หน้าฝนเป็นฤดูที่มาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำของสายฝนที่ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ก็มาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน โรคในหน้าฝนที่ผู้สูงวัยควรระวังมีอะไรบ้าง และต้องป้องกันอย่างไร

โรคในหน้าฝนที่ผู้สูงอายุต้องระวัง

1. โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคในหน้าฝนที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน อาการคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี เพราะในแต่ละปีจะมีการพัฒนาวัคซีนให้เหมาะสมกับเชื้อโรคที่มีการระบาดในช่วงเวลานั้น สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือก่อนฤดุฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่มากที่สุด

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะกับผู้สูงวัยคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป (ภาพจาก iStock)
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะกับผู้สูงวัยคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป (ภาพจาก iStock)

...

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะกับผู้สูงวัยคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรง และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดีกว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สูตรมาตรฐาน

2. โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม

โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม คือหนึ่งในโรคในหน้าฝนที่ผู้สูงอายุต้องระวัง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด เกิดจากการติดเชื้อทั้งแบคทีเรีย ไวรัส พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการที่พบคือ

  • มีไข้สูง ตัวร้อน หน้าแดง เหงื่อออก หนาวสั่น
  • ไอ มีเสมหะ
  • เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดตามข้อ
  • ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม รู้สึกสับสน
  • ในทารก หรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ บางรายอาจมีอาการชักจากไข้
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรระวังโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ (ภาพจาก iStock)
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรระวังโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ (ภาพจาก iStock)

เราสามารถป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม ได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น เมื่อเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรรีบรักษาให้หายขาดเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน

นอกจากนี้ควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

3. โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคในหน้าฝนที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) เป็นโรคที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้านเป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวนเป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้ โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

หน้าฝนมักเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค (ภาพจาก iStock)
หน้าฝนมักเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค (ภาพจาก iStock)

...

อาการโรคไข้เลือดออก แบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ

  1. ระยะไข้ ระยะนี้จะมีอาการประมาณ 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา
  2. ระยะช็อก ระยะนี้ไข้เริ่มลดลง มีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรง และเข้าสู่ภาวะช็อกทุกราย ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ เข้าสู่ระยะฟื้นตัว
  3. ระยะฟื้นตัว ในระยะนี้อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดง และมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

การป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถทำได้โดย

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งรอบๆ บริเวณบ้าน
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน
  • ปิดฝาโอ่ง หรือภาชนะอื่นๆ ให้มิดชิด หรือใส่ทรายเคมีกำจัดลูกน้ำในภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าวสัปดาห์ละครั้ง
  • ในผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว หลังจากหายป่วยจากโรคเป็นเวลา 1 ปี ควรรับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก เพราะผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว หากกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนมากอาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

4. โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู เป็นโรคในหน้าฝนที่ผู้สูงอายุต้องระวัง มีพาหะนำโรคคือหนูและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เชื้อนี้จะอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะของสัตว์ เมื่อสัตว์ปัสสาวะลงในน้ำ คนที่เดินย่ำน้ำ หรือทำนา ก็มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง

...

วิธีป้องกันโรคฉี่หนูคือหลีกเลี่ยงการเดินในที่มีน้ำท่วมขัง และควรล้างเท้าให้สะอาดทันทีหลังเดินลุยน้ำสกปรก (ภาพจาก iStock)
วิธีป้องกันโรคฉี่หนูคือหลีกเลี่ยงการเดินในที่มีน้ำท่วมขัง และควรล้างเท้าให้สะอาดทันทีหลังเดินลุยน้ำสกปรก (ภาพจาก iStock)

อาการที่พบคือ มีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดไตวายเฉียบพลัน หรือหากเชื้อทำให้เกิดการอักเสบของตับและทางเดินน้ำดี จะมีอาการตาเหลืองร่วมด้วย

การป้องกันโรคฉี่หนูคือ ควรหลีกเลี่ยงการเดินไปในที่น้ำขัง มีน้ำสกปรก และควรล้างเท้าด้วยน้ำสบู่หลังย่ำน้ำสกปรก หรือหากสงสัยว่ามีอาการของโรคฉี่หนู ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที

5. โรคท้องร่วง

โรคท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาหารกระป๋อง อาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกพอ หรืออาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมง

...

ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคท้องร่วงส่วนใหญ่จะแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการสูญเสียน้ำภายใน 1-2 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท ปริมาณของเชื้อโรค และสารพิษที่ได้รับ แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

หากมีอาการของโรคท้องร่วงควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง (ภาพจาก iStock)
หากมีอาการของโรคท้องร่วงควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง (ภาพจาก iStock)

สำหรับวิธีป้องกันโรคท้องร่วงที่ดีที่สุดคือ

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดก่อนรับประทาน
  • ถ่ายอุจจาระในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะหรือมิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อยๆ ครั้งละ 15-20 วินาที เพื่อชำระสิ่งสกปรกออกให้หมด

ทั้งนี้ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ไม่สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคท้องร่วงได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้าทนทานต่อกรดและแอลกอฮอล์ การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอจะช่วยป้องกันได้ดีกว่า

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเปาโล