เป็นนักปั้นธุรกิจและนักการตลาดขั้นเทพ ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ดังมากมาย แต่น้อยมากที่ “โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ” จะออกมาพูดถึงสิ่งที่รักและทำทุกวัน เช่น การเขียนหนังสือ, การออกกำลังกาย และการสะสมกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างพีระมิดแห่งความสุข

“ตอนนี้ผมอายุ 55 ผมอยากมีร่างกายที่ดีตามปกติสุขตามวัย ถึงอายุ 70-80 ไม่ต้องพึ่งใคร สิ่งหนึ่งที่ค้นพบตอนหยุดทำงานครั้งแรกอายุ 45 เพื่อมาเลี้ยงลูก และเจอว่าชีวิตมันน่าเบื่อ คือชีวิตจะมีความหมายถ้าได้ทำอะไรที่มีประโยชน์ สำหรับผมการทำตัวมีประโยชน์เป็นยา อายุวัฒนะ คู่กับการออกกำลังกายเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะป่วยอะไรก็แก้ได้ด้วยการออกกำลังกาย เวลาเครียดวิ่งแล้วช่วยได้ทุกที คอมฟอร์ตโซนของผมคือศิลปะการนั่งโง่ๆอยู่บ้าน และการออกกำลังกายตอนเช้า ไม่ต้องยุ่งกับใคร ผมวิ่งคนเดียวทุกเช้า แวะซื้อกาแฟสตาร์บัคส์แถวบ้าน แล้วนั่งเขียนหนังสือประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นกิจวัตร รู้สึกมันเป็นความสุขของเรามากๆ”...เขาเล่าด้วยตาเป็นประกาย ระหว่างเปิดบทสนทนากับทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ณ คลับลับๆ “house of wisdom” (H.O.W.) รวมสังคมแห่งความรู้และการแบ่งปันของคนชอบให้ไม่รู้จบ

อะไรทำให้หนุ่มใหญ่วัย 55 หัวใจเต้นแรงได้

สำหรับผมคือความอยากรู้อยากเห็น โชคดีมากที่ผมลุกขึ้นมาเขียนเฟซบุ๊กเพจ “เขียนไว้ให้เธอ” ตอนช่วงโควิด เริ่มต้นเขียนให้ลูกอ่าน แต่ลูกสองคนอ่านน้อยมาก ไม่ค่อยสนใจ (ยิ้ม) เมื่อก่อนการเขียนทุกวันเป็นไปไม่ได้เลย เคยเขียนสองอาทิตย์ชิ้น มีช่วงหนึ่งเขียนได้ 3 วันชิ้น ช่วงโควิดอยากลองเขียนทุกวัน ดูสิว่าจะเขียนได้ไหม ลองเขียนทุกวันหลังวิ่งตอนเช้า ดีไม่ดีช่างมัน ถือเป็นการฝึกทักษะ

...

การเขียนหนังสือทุกวันสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้บ้าง

การเขียนหนังสือเป็นอย่างเดียวที่ทำให้ผมเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Flow เป็นช่วงที่เราดื่มด่ำกับสมาธิ เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว มันคือการเข้าสู่ภวังค์ เข้าสู่สมาธิที่เราชอบมาก ทำให้ต้องหาเรื่องใหม่ๆมาเขียน กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา อยากคุยกับคนใหม่ๆเพื่อเอามาเขียนในเพจ เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่มาจากบทสนทนา ได้ฟังคนเล่าเรื่อง ฟังบรรยายแล้วเจอเรื่องที่โดน มันติดอยู่ในหัวเรา ก็อยากเอามาขยายในมุมของเราเอง หรืออ่านหนังสือแล้วลองเล่าให้เข้ายุคสมัย ผมเป็นคนสมาธิสั้นนั่งฟังอะไรยาวๆไม่ได้จะหลับทุกที อ่านหนังสือยากๆไม่ได้ ก็จะเลือกเล่มที่อ่านง่ายไว้ก่อน และพยายามจับประเด็นแล้วสรุปให้มันง่าย

ค้นพบความสุขจากการออกกำลังกายได้อย่างไร

ผมเชื่อว่าจิตใจที่ดีจะอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น เวลาไปงานเลี้ยงรุ่นรู้สึกตัวเองหล่อมาก เพราะเราออกกำลังกายมาเกือบ 20 ปี ตอนอายุ 37 ผมน้ำหนัก 100 กิโล เป็นแพนิกดิสออเดอร์ เลยต้องลุกขึ้นมาวิ่งและกินผักเพื่อรักษาตัวเอง ผมวิ่งทุกวันตั้งแต่นั้นมา วิ่งไปแล้วเกือบ 16,000 กิโล เพราะกลัวตายกลัวเป็นแบบวันนั้นอีก ผมชอบวิ่งคนเดียวในสวน การวิ่งทำให้จิตใจแจ่มใสและมีวินัย ผมตื่นมาวิ่งทุกเช้า ถ้ามีเวลาจะไปตีกอล์ฟกับเพื่อนๆ ชอบมากที่อ่านเจอในหนังสือ “พีระมิดสามสุข” ตอนวัยรุ่นเราจะมี “ฮอร์โมนโดพามีน” เยอะ หลั่งเมื่อทำอะไรสำเร็จ และเจอสิ่งที่สนุกเร้าใจตื่นเต้น แต่คนอายุเยอะควรมีความสุขจาก “ฮอร์โมนเซโรโทนิน” ซึ่งหลั่งเวลาออกกำลังกาย ร่างกายเป็นปกติสุข มีความสงบ ไม่เจ็บป่วย และ “ฮอร์โมนออกซิโตซิน” ความสุขจากความผูกพันและการมีกัลยาณมิตร

...

ควรเตรียมใจอย่างไร ถ้าไม่อยากเจ็บตอนถอดหัวโขนหลังเกษียณ

ต้องแยกแสงให้ออกว่าอันไหนมันคือแสงเรา อันไหนคือแสงจากตำแหน่ง บางทีเราเหลิงไปเอง หรือเอาตำแหน่งไปรังแกลูกน้อง พอเกษียณออกมาไม่มีแสงนั้นแล้ว มันจะทรมาน! ผมชอบ “คุณทอเร่ จอห์นเซ่น” แกเป็นคุณลุงขาก็ไม่ค่อยดี ตอนมาเป็นซีอีโอดีแทคอายุสัก 58 มีเลขา 2 คน ทำงานอยู่ตึกจามจุรี สแควร์ ชั้น 43 แกเดินลงมาซื้อสตาร์บัคส์เองทุกวัน คนถามว่ามีเลขาทำไมไม่ใช้ แกบอกไม่เอา เพราะถ้าเกษียณแล้วต้องซื้อกาแฟเองจะซื้อไม่เป็น นี่คือบทเรียนที่ดีมากว่าตอนไม่เกษียณต้องใช้ชีวิตด้วยแสงตัวเองให้ได้ แล้วเราจะชินเวลาไม่มีหัวโขน จากประสบการณ์ที่ผมถอดหัวโขนหลายครั้ง บอกเลยว่ามันเหลืออย่างเดียวจริงๆคือคน หมายถึงกัลยาณมิตร ดังนั้นเราควรจะดีกับคนไว้นะ ยิ่งเรามีตำแหน่งช่วยคนได้ยิ่งควรช่วย ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็จะมีแต่คนพร้อมช่วยเหลือเรา ตรงข้ามกับคนใช้อำนาจอัดคนอื่น ซึ่งผมก็เคยเป็นตอนเด็กๆ กำลังเบ่งเลย ห้องทำงานใหญ่ มีเบอร์สวย เป็นวีพีอายุน้อย เหลิงคิดว่าตัวเองเก่ง เลยลาออกจากดีแทคไปอยู่ฮัทช์ คราวนี้โดนฮ่องกงบีบทุกทาง โชคดีมีโอกาสกลับมาดีแทคอีกรอบ คราวนี้ผมเปลี่ยนไปเลย อะไรก็ไม่เอาแล้ว มันอับอายขายหน้า เราเจ็บมากและกลัวการถอดหัวโขน ไม่เอาเบอร์สวยแล้ว ขอห้องทำงานเล็กๆ อะไรที่ไม่ใช่ของเรามีน้อยๆดีกว่า คราวนี้เราช่วยทุกคน เพราะรู้แล้วว่าพอถอดหัวโขนมันเหลือแต่คน ก่อนออกจากดีแทคผมเห็นแต่สิ่งของ คนนี่คือเอาไว้ให้เราเหยียบขึ้น โชคดีที่ถอดหัวโขนเร็วตอนอายุ 30 ทำให้คิดได้ บางคนลงจากตำแหน่งตอน 60 มันไม่ทันแล้วไง ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มซ่องสุมผู้คน ช่วยทุกคนเท่าที่จะช่วยได้ ทุกคนคือเพื่อนกันหมด ไม่ได้คบคนที่ตำแหน่ง แต่เลือกจะปลูกต้นกัลยาณมิตร ผมมีความฟินอยู่อย่างคือเวลาทำอะไรให้ใครแล้วได้รับคำขอบคุณ รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ อันนี้จะรู้สึกดีมากเลย

...

สร้างคอนเนกชันยังไงถึงยิ่งให้ยิ่งได้ไม่โดนเอาเปรียบ

พวก Giver ที่ล้มเหลว คือคนที่ชอบช่วยเหลือคน แต่ไปอยู่ในดงของคนชอบเอาเปรียบ อันนี้ก็จะพังโดนกินทั้งตัว แต่ถ้าเป็น Giver ที่อยู่ในดงของ Giver ด้วยกัน เขาให้มาเราให้กลับเค้กมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งคนที่ชอบยอมเสียเปรียบมาอยู่ด้วยกันยิ่งเจริญ! ชีวิตผมเจอแต่มนุษย์ที่ชอบยอมเสียเปรียบ พอมาเจอกันจะทำสิ่งดีๆได้ เราควรอยู่ในแวดล้อมของคนที่ยอมเสียเปรียบ บางคนเสียเปรียบไม่ได้เลย เจอเมื่อไหร่ต้องหนีให้ไกล เรารู้สึกเป็นลูกแกะกลัวโดนแทะ! สิ่งหนึ่งที่ทำแล้วมีประโยชน์มากๆคือการช่วยคนโน้นคนนี้ไปเรื่อยๆ งานหลักของผมตอนนี้คือเป็น “คอนเนกเตอร์” เชื่อมคนโน้นคนนี้ให้มาเจอกัน เราปลูกต้นไม้ในใจคนไปเรื่อยๆ อย่างการเปิดคลับ H.O.W. ที่ทำร่วมกับ “กระทิง” (เรืองโรจน์ พูนผล) ก็เป็นลักษณะนี้ เราชวนคนรู้จัก 200 กว่าคนมาอยู่ในคลับเดียวกัน ทุกคนคัดมาแล้วว่านิสัยดี ผมอยากให้ H.O.W. เป็นคอมฟอร์ตโซนของผม และฟินเวลาได้ทำโน่นทำนี่ให้พวกเขา มีเมมเบอร์นิสัยดีที่มีกำลังทรัพย์มาอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดไอเดียดีๆต่อยอดได้เยอะ ผมทำตรงนี้รู้สึกว่าเรามีประโยชน์ต่อคนอื่น และคนอื่นก็มีประโยชน์ต่อคนอื่นอีกที พวกเราจะชวนคนเก่งๆจากสาขาต่างๆมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เราต้องฟังจากคนอื่นเยอะๆจนรู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย เพื่อที่จะได้อยากพัฒนาตัวเอง และทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น

...

ในฐานะคนเจน X ดิสรัปต์ตัวเองยังไงไม่ให้เป็นลุงตกยุค

ความรู้สำคัญที่สุดของคนเจน X คือต้องรู้ให้ได้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรบ้าง คนรุ่นนี้มักคิดว่าเรารู้หมดแล้ว ต้องฟังเยอะๆคุยเยอะๆ โดยเฉพาะคุยกับเด็กรุ่นใหม่ แล้วจะรู้ว่าเราต้องทิ้งอะไรบ้าง และเก็บอะไรไว้บ้าง การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ วิธีการคือเอาตัวเองออกมาจากความคุ้นชิน อย่าอ่านอย่าฟังอะไรเหมือนเดิมๆ คอลัมนิสต์ที่เราตามแก่ขึ้นเราก็ตามอยู่นั่นแหละ ควรต้องไปอ่านไปดูอะไรใหม่ๆบ้าง ออกไปคุยกับเด็กรุ่นใหม่บ้าง

ทลายกำแพงยังไงให้เด็กๆยอมคุยกับลุง

ต้องทำตัวอ่อนแอและยอมรับว่าไม่รู้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ต้องมีคือความเมตตา เด็กเขารู้นะ เขาจะคุยด้วยถ้ารู้ว่าเราไม่ได้ไปตัดสินเขา และเราอยากรู้จริงๆ อาวุธดีที่สุดสำหรับผมคือทำตัวอ่อนแอ เวลาเจอคนรุ่นใหม่ๆต้องใช้หูมากกว่าใช้ปาก ทำตัวเป็นนักฟังที่ดี เป็นโค้ชสนับสนุนน้องๆให้เติบโต อีกอย่างผมจะคุยกับลูกสาวสองคน ซึ่งเป็นวัยรุ่น อันนี้เป็นตัวช่วยที่ดีมากให้เราไม่ตกยุค เคพีไอของผมคือทำยังไงให้ลูกคุยด้วย ก็ต้องเข้าใจ, เปิดใจรับฟัง และอย่าตัดสินเขา ผมชอบทำตัวอ่อนแอ อันนี้พ่อไม่รู้เลย แล้วลูกก็จะอยากคุยด้วย

ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ไหมคะ

ไม่ว่าคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เราหนีธรรมชาติไม่พ้น ก็ฝากให้ออกกำลังกาย มันจะช่วยได้มากตอนเราอายุเยอะ เหมือนที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” พูดไว้ถ้าให้คนรุ่นใหม่ซื้อรถแพงที่สุดได้คันเดียวในชีวิต คุณจะดูแลมันอย่างดีไหม นั่นล่ะคือร่างกายของเรา แต่ถ้าถามตัวเองต้องบอกว่ารู้สึกโชคดีที่แก่! ทำให้รอดจากการแข่งขันหนักหน่วงของยุคนี้ การทำงานสมัยนี้บอกเลยว่ามันยากมาก ต้องทำได้หลายอย่างเพื่อแลกกับเงินน้อยนิด คำแนะนำของผมคือ ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ ยังไงก็ต้องพยายามย้ายงานช่วง 3-4 ปีแรก อย่างน้อยเงินเดือนกระโดดที 50% เริ่มทำงานใหม่ๆต้องขยันสุดๆ พยายามสร้างโปรไฟล์มีโปรเจกต์ใหญ่ๆที่ทำได้สำเร็จ เพื่อให้หลุดจากกับดักความยากจน เพราะถ้าไม่ย้ายงาน เงินเดือนขึ้นปีละ 3-4% พออายุ 35 เงินเดือนไม่ไปไหน แถมกลายเป็นคนตกยุค ถ้าหลุดจากเส้นนี้ไม่ได้ ชีวิตมันลำบากมากเลย อันนี้ไม่พูดถึงมีภาระที่บ้านต้องเลี้ยงดูพ่อแม่อีกนะ ยุคนี้คนที่อยู่ลำบากที่สุดคือ เจน Y อายุ 30 กว่าๆ กลับไม่ได้ไปไม่ถึง ถูกเด็กรุ่นใหม่แทนที่ได้ จะคิดเปลี่ยนงานก็แก่เกินไป

ถ้าเป็นคนปานกลางแต่อยากสำเร็จ ต้องดัดสันดานตัวเองอย่างไร

ผมเป็นคนปานกลางไม่ได้เรียนเก่งอะไร แถมยังเป็นพวกสำเร็จมาได้แบบมั่วๆกะๆ ถามว่าคนปานกลางจะเอาตัวรอดยังไงเมื่อสู้กับคนเก่ง สำหรับผมเชื่อว่าสู้ได้นะ ผมให้ 5 เคล็ดลับคนปานกลางชนะคนเก่ง ข้อหนึ่ง “ต้องทำงานที่คนอื่นไม่ทำ” ผมเริ่มจากทำงานอินเวสเตอร์ รีเลชัน ไม่มีใครอยากทำหรอก เพราะโดนฝรั่งด่าทุกวัน แต่มันทำให้เราโตขึ้นมาได้ ข้อสอง “ทำอะไรไม่รู้ยกมือไว้ก่อน” เป็นนิสัยที่เจ้านายชอบ พวกคนเก่งจะคิดเยอะ เราต้องเอาลูกขยันลูกบ้าเข้าสู้ ข้อสาม “ทำให้เจ้านายเป็นง่อย” ต้องรู้จักขยันเอาใจ ทำให้เจ้านายสะดวกสบาย และทำงานแทนเจ้านายได้ ข้อสี่ “ทำสำเร็จไม่ใช่ทำเสร็จ” อันนี้จุดชนะของคนปานกลางเลย คนชอบถามว่าเวลาเลือกลูกน้องเอาคนเก่งหรือคนดี ผมไม่เอาทั้งคู่ ผมเลือกคนที่ทำสำเร็จ ยกตัวอย่างเลขาผมเนี่ย ผมสอนเขาจนเป็นซุปเปอร์เลขาแล้ว ให้ทำอะไรต้องสำเร็จ ลูกน้องที่เราชอบคือให้ทำอะไร มันไปทำๆๆจนสำเร็จ ติดอะไรก็มาบอก คนเก่งหรือคนดีก็สู้คนทำสำเร็จไม่ได้ ข้อห้า “วิชาทำเกิน” คนเก่งไม่ค่อยทำเกินหรอก เพราะกลัวเสียเปรียบ ถ้าเราอยากชนะต้องให้มากกว่าที่ขอเสมอ

ถ้าพรุ่งนี้โลกแตกอยากทำอะไร

อยู่กับครอบครัวและคนที่รัก สิ่งที่เราควรสะสม นอกจากเงินทองแล้ว ควรสะสมประสบการณ์, คำขอบคุณ ซึ่งทำให้เรามีกัลยาณมิตร และสุดท้ายคือความทรงจำ เวลาคนใกล้ตายไม่นึกถึงอะไรแล้ว นึกถึงแต่วันดีๆความทรงจำดีๆ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วงสุดท้ายของชีวิตคือความทรงจำดีๆ.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่