อาการแพ้ท้อง ของผู้หญิงแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะเคยท้องแล้ว แต่ตั้งท้องอีกครั้ง ก็อาจจะแพ้หรือไม่แพ้ก็ได้ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้องของว่าที่คุณแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเหม็นกลิ่นทั่วไปได้ง่าย บางคนเวียนหัวทุกเช้า อาการแพ้ท้องทำอย่างไรจึงหาย มาฟังคำตอบกัน

แพ้ท้องเกิดจากอะไร

อาการแพ้ท้องเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของคุณแม่ เนื่องจากทารกในครรภ์ใช้การขับของเสียผ่านทางรก เข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตของคุณแม่ ทำให้ร่างกายของทั้งสองคนต้องปรับฮอร์โมน และการใช้สารอาหารต่างๆ ร่วมกัน อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นตอนเช้า หรือตอนกลางคืน หรือเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน

เมื่อไหร่จะหายแพ้ท้อง

ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการแพ้ท้องช่วงแรกในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ บางคนก็แพ้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ มาดูกันว่าอาการไหนที่ควรพบแพทย์และวิธีไหนชนะอาการแพ้ท้องได้ด้วยตัวเอง

1) หาหมอทันทีเมื่อมี 5 อาการนี้

...

แม้ว่าอาการแพ้ท้องจะหายไปได้เอง แต่สาวๆ บางคนมีอาการแพ้ท้องจนร่างกายผิดปกติ หากคุณพบว่ามี 5 อาการนี้เกิดขึ้นกับร่างกาย รีบเตรียมตัวไปพบแพทย์ทันที

  1. อาเจียนรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
  2. ปัสสาวะได้น้อยและมีสีเข้มกว่าปกติ
  3. รู้สึกร่างกายขาดน้ำ
  4. วิงเวียนจะเป็นลมเวลาลุกขึ้นยืน
  5. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ

2) หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นการแพ้

อาการแพ้ท้องช่วงแรกคุณอาจจะยังไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อะไร แต่ให้เรียนรู้สิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้องของคุณ ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงการใส่น้ำหอม, เปลี่ยนกลิ่นสบู่, เลือกอาหารที่กลิ่นไม่ฉุน เป็นต้น

3) พักผ่อนให้เพียงพอ

ว่าที่คุณแม่ควรนอนพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และควรหาเวลางีบพักผ่อนในตอนกลางวัน เพื่อช่วยให้ระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายทำงานได้ดี และลดอาการอ่อนเพลียระหว่างวันด้วย

4) ดื่มน้ำมากๆ

โดยปกติสาวๆ ที่ตั้งครรภ์มักจะปัสสาวะบ่อย จนไม่อยากลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ให้เปลี่ยนวิธีคิด ต้องดื่มน้ำตามปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพื่อเพิ่มน้ำให้กับร่างกายช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี

5) กินผักผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามิน

ร่างกายของคุณแม่กำลังปรับตัวเพื่อสร้างร่างกายน้อยๆ ในครรภ์ เพราะฉะนั้นต้องเติมวิตามินหรือเกลือแร่ให้เพียงพอต่อวัน หากร่างกายได้รับวิตามินไม่สมดุลจะฟ้องออกมาด้วยอาการไม่สบายตัวในบางวัน

6) รับประทานยา หรือวิตามินเสริมที่คุณหมอให้มาตอนฝากครรภ์

ยาที่คุณหมอมักให้มาตอนฝากครรภ์ คือยาป้องกันการวิงเวียน รวมถึงธาตุเหล็ก และแคลเซียม อาจจะมีโฟลิกหรือวิตามินอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์หากสาวๆ อยากกินอาหารเสริม หรือวิตามินเสริม ต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง

7) ออกกำลังกายที่ไม่เป็นอันตราย

ออกกำลังกายด้วยการเดินในน้ำ ทำโยคะ เดินออกกำลังกาย และวิธีอื่นๆ ที่ปลอดภัย จะช่วยให้ร่างกายของคุณมีสุขภาพแข็งแรง ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้หลากหลายอิริยาบถ การออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี ลดอาการแพ้ท้อง

8) ดูคลิปตลก ฟังเรื่องสนุก คุยกับคนที่คุยด้วยแล้วผ่อนคลาย

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลต่อความคิดให้เครียด เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้ฮอร์โมนสับรางกันไม่ถูก ด้วยการดูหนังฟังเพลง หรือดูคลิปที่ให้ความบันเทิง ฟังเรื่องราวดีๆ และพูดคุยกับคนที่คุยด้วยแล้วรู้สึกผ่อนคลาย มีทัศนคติเป็นบวก ช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างตั้งครรภ์

9) ทำสมาธิ หรืออ่านหนังสือ

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดฮอร์โมนความเครียดก็คือการนั่งสมาธิ หรือว่าที่คุณแม่จะใช้วิธีอ่านหนังสือเพื่อสร้างสมาธิให้ผ่อนคลายก็ได้ แต่เลือกเนื้อหาที่สบายๆ ไม่กระชากอารมณ์จนเก็บไปฝันร้าย เพราะคนท้องจะฝันร้ายง่ายแบบที่ควบคุมตัวเองไม่อยู่

10) หากิจกรรมผ่อนคลายอารมณ์

การทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายจะลดความตึงเครียดให้กับร่างกาย หางานอดิเรกที่ชื่นชอบทำระหว่างตั้งครรภ์ เช่น จดบันทึก เขียนบล็อก เก็บเรื่องราวดีๆ ไว้ หรืออยากจะปลูกต้นไม้ จัดสวน ก็ต้องระวังท่วงท่าที่ไม่เป็นอันตราย อะไรที่หนักเกินกว่ากำลังให้คนรอบข้างช่วย

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่ไทยรัฐออนไลน์เลือกมาแนะนำให้กับคุณแม่ที่กำลังหา วิธีพิชิตอาการแพ้ท้อง อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นกี่เดือนนั้นไม่มีใครตอบได้ แต่หากมันรบกวนการใช้ชีวิตจนใกล้เคียงกับอาการป่วยและดูเป็นอันตรายให้รีบพบแพทย์ทันที ขอให้คุณแม่ทุกท่านผ่านวินาทีนี้ไปได้ และมีความสุขกับการตั้งครรภ์ค่ะ

...

ที่มาส่วนหนึ่งจาก : mayoclinic.org

บทความที่เกี่ยวข้อง