เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 64 ที่ผ่านมา ช่อง Bearhug Channel ได้เผยแพร่บทเรียนล้ำค่าจากการทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดผ่านทาง YouTube เล่าถึงประสบการณ์การผลิตสินค้าชานมกระป๋องเข้าเซเว่น 12,000 สาขา ผลตอบรับดี มีคนซื้อเยอะ แต่ทำไมถึงได้ขาดทุนถึง 17 ล้าน วันนี้เราอยู่กับ “กานต์” และ “ซารต์” เจ้าของแบรนด์ชานมกระป๋อง Sunsu ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ตอนนี้
“ขาดทุนจริงๆ ค่ะ ไม่ได้ตั้งใจสร้างกระแส” ซารต์ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “แต่ถ้าใครเข้าไปดูในงบการเงินปี 63 จะขึ้นว่าขาดทุน 10 ล้านบาท แต่ Sunsu ปิดงบเดือนตุลาคม จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ รวมๆ ก็ประมาณ 17 ล้านบาทตามที่พูดไว้ในคลิปค่ะ”
เปิดใจคุยกับ กานต์-ซารต์ เจ้าของ Sunsu
“กานต์-นายอรรถกร รัตนารมย์” และ “ซารต์-นางสาวปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช” เผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ได้ทุ่มเงินเก็บทั้งหมดที่ได้จากการทำ Production House ทางช่องแบร์ฮัก (Bearhug Channel) ซึ่งเป็นช่อง YouTube ไลฟ์สไตล์ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และวัยทำงาน จะเรียกทั้งสองคนนี้ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วยก็ได้ เพราะแต่ละคนก็มีผู้ติดตามในช่องของตัวเองกว่า 3 ล้านคนเช่นกัน
เงินลงทุนในธุรกิจ Sunsu มาจากรายได้ทั้งหมดของ บริษัท แบร์ฮักโปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเคยทำรายได้สูงสุดถึง 28 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 ดังนั้นสถานการณ์การล้มหรือยืนในธุรกิจของ “กานต์-ซารต์” วัยรุ่นที่ได้จับเงินเฉียด 30 ล้าน จึงเป็นที่จับตามองของคนรุ่นใหม่หลักล้านซึ่งกำลังติดตามพวกเขาอยู่ โดยทั้งสองเป็นเจ้าของบริษัท แบร์ฮักโปรดักชั่น จำกัด ทำช่อง YouTube และมีธุรกิจชานมไข่มุกแบร์เฮ้าส์ (Bearhouse) ที่ฮอตสุดในหมู่วัยรุ่น ต่อแถวรอกินกันเป็นชั่วโมง
...
Sunsu เป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่ปัจจุบันมีสินค้า 2 ตัว คือ ชานมกระป๋อง และเยลลี่บุก 0 cal ตัวที่ทางเจ้าของแบรนด์ตัดสินใจเลิกทำไปก่อน คือ “ชานมกระป๋อง” ทั้งที่มีผู้ติดตามเยอะ แต่ทำไมถึงจบด้วยการจากลา..
กานต์เล่าถึงบทเรียนสำคัญให้เราฟังว่า “การทำธุรกิจที่เชื่อมโยงกับ Passion ให้ดี คือต้องมีหน้าร้าน เพราะจัดการคุณภาพได้เต็มๆ” ส่วนซารต์เสริมว่า “ถ้าเป็นหน้าร้านเราสามารถจัดการกับปัญหาได้ตรงหน้า เช่น เครื่องทำน้ำแข็งเสีย ทำผิดสูตร เราก็เข้าไปแก้ตรงนั้นได้เลย แต่การทำสินค้าเป็นลอตส่งขาย หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะส่งผลระยะยาว”
สิ่งที่ทำให้ ชานมกระป๋อง Sunsu ไม่ได้ไปต่อ คือ “การจัดการการเงินในหลังบ้านของเรายังไม่ดีพอ” จากที่ซารต์เผยในคลิปว่า “มีทางรอด ถ้าเราจะปรับสูตร แต่ถ้าทำแล้วเราเองไม่ภูมิใจ ไม่ทำเลยดีกว่า” หมายถึงการทำงานของกานต์และซารต์ ที่ต้องทำการบ้านครั้งใหญ่ คือ คิดค้นสูตรใหม่ หาวัตถุดิบ และจัดการต้นทุน เพื่อผลิตสินค้าที่มีอายุจัดเก็บได้ 1 ปี
โควิดเกี่ยวกับการขาดทุนครั้งนี้ไหม
เมื่อถามถึงประเด็น 'โควิด' ว่ามีส่วนทำให้ธุรกิจสะดุดหรือไม่ กานต์ให้คำตอบว่า “ก็มีส่วนครับ” ชานมกระป๋องเข้าจำหน่ายเดือนสิงหาคม ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาดไม่นาน ซารต์เสริมว่า ""โควิดน่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่หลักๆ พวกเรามองว่าเป็นปัญหาเรื่องการ forecast ยอดและการบริหารสต็อค" แม้ช่วงแรกจะขายได้หมด แต่ด้วยที่เราวางแผน forecast สต็อกสินค้าไม่ดี ทำให้เราผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นจึงของจึงขาดตลาด พอต่อมาเราผลิตของเยอะไป ทำให้สต็อกมันล้น และติดเรื่องอายุที่ไม่สามารถส่งเซเว่นได้ เลยเป็นปัญหาเรื้อรังมาเรื่อยๆ จนวัตถุดิบที่สั่งเข้ามาหมดอายุ"
ล้วงลึก! 17 ล้านบาท เป็นเงินกู้ หรือเงินเก็บ
หลายคนคงสงสัยว่าขาดทุนขนาดนี้จะถึงขั้นหมดตัวเลยหรือเปล่า ซารต์เผยว่า “ที่ลงทุนไปกับธุรกิจนี้ประมาณ 21 ล้านบาท แต่เรายังไม่เจ๊ง เราแค่เลิกผลิตตัวชานม แต่เรามีสินค้าอีกตัวที่คิดว่าจะทำได้ดีกว่า คือตัวเยลลี่บุก 0 cal วางจำหน่ายช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาค่ะ”
...
“21 ล้านบาท เป็นเงินที่มาจาก เงินเก็บ เงินเดือน เงินปันผลของพวกเราจากบริษัทแบร์ฮักโปรดักชั่น เพราะตั้งแต่เปิดบริษัทมาพวกเราไม่ได้ปันส่วนกันเลย เรียกได้ว่าเงินทั้งหมดที่หากันมาอยู่ตรงนี้ และตั้งใจอยากเอามาลงทุนต่อยอด ทำธุรกิจที่เราตั้งใจทำ เราไม่ได้ลงทีเดียว 21 ล้าน แต่ด้วยการที่ไม่ได้วางแผนใช้เงินอย่างรัดกุม เราเลยมีรายจ่ายเรื่อยๆ ที่เกิดจากการวางแผนพลาด ก็เอาเงินส่วนตัวมาอุด รู้ตัวอีกทีก็ 21 ล้าน
บทเรียนที่สำคัญของพวกเราคือ พวกเราทำธุรกิจสิ่งที่เราต้องดูทุกเดือนให้ได้คืองบกำไรขาดทุน ตรงนี้เป็นบทเรียนราคาแพงมากมหาศาลที่เรามาดูงบกันปีละครั้ง
ขนาดเรียนบัญชีมายังพลาดตรงนี้ รู้สึกแย่เหมือนกันต้องให้กำลังใจตัวเองเอาบทเรียนมาแก้ในอนาคต
ก่อนหน้านี้ถามว่าเงินบริษัทมาจากไหน ส่วนใหญ่มาจากการรับสปอนเซอร์ แต่หลังจากทำธุรกิจพวกเราก็มีเวลากับช่องแบร์ฮักน้อยลง เลยรับสปอนเซอร์น้อยมาก จนแทบไม่ได้รับเลย”
แต่ปัจจุบันพอเรามีออเดอร์กับ 7-11 เป็นระยะเวลาหนึ่ง กับบริษัทจดทะเบียนครบ 2 ปี ทำให้พวกเรากู้เงิน Factoring OD จากธนาคารได้ เพื่อนำมาลดความเสี่ยง
Sunsu เตรียมรับมือกับหนี้ 17 ล้าน อย่างไร
ซารต์ให้คำตอบว่า “ต้องขอบคุณแฟนๆ ผู้ติดตาม ตั้งแต่ปล่อยคลิปนั้นออกไปก็มีคำสั่งซื้อจาก Shopee กับ Lazada ขายออกไป 1,000 ลัง แต่ก็ยังเหลืออีก 4,000 ลังที่จะหมดอายุในเดือนกันยายนปีนี้ ถ้าขายหมด ก็จะลดหนี้ได้ประมาณ 2.3 ล้าน
...
อย่างที่ทั้งสองคนได้กล่าวในคลิปว่า “การขาดทุนครั้งนี้เป็นบทเรียนยิ่งกว่าปริญญาเอกซึ่งไม่มีที่ไหนสอน ถือว่าแบ่งกันคนละ 8.5 ล้าน” ถ้าขายที่เหลือไม่หมด ก็แบกรับหนี้ส่วนนี้กันไป "จากบทเรียนครั้งนี้ สิ่งที่เราเรียนรู้คือ 'การจัดการเงิน' รอบนี้ที่ลงทุนใหม่กับตัวเยลลี่บุกก็มีผู้จัดการมาคอยช่วยเรื่องการจัดการด้านการเงินของ Sunsu อย่างเต็มตัวค่ะ ก็จะเป็นระบบมากขึ้น”
ไพ่ตายของ Sunsu ยังเปิดไม่หมด จุดแข็งของแบรนด์ Bearhug คือฐานแฟน
เมื่อถามแทนแฟนๆ ที่ติดตามแบร์ฮักว่ารายได้จากการทำ YouTube เพียงพอกับการดำรงชีพไหม กานต์ให้คำตอบว่า “ถ้านับเป็นรายได้จากคลิกต่างๆ บน YouTube เพียงอย่างเดียวมันไม่แน่นอน แต่ถ้าทำจนมีผู้ติดตามระดับหนึ่งแล้ว เพียงพอต่อการเลี้ยงตัวเอง ถ้าเทียบกับการทำงานบริษัททั่วไป ก็อยู่ในระดับ Manager หรือ Director ได้เลยครับ”
กว่าจะมาเป็น YouTuber ที่มีผู้ติดตามเยอะขนาดนี้ไม่ได้มาง่ายๆ ใช้เวลามากกว่า 5 ปี จุดแข็งของแบรนด์ แบร์ฮัก คือ ฐานแฟนที่พร้อมสนับสนุนกว่า 3.5 ล้านคน และการจดทะเบียนพาณิชย์แสดงรายได้ทุกอย่างตามระบบภาษี ทำให้ง่ายต่อการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจและผู้ประกอบการ เช่น สินเชื่อ Factoring, สินเชื่อ OD และ Personal Loan ซึ่งเพียงพอที่จะหมุนเวียนในช่วงนี้ได้
...
ในส่วนนี้จึงเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของผู้ทำงานโปรดักชั่น และการทำงานออนไลน์ ที่ควรจดทะเบียนแจ้งรายได้สร้างสเตทเมนต์ของตัวเอง เพื่อเป็นเครดิตทางการเงินต่อยอดทำธุรกิจต่อไปได้ ปัจจุบันหน้าร้านชานมไข่มุกแบร์เฮ้าส์ Bearhouse ก็ขยายต่อเป็นสาขาที่ 8 แล้ว
แฟนๆ อาจจะสงสัยเหมือนกันว่า ทางแบร์ฮักจะเลิกทำธุรกิจไปเลยหรือเปล่า? คำตอบของ “กานต์” และ “ซารต์” ก็ยังยืนยันว่าจะมีหน้าร้านคาเฟ่ Bearhouse อยู่ต่อไป ส่วนงานการเป็น YouTuber ก็ไม่ได้ทิ้ง แต่จะรับสปอนเซอร์เหมือนเดิมหรือไม่ก็ต้องติดตาม
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Sriwan Singha