แม้จะมีการศึกษาวิจัยหลายครั้งในหลายประเทศ ที่สรุปตรงกันว่า การป่วยด้วยโควิด-19 มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย โดยเฉพาะภาวะที่เรียกว่า “เซ็กซ์เสื่อม” หลังจากหายป่วยจากโควิดแล้ว

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ webmd.com รายงานโดยอ้างผลวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในอิตาลี ตีพิมพ์ในวารสารแอนโดรโลยี (Andrology) ระบุว่า ชายที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือโรคอีดี (Erectile dysfunction) หรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวพอที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศได้

งานวิจัยดังกล่าวมาจากการวิจัยของ ศ.เอ็มมานูเอลเล เอ. ยานนีนี ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและการแพทย์ด้านเพศวิทยา มหาวิทยาลัยโรม ทอร์เวอร์กาตา กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยทำการ สำรวจผ่านระบบออนไลน์ Sex@COVID ในประเทศอิตาลี มีผู้ร่วมทำแบบสอบถามจำนวน 6,821 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นชาย 2,644 คน หญิง 4,177 คน ผลการวิจัยพบว่ามีชายที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แสดงอาการของโรคอีดี คิดเป็นสัดส่วนถึง 28% มากกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่พบอยู่ที่ 9.33% หรือนับว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอีดี 5.66 เท่า นอกจากนี้ ตัวเลขเบื้องต้นยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ที่มีอาการของโรคอีดีนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าที่จะติดเชื้อโควิด

...

เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ที่ระบุว่า นับจากมีโควิด-19 มีคนไข้เพศชายที่หายจากโควิดแล้วมาใช้บริการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศกับหมอมากขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยของ A.Sansone และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinological Investigation พบว่า ผู้ป่วยชายที่หายจากโควิด-19 มักมีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ รวมถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยปัญหานี้เสี่ยงเกิดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สาเหตุมาจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบได้ในอัณฑะ ส่งผลต่อการทำงานของอัณฑะ การสร้างอสุจิ และการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศชาย ส่งผลต่อความ ต้องการทางเพศ และการสร้างเชื้ออสุจิ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากเมื่อมีเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายมีกระบวนการอักเสบ ร่างกายพยายามกำจัดเชื้อโรคและซ่อมแซมตัวเอง การอักเสบดังกล่าวมีความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือด ส่งผลต่อหลอดเลือด และการไหลเวียนของโลหิต ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้

ล่าสุดทีมนักวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคโควิด-19 กับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในคนไข้ชายไทย โดยพบว่าอาการผิดปกติดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องบางส่วนกับปัจจัยทางจิตเวช ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดรุนแรงระหว่างการระบาดใหญ่ครั้งนี้

สำนักข่าวบีบีซีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Translational Andrology and Urology (TAU) ฉบับเดือนธันวาคม 2021 ระบุว่า แม้ทั่วโลกจะมีรายงานเรื่องผู้ป่วยโควิดชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เนื่องจากไวรัสโควิดเข้าทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือดและอวัยวะสืบพันธุ์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศและความสามารถในการเจริญพันธุ์ แต่ในกรณีของชายไทยซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ปัจจัยทางสุขภาพจิตก็อาจมีส่วนสำคัญในการทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวระหว่างที่ป่วยด้วยโรคโควิดได้เช่นกัน

มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างชายไทยที่เข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค.ของปีนี้ โดยคัดเลือกเอาผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนัก รวมทั้งไม่มีอาการทางจิตเวชในระดับรุนแรง และยังคงทำกิจกรรมทางเพศอยู่ในช่วงก่อนล้มป่วย ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ข้างต้น 153 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 654 ราย

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำแบบทดสอบ IIEF-5 เพื่อตรวจวัดระดับความรุนแรงของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่อาจเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังต้องทำแบบทดสอบ PHQ-9 เพื่อประเมินว่ามีอาการของโรคซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด รวมทั้งทำแบบทดสอบ GAD-7 เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรควิตกกังวลแบบทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) อีกด้วย

ผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยทั่วไปที่ 64.7% โดยแบ่งเป็นอาการนกเขาไม่ขันในระดับเล็กน้อย 45.1% ระดับปานกลาง 15.7% และระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 3.9%

ทีมผู้วิจัยบอกว่า ตัวเลข 64.7% ของกลุ่มผู้ป่วยโควิดชายไทยที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่พบในกลุ่มประชากรต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงอาจพิจารณาได้ว่าอาการผิดปกติในกรณีนี้เกิดขึ้นจากทั้งไวรัสก่อโรคและปัจจัยทางจิตวิทยาส่งผลร่วมกัน

...

ผลการศึกษายังพบว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมของชาวเอเชียส่งผลต่อการติดเชื้อโควิดได้ง่ายกว่า รวมทั้งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อัลฟาในประเทศไทยระหว่างที่ทำการศึกษาอาจส่งผลให้สถิติการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยชายไทยสูงกว่าของต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ผลคะแนนจากแบบทดสอบโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลแสดงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอย่างสูงกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยโควิดชายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายหนุ่มอายุน้อย ซึ่งจะพบอาการนกเขาไม่ขันได้สูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน.