โรคต้อหินเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หากเป็นแล้วควรรีบรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ต้อหิน (glaucoma) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคตาที่สามารถพบได้ทั่วไปเช่นเดียวกับต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม โดยต้อหินเป็นกลุ่มโรคเกิดจากการเปลี่ยนแปลงถูกทำลายของขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษาก็จะทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้

กลุ่มเสี่ยงโรคต้อหิน

  • คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีความดันลูกตาสูงเกินค่าปกติ
  • มีญาติสายตรงเป็นต้อหิน
  • สายตาสั้นหรือยาวมาก
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตา
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำโดยเฉพาะยาหยอดตา
ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์บ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ (ภาพจาก iStock)
ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์บ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ (ภาพจาก iStock)

...

ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ควรมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มโอกาสการรักษาคนไข้ได้เร็ว เพื่อชะลอหรือหยุดการดำเนินโรค ไม่ให้กลายเข้าสู่ระยะรุนแรงที่ทำให้ตาบอดได้

อาการโรคต้อหิน

โรคต้อหินที่เกิดจากความเสื่อมส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ ระยะเวลาของต้อหินตั้งแต่เริ่มเป็นจนถึงการสูญเสียการมองเห็นใช้เวลานาน 5 – 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้าย ๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นภายในเวลาเป็นเดือนก็จะตาบอดได้

ลักษณะการสูญเสียของต้อหิน โดยทั่วไปการมองในทางตรงจะยังมองเห็นอยู่ โดยที่การมองเห็นนั้นจะค่อย ๆ แคบเข้า ที่เรียกว่า ลานสายตาผิดปกติ คือโดยปกติคนเรามองตรงไปข้างจะมองเห็น ด้านข้างก็จะพอมองเห็นถึงแม้จะไม่ชัดเหมือนจุดที่เรามองตรง แต่ในกลุ่มคนที่เป็นต้อหินนั้น การมองเห็นด้านข้างจะค่อยๆ แคบเข้ามาช้าๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยรู้ตัวเนื่องจากใช้สองตาช่วยกันดูอยู่เพราะไม่ได้เปิดตาเดินทีละข้าง และไม่ได้ทดสอบตัวเองเป็นประจำ จึงยังทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติจนกระทั่งการสูญเสียลานสายตานั้นเข้ามาถึงบริเวณตรงกลางแล้ว ทำให้ภาพที่เรามองนั้นไม่ชัดจึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นระยะท้ายๆ แล้ว

โรคต้อหินที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายมักไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว การป้องกันคือควรตรวจตาเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นประจำทุกปี หากตรวจพบเร็วก็รักษาลดความเสี่ยงอาการตาบอดได้ (ภาพจาก iStock)
โรคต้อหินที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายมักไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว การป้องกันคือควรตรวจตาเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นประจำทุกปี หากตรวจพบเร็วก็รักษาลดความเสี่ยงอาการตาบอดได้ (ภาพจาก iStock)

ส่วนต้อหินชนิดมุมปิดที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • อาการปวดตา
  • เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ
  • ตาแดงทันทีทันใด
  • ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาโรงพยาบาล
  • ปวดศีรษะมากในตอนเช้า
  • ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด
  • กระจกตาบวมหรือขุ่น

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป

วิธีรักษาโรคต้อหิน

ปัจจุบันการรักษาต้อหินด้วยการลดความดันตาเป็นการรักษามาตรฐานที่ได้รับการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าสามารถรักษาโรคต้อหินได้ การรักษาโรคต้อหินประกอบด้วย

1. การรักษาต้อหินโดยการใช้ยา

เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตาและจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม แพทย์อาจให้เริ่มใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันได้ นอกจากยาหยอดตาแล้ว ยังมียารูปแบบอื่น ๆ เช่น ยากิน ยาเม็ด หรือยาน้ำที่ช่วยลดความดันในลูกตาได้

2. การรักษาต้อหินโดยการใช้แสงเลเซอร์

ซึ่งจะใช้สำหรับกลุ่มมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์เท่านั้น เช่น การยิงเลเซอร์เจาะรูที่ม่านตาเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคต้อหินเฉียบพลันในผู้ที่มีมุมตาปิด และการยิงเลเซอร์ที่มุมตาเพื่อลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินมุมตาเปิด

3. การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัด

การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องระบายน้ำภายในลูกตาเพื่อลดความดันตา มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตา

...

ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดชนิดถาวร โดยคนตาบอดทั่วโลกร้อยละ 10 มาจากต้อหิน โรคนี้ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดให้กลับคืนมามองเห็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็วก็จะสามารถรักษาการมองเห็นไว้กับเราได้นานขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลกรุงเทพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย