ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นหนึ่งในอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลายคน ด้วยฮอร์โมนที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วจนส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกหลังคลอด บางรายอาจมีอันตรายต่อชีวิตลูกน้อย
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนที่รวดเร็วส่งผลให้อารมณ์ของคุณแม่มีความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังคลอดบุตร ทำให้คุณแม่เกิดอาการซึมเศร้า รู้สึกเสียใจ หรือหดหู่โดยไม่ทราบสาเหตุ มีสาเหตุมาจาก
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดความเครียด
- ปัญหาการให้นมบุตร
- ปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาชีวิต การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
...
อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด
เกิดจากการที่คุณแม่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้ มีความกังวลเรื่องลูก อาการนี้ไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะทางอารมณ์ อาการไม่รุนแรงมีอยู่เพียงระยะสั้นๆ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา
2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด
เป็นการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต ซึ่งจำเป็นต้องรักษาและพบแพทย์ มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายได้ บางครั้งผุดภาพอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก ระยะอาการมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่สามารถหายเองได้
3. โรคจิตหลังคลอด
เป็นการเจ็บป่วยเช่นเดียวกันและมักจะมีอาการทางระบบประสาทที่แปลกไป เช่น ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดแปลก อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง หรือมีการทำร้ายตนเองหรือคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อย มักเกิดในช่วงหลังคลอด 1-2 วัน หรือหลังคลอด 3-4 วัน
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดกับคุณแม่ทุกคนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน โดยข้อมูลจากองค์กร Postpartum Progress ระบุว่า แม่หลังคลอดเกือบร้อยละ 20 เผชิญกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้หลังคลอด แม่บางคนมีอาการซึมเศร้าเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่แม่บางคนอาจนานเป็นปีเลยก็มี โดยอาการรุนแรงในระดับรุนแรงอย่างโรคจิตหลังคลอด มักเริ่มมีอาการใน 2-3 วันแรกหลังคลอด มีเพียงไม่กี่รายที่มีอาการหลัง 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว
สำหรับอาการคุณแม่ที่เป็น โรคจิตหลังคลอด จะมีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ง่าย สลับกับคึกคัก คล้ายไบโพลาร์ หูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งมีเสียงสั่งให้ฆ่าลูก มีอาการหวาดกลัวมาก นอนไม่ได้ น้ำหนักลดลงมาก หากมีอาการระดับนี้ต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ไม่สามารถหายเองได้ รวมทั้งมีความอันตรายต่อตัวเองและลูก
หากคุณแม่หรือคนใกล้ตัวสังเกตพบว่ามีอาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในระดับปานกลางถึงรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตคุณแม่และลูกน้อย
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รักษาได้หรือไม่
อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากสงสัยว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการในเบื้องต้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและสอบถามการอาการเพื่อให้แนวทางในการรักษา โดยวิธีที่แพทย์ใช้บ่อย ได้แก่ การรับประทานยาต้านอาการเศร้า หรือการพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อบำบัดทางจิตอีกครั้ง
...
ในระหว่างทำการรักษา คุณแม่ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ สลับเปลี่ยนให้คุณพ่อหรือคนสนิทได้เลี้ยงลูก เพื่อไม่ให้ตนเองเกิดความเครียดและกดดันมากจนเกินไป
ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลเปาโล