• ความเสี่ยงของการเกิดกระดูกสะโพกหัก คือ อายุที่มากขึ้น มีภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีปัญหาการดูดซึมวิตามินดี มีปัญหาด้านการทรงตัว เช่น มีโรคพาร์กินสัน หลอดเลือดสมอง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ค่อยได้ออกกำลังหรือใช้แรง
  • หากผู้สูงอายุหกล้ม แล้วมีอาการปวดสะโพกอย่างมาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ปวดมากเวลาขยับ บวม สัมผัสแล้วเจ็บบริเวณสะโพก หัวเหน่า หรือต้นขา อาจมีการผิดรูปของขา โดยขาข้างที่ปวดอาจสั้นและมีการบิดหมุนออกมากกว่าข้างปกติ ควรรีบพามาพบแพทย์
  • การรับประทานวิตามินดีและแคลเซียมให้เพียงพอ ในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี จะช่วยเสริมสร้างระบบกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แนะนำให้ได้รับวิตามินดี 600 หน่วยมาตรฐาน และแคลเซียม 1200 มิลลิกรัม

กระดูกสะโพก คือกระดูกที่อยู่บริเวณสะโพกและต้นขาส่วนบน สาเหตุของกระดูกสะโพกหักสามารถแบ่งได้เป็น

1. ในผู้ป่วยอายุน้อย ที่ยังมีความแข็งแรงของกระดูกมาก การหักมักเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น รถชน ตกจากที่สูง เป็นต้น

2. ในผู้ที่มีความแข็งแรงของกระดูกลดลง หรือมีความผิดปกติของเนื้อกระดูก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งบริเวณกระดูก ความผิดปกติของแคลเซียมและฟอสเฟต ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แม้อุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น การหกล้มจากท่ายืนปกติก็สามารถทำให้กระดูกสะโพกหักได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหัก

  • อายุที่มากขึ้น
  • เพศหญิง เนื่องจากมีการสูญเสียมวลกระดูกเร็วกว่าเพศชาย โดยเฉพาะหลังหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ผู้ที่มีปัญหาการดูดซึมวิตามินดีทางลำไส้
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว เช่น มีโรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มมากขึ้น
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาที่ทำให้ง่วงซึม เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด เป็นต้น
  • ผู้ที่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังหรือใช้แรง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อจะน้อย กระดูกและกล้ามเนื้อจะไม่แข็งแรง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

...

ทำไมคนแก่ล้มจึงเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก

ผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกพรุนเนื่องจากสูญเสียมวลกระดูกตามอายุ รวมถึงมักมีโรคประจำตัวหลายชนิด เมื่อมีการล้มแม้เพียงจากอุบัติเหตุเล็กน้อยก็สามารถเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักได้

จะรู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสะโพกหักหรือไม่หลังจากล้ม และอาการที่ต้องมาพบแพทย์

ผู้สูงอายุที่มีการหกล้ม โดยเฉพาะการล้มไปด้านข้าง มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก โดยจะมีอาการปวดสะโพกอย่างมาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรือมีอาการปวดมากเวลาขยับ มีอาการบวม สัมผัสแล้วเจ็บบริเวณสะโพก หัวเหน่า หรือต้นขา อาจมีการผิดรูปของขา โดยขาข้างที่ปวดอาจสั้นและมีการบิดหมุนออกมากกว่าข้างปกติ

การป้องกัน กระดูกสะโพกหัก

การป้องกันการพลัดตกหกล้มมีความสำคัญ สามารถทำได้โดย

1. การกำจัดปัจจัยเสี่ยงในการล้ม เช่น ภาวะทางกายที่ทำให้ทรงตัวไม่ถนัด การตรวจตา ตรวจเท้า การลดหรืองดยาที่อาจทำให้มีอาการง่วงซึม โดยปรึกษากับแพทย์ผู้จ่ายยา การใช้อุปกรณ์ในการช่วยเดิน การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการล้ม

2. การประเมินความเสี่ยงการพลัดตกหกล้มด้วยตนเอง

3. การเสริมสร้างระบบกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้สูงวัย หรือผู้ที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยแล้วก็สามารถป้องกันการเสื่อมมากขึ้นของกระดูก โดย

  • การรับประทานวิตามินดีและแคลเซียมให้เพียงพอ โดยในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี แนะนำให้ได้รับวิตามินดี 600 หน่วยมาตรฐาน และแคลเซียม 1200 มิลลิกรัม
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและกระดูก เพื่อป้องกันการหกล้ม และเสริมสร้างการทรงตัวที่ดี เช่น การเดิน การรำไทเก๊ก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เสียความสามารถในการทรงตัว เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มซึ่งเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้

การรักษากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

การรักษากระดูกสะโพกหัก มีวิธีการรักษา 2 แนวทางคือ การผ่าตัดและไม่ผ่าตัด โดยทั่วไปแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพราะจะให้ผลที่ดีกว่า โดยเฉพาะการผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง แต่อาจมีความเสี่ยงในผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลจะให้คำแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

...

กระดูกสะโพกหัก ไม่ผ่าตัด ได้หรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไรหากไม่ผ่าตัด

ในผู้ป่วยมีความเสี่ยงมากในการเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินได้ตั้งแต่ก่อนเกิดกระดูกหัก หรือผู้ป่วยที่มาพบแพทย์หลังการบาดเจ็บในช่วงที่กระดูกเริ่มมีการประสานกันแล้ว แพทย์อาจแนะนำการรักษาโดยการไม่ผ่าตัด โดยอาจมีการใส่เครื่องถ่วงน้ำหนักเพื่อยืดกล้ามเนื้อ และการจำกัดกิจกรรม เลี่ยงการลงน้ำหนักในขาข้างที่บาดเจ็บ งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรง ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน หรือคอกช่วยเดิน ให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยทั่วไปจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ในการประสานกันของกระดูก มีการวิจัยว่าการใช้คลื่นอัลตราซาวด์หรือกระแสไฟฟ้าพลังอ่อนอาจช่วยในการประสานของกระดูกให้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการไม่ผ่าตัดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก อาจเกิดการติดเชื้อ แผลกดทับ ลิ่มเลือดอุดตันที่ขาหรือที่ปอด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

จะมีทั้งการผ่าตัดยึดกระดูก ผ่าตัดใส่ข้อเทียมบางส่วน และการผ่าตัดใส่ข้อเทียมทั้งชุด ขึ้นกับลักษณะการหักและลักษณะทางกายภาพของกระดูกของผู้ป่วย

ความเสี่ยงของการผ่าตัดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และวิสัญญีแพทย์จะมีการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสมอ และจะพยายามจำกัดความเสี่ยงเพื่อให้ผู้ป่วยมีความพร้อมต่อการผ่าตัดมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือ Minimal Invasive Surgery (MIS) ซึ่งแผลจะเล็กกว่าวิธีผ่าแบบเปิด ผู้ป่วยเจ็บน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า สามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวและเริ่มเดินลงน้ำหนักได้ตั้งแต่ 6-12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด

...

ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล

ขึ้นกับความเร็วในการฟื้นตัวและความแข็งแรงของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด โดยทั่วไปใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลและการกายภาพหลังผ่าตัด 4-7 วันหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหาร ควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ งดยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

ไม่ควรนอนตะแคงทับด้านที่ผ่าตัด หากมีการนอนตะแคงควรมีหมอนหรือหมอนข้างรองขาข้างที่ผ่าตัดไว้เพื่อป้องกันข้อสะโพกหุบ ไม่ควรงอข้อสะโพกมากเกินไป เช่น การนั่งเก้าอี้เตี้ย การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ การก้มเก็บของที่พื้น ก้มใส่กางเกง ถุงเท้า ตัดเล็บ ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดินจนกว่าข้อสะโพกจะแข็งแรงพอ งดการออกกำลังกายและกิจกรรมหนัก การวิ่ง การกระโดด 

ควรมีการทำกายบริหารซึ่งนักกายภาพบำบัดจะแนะนำการบริหารร่างกายและกล้ามเนื้อในท่าทางที่เหมาะสม ระวังการเกิดแผลกดทับ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดแรงกดที่ข้อสะโพก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ สังเกตอาการผิดปกติและมาตรวจตามที่แพทย์นัด

...

การฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก

  • การฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกหัก นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานวิตามินและแคลเซียมเสริมตามที่แพทย์แนะนำ แล้วสามารถทำได้ดังนี้
  • ฝึกการเดิน โดยการเดินในช่วงแรกแนะนำให้ใช้คอกช่วยเดิน (walker frame) โดยผู้ป่วยควรก้าวช้าๆ สั้นๆ ไม่ควรเร่งรีบ เมื่อเดินได้สักระยะอาจเปลี่ยนเป็นใช้ไม้เท้าช่วยเดิน และเพิ่มระยะทางมากขึ้น
  • การฝึกขึ้นลงบันได โดยอาจต้องมีผู้ช่วยในระยะแรก และควรลงบันไดโดยจับราวบันไดเพื่อก้าวลงทีละขั้น
  • การกายบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เช่น

- การนอนเหยียดขา กระดกข้อเท้าขึ้นลง
- การนอนเหยียดขา ใช้ผ้าหรือหมอนหนุนรองที่เข่าและพยายามกดเข่าลง
- การนอนเหยียดขา พยายามงอเท้าเข้ามาหาตัวไปและกลับ โดยควรระวังไม่งอข้อสะโพกเกิน 90 องศา
- การนอนหงาย เหยียดขาตรง พยายามยกขาขึ้นลงเป็นแนวตรง เป็นต้น

โดยนักกายภาพจะแนะนำท่าที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน สิ่งสำคัญคือการป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ โดยการดูแลสุขภาพ และจัดการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

ข้อมูลโดย : นพ. ประวิทย์ สุขเจริญชัยกุล ศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์