ผู้สูงวัย เป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมากที่สุด เนื่องจากปริมาณแคลเซียมในร่างกายที่ลดลง ซึ่งเราสามารถเติมแคลเซียมให้กับร่างกายได้หลายวิธี นอกจากนี้ในแต่ละช่วงวัยควรได้ปริมาณแคลเซียมที่ต่างกันอีกด้วย

ประโยชน์ของแคลเซียม

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูก โดยร้อยละ 98 ของแคลเซียมอยู่ในกระดูกและฟัน หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่นำมาสู่โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis fracture) โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีการสูญเสียมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อกระดูกบางจนไม่สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกตามปกติได้จะส่งผลให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย ดังนั้นผู้สูงวัยจึงควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อร่างกายและเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้สูงอายุ

หากผู้สูงวัยได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ที่อาจนำไปสู่ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้ (ภาพจาก iStock)
หากผู้สูงวัยได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ที่อาจนำไปสู่ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนได้ (ภาพจาก iStock)

...

ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย

ข้อมูลจากงานวิจัย ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้แนะนำว่าผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ควรได้รับประทานแคลเซียมในปริมาณที่ 1,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งพบได้ในอาหารต่างๆ รวมถึงอาหารเสริม

ขณะเดียวกันก็ไม่ควรกินแคลเซียมคู่กับยาปฏิชีวนะ ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม เช่น Calcium channel blockers ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต และควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคแคลเซียม

ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยอยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ภาพจาก iStock)
ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยอยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ภาพจาก iStock)

นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังควรได้รับสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น แมกนีเซียม วิตามินดี วิตามินซี วิตามินเค และโปรตีน เพื่อให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน

แคลเซียมในอาหาร

เราสามารถพบแคลเซียมได้จากแหล่งอาหารในธรรมชาติมากมาย และหาได้ไม่ยาก เช่น

  • นมและผลิตภัณฑ์จากนมจากสัตว์เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด เพราะนอกจากมีปริมาณแคลเซียมที่สูงแล้ว ยังมีอัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี เช่น นม โยเกิร์ต และชีส
  • นมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง แต่เนื่องจากนมจากพืชจะมีปริมาณแคลเซียมต่ำ ควรเลือกนมจากพืชที่มีแคลเซียมสูงโดยดูจากฉลากโภชนาการให้มีปริมาณแคลเซียมตั้งแต่ร้อยละ 20 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ปลาตัวเล็กและสัตว์ที่กินได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก เช่น ปลาตัวเล็ก ปลาซิว ปลาไส้ตัน ปลากะตัก ปลาฉิ้งฉ้าง ปลาซาร์ดีน และกุ้งฝอย
  • เต้าหู้ เช่น เต้าหู้เหลือง เต้าหู้ขาวแข็ง และฟองเต้าหู้
  • ถั่วแระ และงาดำ
  • ผักใบเขียวกลุ่มที่มีปริมาณแคลเซียมปานกลางถึงสูงและออกซาเลตต่ำ (เนื่องจากออกซาเลต หากมีมากเกินไปจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมได้) เช่น คะน้า กวางตุ้ง ขี้เหล็ก ตำลึง บัวบก และถั่วพู
อาหารต่างๆ ในธรรมชาติมีแคลเซียมอยู่มากมาย และสามารถเสริมด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการได้ (ภาพจาก iStock)
อาหารต่างๆ ในธรรมชาติมีแคลเซียมอยู่มากมาย และสามารถเสริมด้วยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการได้ (ภาพจาก iStock)

...

นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมที่อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยจะมีความแตกต่างกันไปตามรูปเกลือของแคลเซียม เช่น

  • แคลเซียมคาร์บอเนต มีแคลเซียมร้อยละ 40
  • แคลเซียมอะซิเตต มีแคลเซียมร้อยละ 25
  • แคลเซียมซิเตรต มีแคลเซียมร้อยละ 21
  • แคลเซียมแลคเตต มีแคลเซียมร้อยละ 13
  • แคลเซียมกลูโคเนต มีแคลเซียมร้อยละ 9 เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มิลลิกรัม จะมีแร่ธาตุแคลเซียม 400 มิลลิกรัม

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยของผู้สูงอายุทำให้ประสิทธิภาพการดูดซึมของลำไส้ลดลง ส่งผลให้มีอาการท้องผูกได้ง่าย จึงควรบริโภคในรูปแบบของแคลเซียมซิเตรตเพราะจะดูดซึมได้ดีกว่าและลดโอกาสการเกิดอาการท้องผูกได้

หากมีอาการท้องผูกสามารถแก้ไขได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีกากใย และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงวัย

กินแคลเซียมมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

  • รบกวนการดูดซึมแร่ธาตุเหล็กและสังกะสี
  • การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้มีปริมาณแคลเซียมสูงขึ้นในปัสสาวะ (hypercalciuria) และเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดนิ่วในไต ดังนั้นไม่ควรได้รับแคลเซียมเกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับต่อวัน (1,500 มิลลิกรัม/วัน)
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรังหรือการทำงานของไตบกพร่อง ที่อาจมีแคลเซียมในเลือดสูงร่วมกับมีฟอสเฟตในเลือดสูงอยู่เดิม การให้แคลเซียมเม็ดเพิ่มในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะก้อนแคลเซียมใต้ผิวหนัง (soft tissue calcification) หรือที่เส้นเลือด (vascular calcification) ได้

แคลเซียมเป็นสารอาหารที่สำคัญ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ขัดขวางการดูดซึมและเพิ่มการขับแคลเซียม และให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียม เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมได้เต็มที่ และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

...

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี