ปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจไทยที่เริ่มโตช้าลง หรือบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ซ้ำร้ายยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ตรงข้ามกับการลงทุนในต่างประเทศที่มีบริษัทชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น แอปเปิล (Apple), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จนไปถึงแบรนด์ที่เรารู้จักดีอย่างลอรีอัล (L'Oréal), ยูนิลีเวอร์ (Unilever) เป็นต้น

ถ้าหากเราดูผลตอบแทนในการลงทุนในต่างประเทศนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 17 มิถุนายน 2564 แบบยังไม่รวมเงินปันผล เราจะพบว่า

- ผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา มีผลตอบแทน 230.67 เปอร์เซ็นต์
- ผลตอบแทนดัชนี NIFTY 50 ของอินเดีย มีผลตอบแทน 230.70 เปอร์เซ็นต์
- ผลตอบแทนดัชนี VNINDEX ของเวียดนาม: มีผลตอบแทน 278.96 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาแค่ 56.11% เท่านั้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ตัวของบริษัทหลักทรัพย์ เราจะเห็นว่ามีโฆษณาถึงการลงทุนในต่างประเทศ และมีการแนะนำหุ้นต่างประเทศดีๆ มากมาย

ประเด็นนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความน่าสนใจของการลงทุนในต่างแดน อย่างไรก็ดี ก่อนที่เราจะลงทุนได้ต่างประเทศนั้น ต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้เสียก่อนครับ

1. ความเสี่ยงเรื่องการเมือง-นโยบายของประเทศที่เราไปลงทุน

แม้ว่าเราจะตัดสินใจในการไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าในต่างประเทศมีปัจจัยที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ตลาดหุ้นสำคัญของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของ 2 มหาอำนาจนั้น เรื่องสำคัญคงหนีไม่พ้นประเด็นของ “สงครามทางการค้า” ที่ได้ลามไปถึงนโยบายของทั้ง 2 มหาอำนาจ ไปสู่ประเด็นอื่นๆ เช่น กรณีของบริษัทเทคโนโลยี และยังมีการตอบโต้ของทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงที่ผ่านมานั้นได้สร้างความปั่นป่วนให้กับนักลงทุนไม่น้อย

ต่อมาเป็นกรณีที่สองชาติในเอเชียที่มีประเด็นความขัดแย้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ได้ปะทุอีกครั้งคือ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ซึ่งมีการตอบโต้กันจนถึงขั้นประชาชนเกาหลีใต้เองได้แบนสินค้าหลายชนิดจากประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง สินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าหากเราเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็ย่อมได้รับผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากเกาหลีใต้ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของบริษัทญี่ปุ่นเลยทีเดียวครับ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องนี้ เช่น ความเสี่ยงที่นักลงทุนเองจะไม่สามารถนำเงินกลับประเทศได้ หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ-การเงินแบบเฉียบพลัน ยกตัวอย่างในกรณีของตุรกี ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินเนื่องจากมีเงินทุนไหลออกนอกประเทศอย่างหนัก ไปจนถึงกรณีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง ปัจจัยเหล่าอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราได้ครับ

2. ความเสี่ยงของบริษัทของเราที่จะลงทุน

การลงทุนในต่างประเทศแล้วไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงผ่านการซื้อหุ้น หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ซึ่งจะนำเงินเราไปลงทุนอีกทอดหนึ่งนั้น ความเสี่ยงสำคัญอีกเรื่องคือบริษัทที่เราลงทุนอาจเกิดจากตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง รวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทอาจล้มละลาย หรือการบริหารงานที่ผิดพลาด ปัจจัยเหล่านี้นั้นจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราอย่างมากครับ

ผมขอยกตัวอย่างกรณีของอินเทล (Intel) ผู้ผลิตชิปชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการและกลยุทธ์ของบริษัทที่ผิดพลาด จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดลง กระทั่งคู่ค้าคนสำคัญอย่าง Apple ต้องหันมาผลิตชิปเป็นของตัวเอง ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้รายได้ของบริษัทต้องหายไปบางส่วนทันที ถึงแม้ว่าล่าสุดบริษัทจะเปลี่ยนผู้บริหารจนถึงเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีถึงจะเห็นว่ากลยุทธ์ของบริษัทนั้นจะออกดอกออกผลจริงๆ หรือไม่ แต่สิ่งที่ไม่ไปต่อไม่รอแล้วนั่นคือราคาหุ้นของอินเทล ซึ่งร่วงตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว

...

Apple M1 การก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของแอปเปิล
Apple M1 การก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของแอปเปิล

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในมุมกลับจากตัวอย่างเดียวกัน การที่แอปเปิล (Apple) หันมาผลิตชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ Mac ด้วยตัวเอง หลังพึ่งพาอินเทลเป็นเวลานาน แน่นอนว่าย่อมต้องส่งผลดีกับทางแอปเปิล เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับอินเทล และยังทำให้ราคาสินค้าของ Mac ถูกลงกว่าเมื่อครั้งที่ยังใช้ชิปของอินเทล

กรณีตัวอย่างถัดมาเป็นกรณีของ Wirecard ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรับจ่ายเงินจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเติบโตมาโดยตลอด กระทั่งทีมผู้ข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times ได้สืบค้นพบข้อมูลของบริษัทซึ่งมีธุรกรรมแปลกๆ ชวนให้สงสัย จนทำให้ต้องสืบสาวราวเรื่องแล้วพบว่าบริษัทแห่งนี้ได้ตกแต่งตัวเลข แถมยังโยกย้ายเงินจากเยอรมนี มาที่ทวีปเอเชียโดยไม่มีการลงบัญชีในงบการเงิน นอกจากนี้เงินสดของบริษัทก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย จนท้ายที่สุดบริษัทต้องขอแจ้งล้มละลายจากหนี้สินล้นพันตัว ซึ่งกรณีของ Wirecard ยังทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของเยอรมนีต้องลงมาตรวจสอบจากเรื่องฉาวโฉ่นี้ด้วย

ฉะนั้นแล้วถ้าหากเราลงทุนในต่างประเทศแล้วต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน การหาข้อมูลบริษัทที่เราลงทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน จนถึงกลยุทธ์ของบริษัทครับ เพราะจะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ลงได้อย่างมากครับ

3. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยเรานั้นเดี๋ยวก็อ่อนค่า สักพักก็แข็งค่าขึ้น ตามสภาวะของเศรษฐกิจไทย

อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ
อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

เรื่องนี้จะกระทบกับเราโดยตรง ถ้าหากเราลงทุนซื้อหุ้นตรงในต่างประเทศ แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องขายหุ้น แต่โชคร้ายเพราะในช่วงนั้น ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากๆ แล้วเราต้องการนำเงินกลับประเทศไทย ก็อาจได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าความเป็นจริง หรือกรณีเลวร้ายสุดเราอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ครับ 

แต่ถ้าคุณเป็นผู้ที่ลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนรวม ก็ต้องมาดูกันว่านโยบายการทำประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินของกองทุนนั้นมากน้อยแค่ไหนครับ ซึ่งสามารถอ่านได้จาก “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” ของกองทุนรวมที่เราซื้อครับ

4. ค่าใช้จ่ายแฝง

แม้ว่าการลงทุนในต่างประเทศจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่เรื่องที่สำคัญที่ผมอยากเน้นเป็นเรื่องสุดท้ายคือ ค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่นักลงทุนเราไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก๋า ต้องพิจารณาให้ดีครับ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในระยะยาวอาจบั่นทอนผลตอบแทนการลงทุนของเราได้ครับ

ถ้าหากคุณจะลงทุนซื้อหุ้นตรงในต่างประเทศ ก็ต้องดูค่าคอมมิชชัน หรือค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ตามมา ที่เราอาจไม่ได้สังเกต เช่น ค่าเก็บรักษาสินทรัพย์ ค่าธรรมเนียมแปลงค่าเงิน ค่าใช้จ่ายสำหรับการโอนเงินไปต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมข้อมูลสำหรับเวลาเราดูข้อมูลตลาดหลักทรัพย์นั้นๆ แบบเรียลไทม์ ซึ่งตลาดหุ้นในต่างประเทศหลายแห่งมีการเก็บค่าใช้จ่ายตรงนี้ หรือบางแพลตฟอร์มที่ผมเคยเห็นมีค่าใช้จ่ายในการใช้แพลตฟอร์มเวลาซื้อขายหุ้นด้วย

...

อย่าลืมตรวจสอบว่าการลงทุนของเรามีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่หรือไม่
อย่าลืมตรวจสอบว่าการลงทุนของเรามีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่หรือไม่

ขณะเดียวกันถ้าหากคุณเป็นผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวม ก็ต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายของกองทุนหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ของกองทุนที่ลงทุนว่ามีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับผลงานกองทุนหรือไม่ด้วยครับ

หวังว่าปัจจัย 4 ข้อนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่สนใจในการลงทุนในต่างประเทศทั้งทางตรงอย่างการซื้อหุ้น หรือทางอ้อมอย่างการลงทุนในกองทุนรวม ยอมเสียเวลาพิจารณาสักนิด แต่มันจะช่วยทำให้เราลดความเสี่ยงจากจากการลงทุนได้

ขอให้มีความสุขในการลงทุนครับ

ที่มา:

...