Sweet Home Survive ได้มีดูข้อดี-ข้อเสียของหลายๆ เกม รวมถึง Dead by Daylight ด้วยว่าเกมที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถูกโจมตีอย่างไรบ้าง จากนั้นก็เอาทรัพยากรที่มีอยู่ในมือมาปรุงแต่ง คลุกเคล้า ให้เกิดส่วนผสมใหม่ ที่มีรสชาติดีและอร่อย
ทั้งนี้ ตัวเกม Home Sweet Home ถูกแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยในเฟสแรก ฝ่ายผีจะเป็นฝ่ายที่ไล่ล่าฆ่ามนุษย์ มีพลังกล้าแกร่ง แต่ถ้าหากฝ่ายผีไม่สามารถฆ่ามนุษย์ได้ ปิดเกมช้า จนทางฝ่ายมนุษย์สามารถทำพิธีปราบผี ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร ผีจะเป็นฝ่ายหนีมนุษย์บ้างแล้ว โดยผู้เล่นอาจจะเลือกเป็นฝ่ายฆ่าผี หรือเลือกที่จะจบเกมด้วยการออกไปที่ประตูทางออก กลายเป็นว่าผู้เล่นฝ่ายมนุษย์และฝ่ายผีต่างก็มีบทบาทในฐานะของ “ผู้ล่า” และ “ผู้ถูกล่า” เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับทางเลือกของผู้เล่น
...
ในส่วนทางออกของเกมจะมีด้วยกัน 5 ประตู จำกัดจำนวนคนเข้าเพียง 1 คนต่อ 1 ประตู ไม่เหมือนกับ Dead by Daylight ที่มีสองประตู แต่ไม่จำกัดจำนวนคนเข้าประตู สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดการปักหลักเฝ้าประตูใดประตูหนึ่งของผี
“ในฐานะผู้กำกับเกมก็ต้องวางสมดุลเกมให้ดี ต้องไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกุมความได้เปรียบ ถ้าหากฝ่ายไหนได้เปรียบก็ต้องมาจากการกระทำที่เหมาะสมและเกิดขึ้นภายในเกมเท่านั้น”
เติมฝันพาเกมผีเป็น E-Sport
เมื่อกล่าวถึงเกม “แนวผี” เกมแนวนี้ เป็นเกมที่ได้รับความนิยมจากเกมเมอร์ค่อนข้างน้อย กลายเป็นเกมที่มีตลาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับเกมประเภทอื่น
“เกมผีมันเป็น Niche Market กลุ่มคนที่ชอบเกมแนวผีมีอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งจะเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่ชอบภาพยนตร์สยองขวัญ” ศรุต เผยต่อไปว่า “สิ่งที่ Home Sweet Home เจอในช่วงที่ผ่านมา คือมีคนดูมากกว่าที่จะเล่นเอง โดยดูผ่านการเล่นของยูทูบเบอร์หรือสตรีมเมอร์ แต่จะหาคนที่ซื้อเอง เล่นเอง ที่สำคัญเกมเรามีความน่ากลัวด้วย ก็คงมีคนเล่นจำนวนจำกัด”
ส่วนประเด็นที่ยูทูบเบอร์ หรือสตรีมเมอร์นำเกม Home Sweet Home ซึ่งเป็นเกมเนื้อเรื่อง อัดเป็นคลิป นำคอนเทนต์จากเกมไปลงแชนแนลของตัวเอง ในส่วนนี้ ผู้กำกับเกม Home Sweet Home ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้สักเท่าไรนัก
“วัตถุประสงค์แรกที่พัฒนาเกม Home Sweet Home เราคิดถึงการเผยแพร่วัฒนธรรม เป็นการประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ว่ามันทีมพัฒนาเกมที่สามารถพัฒนาเกมระดับที่มีคุณภาพแบบนี้อยู่นะ ซึ่งเราไม่ได้คิดแค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว เราต้องการเปิดตัวทีมของเราในธุรกิจเกม”
ศรุต อธิบายต่อไปว่า ในทางตรงกันข้าม เกม Home Sweet Home มันเป็นกระแสไปทั่วโลก เพราะเกิดจากการบอกต่อปากต่อปาก
“ผมไม่คิดมากนะ และผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยซ้ำ จนทุกวันนี้คนคิดว่าอิ๊กดราซิลเป็นบริษัททำเกมไปแล้ว ซึ่งที่จริงไม่ใช่ ธุรกิจหลักของเราคืองานซีจี แล้วเราก็ยังทำอยู่” ผู้กำกับ Home Sweet Home พูดพร้อมกับเสียงหัวเราะ
...
ความท้าทายขั้นต่อมาที่ ศรุต เล่าให้ฟังต่อจากนั้น เป็นเรื่องของความพยายามอยากที่จะผลักดัน Home Sweet Home Survive ให้ได้กลายเป็นหนึ่งในเกมที่ใช้ในการแข่งขัน E-Sport
“ทุกวันนี้ถ้าเราหันมามองเกมที่ใช้ในการแข่งขัน E-Sport มีเกมไหนเป็นเกมไทยบ้าง คำตอบคือยังไม่มี ซึ่งแน่นอนว่าเงินก็จะไหลออกไปนอกประเทศ ไม่ต่างจากเราซื้อสินค้าจากต่างประเทศ”
“ลองคิดในมุมกลับ ถ้าหากอิ๊กดราซิลสามารถพัฒนาเกมแบบนั้นได้ แล้วลองเอาไปขายต่างประเทศดูบ้าง มันน่าจะเป็นการดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศได้บ้าง นี่จะกลายเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้อีก นอกเหนือจากการพึ่งพิงเกษตรกรรม และการท่องเที่ยว อันที่จริงเราไม่ได้อยากทำแค่เกม เราอยากทำให้ประเทศไทยส่งออกเกมได้ด้วย”
ดังนั้นแล้ว เป้าหมายของศรุตและอิ๊กดราซิล จึงหวังให้ไกล แล้วปั้น Home Sweet Home Survive เป็นเกมที่สามารถนำมาจัดแข่งขัน E-Sport ของไทย
“นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นนะ แต่จะเป็นได้หรือไม่ได้นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นว่าจะมีคนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน จะมีใครช่วยผลักดันหรือไม่ สตูดิโอผู้พัฒนาเกมคงไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว” ศรุต อธิบายปิดท้าย
ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun