ยื่นภาษีครึ่งปี 2566 หรือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) 2566 เริ่มแล้วในช่วง 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ของทุกปี ไม่ใช่เพียงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องยื่น แต่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(5)-40(8) ซึ่งหมายถึงกลุ่มบุคคลใดบ้าง ติดตามได้ที่นี่

ภ.ง.ด. 94 ปี 2566 ยื่นภายในวันที่เท่าไร

การยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 94 ปี 2566 กำหนดยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง วันที่ 30 กันยายน ของทุกปี โดยสามารถยื่นได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ยื่นภาษีออนไลน์ครึ่งปี ภ.ง.ด. 94  2.สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และ 3.ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังกองบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร เมื่อยื่นแบบแล้วก็ชำระภาษีตามช่องทางที่กำหนด

ใครบ้างต้องยื่นภาษีครึ่งปี 2566 (ภ.ง.ด. 94)

บางคนเพิ่งมีรายได้จากการขายของออนไลน์ในปีนี้เป็นครั้งแรก แล้วก็คิดว่ามีเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือไม่ที่ต้องเสียภาษีครึ่งปี ตามประมวลรัษฎากร ผู้ที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี คือผู้ที่มีเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40(5)-40(8) ยื่นรายได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ของปี 2566

...

ผู้ที่เข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปี มี 6 กลุ่มดังนี้

1. ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือสองฝ่ายรวมกันไม่เกิน 120,000 บาท

3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมิน 60,000 บาท

4. ห้างหุ่นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท 

5. คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท 

6. วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือเกิน 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

  • ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 5 คือ

เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

  • ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 6 คือ

เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้

  • ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 7 คือ

เงินได้จากการรับเหมา ต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

  • ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 คือ

เงินได้จากการธุรกิจพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรมขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้จากการอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในประเภทที่ 1-7


ดังนั้นไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่รวมไปถึงผู้ที่มีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ทำเกษตร ทำธุรกิจพาณิชย์ต่างๆ ถ้าเป็นคนโสดที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี คือผู้ที่มีรายได้พึงประเมินส่วนนี้เกิน 60,000 บาท สมรส 120,000 บาท

ทำไมต้องยื่นภาษีครึ่งปี

การยื่นภาษีครึ่งปี เป็นการช่วยลดภาระการจัดเตรียมเอกสาร และวางแผนการชำระเงินภาษี บางคนคิดเป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งอยากจะทยอยจ่าย และชำระ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการวางแผนทางการเงินสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจค้าขาย ใช้แบบการยื่น ภ.ง.ด. 94 เพื่อขอสินเชื่อธุรกิจในอนาคตได้


1. เพื่อแบ่งเบาภาระชำระภาษี

รายได้ของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 60,000-1,800,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงขึ้นก็ต้องการแบ่งการยื่นภาษีเพื่อให้สภาพคล่องไม่สะดุด
2. เพื่อง่ายต่อการจัดทำเอกสาร

บางคนไม่ได้มีรายได้ช่องทางเดียว การจัดเตรียมเอกสารทีเดียวในรอบ 12 เดือน ก็อาจจะมีเอกสารบางอย่างที่ต้องรีบขอจากผู้ว่าจ้าง เพื่อป้องกันการตกหล่น ดังนั้นเพื่อลดการเตรียมเอกสารจำนวนมากๆ ก็ต้องยื่นภาษีออนไลน์ครึ่งปี
3. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการวางแผนการเงิน ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

...

ผู้เสียภาษีเงินได้เป็นปีแรกๆ ที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อทำธุรกิจกับสถาบันการเงิน บางแห่งเรียกดูเอกสารยื่นภาษี หากผ่านการชำระภาษี ก็ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาขอสินเชื่อประเภทสินเชื่อธุรกิจได้

ยื่นภาษีครึ่งปี ยื่นออนไลน์ได้ไหม ใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง

การยื่นภาษีครึ่งปี ในแบบ ภ.ง.ด. 94 สามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้ในระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด หากมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงเอกสารก็ยื่นกับสำนักงานสรรพากรท้องที่ได้ และส่วนที่นำมาใช้ลดหย่อนนั้นมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกับการยื่นภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91 เช่น การกรอกลดหย่อนภาษีด้วยเงินสมทบประกันสังคมมาตราต่างๆ, การกรอกกองทุนบางอย่างก็กำหนดไว้เฉพาะ ตรวจสอบได้ที่แบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 94

...

ขั้นตอนการยื่นภาษีครึ่งปี 2566 ออนไลน์

1. เข้าสู่ระบบ e-Filing เพื่อยื่นภาษี https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

2. กรอกข้อมูลส่วนบุคคล

2.1) สถานะการสมรส

2.2) แยกยื่นภาษี หรือรวมรายการยื่น

...

3. กรอกประเภทของเงินได้ และการลดหย่อนต่างๆ

4. ตรวจสอบภาษีที่ชำระไปแล้ว และต้องชำระเพิ่ม

เมื่อยื่นครบทุกขั้นตอนแล้ว กด “บันทึกร่าง” เพื่อตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ก่อนกด “ยืนยันการยื่นแบบ”

ผู้ที่ยื่นภาษีครึ่งปี 66 ด้วยแบบแสดงการยื่นภาษี ภ.ง.ด. 94 ในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. 2566 ไปแล้ว ก็ต้องไปยื่นรายได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือน ก.ค. -  ธ.ค. 2566 อีกครั้ง ในช่วงหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ด้วย ภ.ง.ด. 90 ซึ่งถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระการชำระภาษี และเคลียร์เอกสารยื่นภาษีให้จบทีละครึ่งปี จะได้สะดวกต่อการชำระ และขอคืนภาษีในปีถัดไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นภาษีของตน ก็ติดต่อได้กับสำนักงานสรรพากร หรือโทร. RD Intelligence Center 1161.  

ที่มา : เว็บไซต์กรมสรรพากร