ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย กระทบต่อความมั่นใจ ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม ที่สามารถส่งผลถึงปัญหาสุขภาพจิตและการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มเนื่องจากการรีบเข้าห้องน้ำได้ในอนาคต ปัญหานี้เกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้หรือไม่

สาเหตุผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มาจากสาเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

  • ผู้หญิง : เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือน เป็นเหตุให้ผนังท่อปัสสาวะบางลง ลดความสามารถในการปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้หูรูดปิดสนิทได้ยากขึ้น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ปัสสาวะเล็ดได้ง่ายเมื่อไอ จาม หัวเราะ หรือยกของหนัก
  • ผู้ชาย : เกิดจากต่อมลูกหมากโต ขวางทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมาก ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเล็ด
  • ระบบประสาทในการควบคุมการขับถ่ายบกพร่อง มักพบในผู้ป่วยทางจิตเวช เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึมเศร้า สมาธิสั้น วิตกกังวล
  • ติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
  • สภาพร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ได้หรือไม่สะดวก
  • มีอาการไอ จาม เป็นประจำ
  • ท้องผูกเป็นประจำ
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ผู้ที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น

อาการผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ความรุนแรงของอาการ เริ่มตั้งแต่การมีปัสสาวะหยดมาเปื้อนกางเกงในปริมาณที่ไม่มากนัก ไปจนถึงมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาเป็นปริมาณมาก บางครั้งอาจมีอุจจาระเล็ดร่วมด้วย ผู้สูงวัยบางท่านแม้ยังไม่เริ่มมีอาการดังกล่าวแต่ก็อาจเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกอยากปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ทั้งสิ้น

วิธีแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สามารถแก้ไขได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (bladder training)

หรือฝึกการปัสสาวะตามเวลาที่กำหนด เป็นการฝึกเพื่อยืดระยะเวลาของการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น และให้กระเพาะปัสสาวะมีความเคยชินกับปริมาณปัสสาวะที่มากขึ้น โดยเริ่มจากฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นครั้งละประมาณ 30 นาที จนกระทั่งรู้สึกว่าสามารถทนได้ดี (อาจใช้เวลา 3-5 วัน) จากนั้นให้ปรับเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น จนความถี่ในการเข้าห้องน้ำลดลงเป็นทุกๆ 2-4 ชั่วโมง

2. ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle exercise)

ซึ่งทำได้โดยขมิบรูทวารและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (สังเกตการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้จากการพยายามจะกลั้นปัสสาวะ) ระหว่างขมิบให้นับ 1-5 ช้าๆ แล้วคลายกล้ามเนื้อลง ให้ทำซ้ำประมาณ 10-15 ครั้ง จำนวน 3 เซต เป็นประจำทุกวัน และไม่ควรกลั้นหายใจขณะบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

3. การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น

เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่าง ชา กาแฟ โกโก้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยากลุ่ม Anti-muscarinic และ Beta-3 agonist

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

4. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

โดยเฉพาะในบริเวณที่มีฝุ่นหรือกลิ่นแรง ป้องกันการเป็นหวัด เพื่อเลี่ยงการไอ จาม

5. แก้ปัญหาท้องผูก

ด้วยการรับประทานผักผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกาย เป็นต้น

6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เพื่อช่วยลดแรงดันภายในช่องท้อง

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยตนเองได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งจะมีตั้งแต่การรักษาด้วยการฉีดสาร Botulinum toxin, การรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ ไปจนถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อมูลอ้างอิง : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม, รพ.กรุงเทพ