ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรคการเมืองรุ่นใหม่อย่างก้าวไกล ไม่เพียงแต่สร้างปรากฏ การณ์ฮือฮาทั้งแผ่นดินให้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เท่านั้น เบื้องหลังของกลยุทธ์อย่างหนึ่ง คือ Fandom ซึ่งเดิมเป็นเพียงกลไกด้านการตลาดของสินค้า ภาพยนตร์ ดนตรี ซีรีส์ วิดีโอเกม ศิลปะ หนังสือ กีฬา อาหาร สัตว์เลี้ยง ฯลฯ มาใช้ในทางการเมือง โดยอาศัยพลังของ “ด้อม” ที่มีอิทธิพลมหาศาลในการขับเคลื่อนสังคม

การออกแบบแพลตฟอร์มให้บรรดา Fandom มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในทางการเมือง โดยกำหนดประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นโจทย์ร่วมกัน เช่น เรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต, สุราก้าวหน้า หรือ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” มีอุดมการณ์ จุดยืน และเป้าหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับการเป็น “ด้อม” ของพระเอกซีรีส์ นักฟุตบอล ตัวละครในหนังไซไฟ หรือชายรักชายในภาพยนตร์ซีรีส์ ที่กลายเป็นกระแสอย่างมากในจีนขณะนี้

...

จริงๆแล้วแฟนด้อมไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานนับ 10 ปีแล้ว เพียงแต่อาณาจักรของเหล่า Fandom มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและขยายไปในแพลตฟอร์มต่างๆอย่างมากมาย รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงของเหล่า “ด้อม” ที่มีอยู่ทั่วโลก จนกลายเป็นยุคของ Age of Fandom ที่คนรุ่นเก่าๆอาจไม่เข้าใจและไม่เคยเห็นมาก่อน

ส่วนใหญ่แล้วบรรดา “ด้อม” ทั้งหลายจะเริ่มจากการติดตาม เหมือนเป็นแฟน คล้ายๆ กับแฟนคลับแต่อาจจะลึกซึ้งกว่า จากนั้นก็จะยกระดับขึ้นเป็นผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า สะสมข้าวของของเหล่าบรรดาพระเอก นางเอก ตัวละคร หรือแฟชั่นที่ชื่นชอบ ซึ่งฝ่ายที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ก็จะสนับสนุนความรักของเหล่าแฟนด้อม ด้วยการจัดกิจกรรมโปรโมต ส่งเสริมการขายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย มีการทำเดบิวต์เปิดตัวซิงเกิลใหม่ๆ มิวสิกวิดีโอใหม่ๆ ให้บรรดาแฟนๆ ได้กดไลค์ กดแชร์ ปั่นยอดวิว ยอดติดตามในทุกช่องทาง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Fandom เป็นรูปแบบนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

งานวิจัยของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ “ฮิลล์ อาเซียน” (HILL ASEAN) คลังสมองทางวิชาการซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มฮาคูโฮโด ประเทศญี่ปุ่น เปิดผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Sei-katsu-sha) ว่า แฟนด้อมชาวไทยมากถึง 41% ยินดีจ่ายเงินกว่า 30% ของรายได้หรือมากกว่า ให้กับแบรนด์ที่สนับสนุนแฟนด้อมของตนเอง

จากการสำรวจความเห็นของกลุ่มแฟนด้อม พบว่า เป้าหมายใหญ่ของการเป็นแฟนด้อมทั่วโลกคือ อยากให้การสนับสนุนไอดอลที่ชอบหรือชื่นชมอย่างเต็มที่ ต้องการให้ไอดอล รู้จัก สัมผัส และจดจำแฟนด้อมได้ ปรารถนาให้ไอดอลของตนประสบความสำเร็จ

...

มีคำถามว่า แล้วบรรดาแฟนด้อมได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นแฟนของไอดอลที่ตนเองชื่นชอบ คำตอบคือ ได้มอบพลังบวกและแบ่งปันความสุขระหว่างแฟนด้อมกับไอดอล มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ๆร่วมกัน และได้สานสัมพันธ์กับคนอื่นรวมถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ปัจจุบันทั่วโลกเกิดแฟนด้อมมากมายในหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแฟนด้อมศิลปินเกาหลี, กีฬา, งานอดิเรกประเภทต่างๆ ตลอดจนแฟนด้อมสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมา-น้องแมว ซึ่งฐานแฟนด้อมเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีพลังสูง ทั้งในเชิงของ Advocacy และในด้านของ Spending

นักการตลาดและเจ้าของแบรนด์จำนวนมากใช้ปรากฏการณ์แฟนด้อมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเจาะเข้าไปหา Passion ของบรรดาแฟนด้อมทั้งหลาย โดยพยายามทำความเข้าใจใน Insights ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก่อนที่จะนำแบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแฟนด้อม และสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้เกิด Win-Win กับทั้งแบรนด์ และแฟนด้อม

จุดเด่นของชุมชนแฟนด้อมในอาเซียน อย่างแรกคือ ความเท่าเทียม (Equality) แฟนด้อมคือ ชุมชนในอุดมคติ (ยูโทเปีย) ที่ปราศจากการแบ่งแยกหรืออคติ แต่ละคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนมีความเชื่อมโยงกันด้วยความชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน

...

ความคิดสร้างสรรค์ Creativity แฟนด้อมรู้สึกสนุกที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน แฟนด้อมจะมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมากๆในเวลาที่ทุกคนลงมือทำงานด้วยกัน ความสัมพันธ์แบบครอบครัว (Second Family) สำหรับแฟนด้อมเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ทุกคน “สนับสนุนกันอย่างบริสุทธิ์ใจ” และเชื่อใจกันเหมือนคนในครอบครัว พวกเขาให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกันในทุกเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับแฟนด้อมก็ตาม สุดท้าย พวกเขาเชื่อมั่นในพลังแห่งความสามัคคี เมื่อร่วมมือกันทุกคนย่อมมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และนำมาซึ่งประโยชน์แก่แฟนด้อมและสังคมโดยรวมได้

จากเทรนด์ของแฟนด้อม ในอนาคตมีโอกาสเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เจาะฐานแฟนด้อมโดยตรง เช่น Fandom Currencies, Fandom Academies, Fandom Residences และอาจเลยไปถึง AI Service ในการแนะนำว่าแบรนด์จับคู่แฟนด้อมที่มีวิสัยทัศน์ คาแรกเตอร์ จุดมุ่งหมาย หรือเจตจำนง (Purpose) สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้าง Win-Win ให้กับทั้งแบรนด์ ในการได้ฐานแฟนคลับใหม่ๆ และยอดขายมากขึ้นจากแฟนกลุ่มใหม่ ขณะที่แฟนด้อมได้ฐานสมาชิกมากขึ้นด้วย.

...