หลายคนมักคิดว่าอาการ โรคข้อเข่าเสื่อม มักเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ว่าช่วงอายุเท่าใดหรือวัยไหน ก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ หากไม่ดูแลและป้องกันให้ดี สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) หมายถึง ภาวะความเสื่อมของข้อเข่า ทั้งด้านรูปร่าง โครงสร้าง หรือการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อต่อ รวมทั้งเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นของข้อเข่า เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้มทำให้เนื้อกระดูกชนกันขณะรับน้ำหนัก ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด และเมื่อผ่านไปนานๆ อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนหัวเข่าผิดรูป ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ
ข้อเข่าเสื่อมแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มปฐมภูมิ เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่น การเสื่อมสภาพของข้อเข่าจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักพบในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป รวมถึงการใช้งานข้อเข่ามากๆ
- กลุ่มทุติยภูมิ คืออาการข้อเข่าเสื่อมที่มีสาเหตุบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น อุบัติเหตุที่กระทบบริเวณข้อเข่า การติดเชื้อที่ทำให้หลั่งสารที่ทำลายกระดูกอ่อน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จึงเกิดกับคนที่อายุน้อย
...
นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ผู้ชำนาญการ ข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิมุต อธิบายเพิ่มเติมว่า "คนไข้บางโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ก็อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เพราะการอักเสบที่เป็นซ้ำๆ เป็นๆ หายๆ จะไปเร่งการเสื่อมของเนื้อเยื่อในข้อเข่า"
อาการโรคข้อเข่าเสื่อม
สำหรับอาการโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกไปจนถึงอาการรุนแรงจะมีดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดเล็กน้อยจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- อาจมีอาการติดขัดข้อเข่า ยืดขาได้ไม่เต็มที่
- เข่าเริ่มมีเสียงกรอบแกรบจากการสึกของข้อเข่า
- ในบางกลุ่มอาจทำให้ข้อเข่าเปลี่ยนรูปทรง
- ส่วนมากจะมีภาวะข้อเข่าโก่ง
- ส่วนน้อยข้อเข่าจะเกเข้าด้านใน
“ในทุกอาการจะมีอาการปวดร่วมด้วย และจะเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้จนรบกวนชีวิตประจำวันก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา” นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ อธิบาย
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
สำหรับผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์ และอาจตรวจด้วยเครื่อง MRI ร่วมด้วยในบางราย นอกจากนี้อาจเจาะเลือดเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
"การรักษาโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี อย่างแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การบริหารข้อ ต่อมาคือการรักษาด้วยการทานยาหรือการฉีดยาแก้ปวด เช่น สเตียรอยด์ ส่วนอีกวิธีคือการฉีดน้ำหล่อลื่นข้อเข่า ซึ่งการฉีดยาทั้งสองแบบช่วยลดอาการในระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อฤทธิ์หมดก็จะกลับมาปวดเหมือนเดิม ดังนั้นทั้งสองวิธีจึงเหมือนเป็นการบรรเทามากกว่าจะเป็นการรักษา"
...
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
หนึ่งในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันคือการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพสูง ความเสี่ยงต่ำ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งข้อเข่าเทียมในตอนนี้มีความใกล้เคียงข้อเข่าจริงมากขึ้น และใช้งานได้ยาวนานกว่า 20 ปีในคนไข้ส่วนใหญ่
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบ่งได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเต็มเข่า คือการผ่าเปลี่ยนทั้งสองข้างทั้งด้านนอกและด้านใน แบบที่สองคือ แบบครึ่งเข่า คือการผ่าเปลี่ยนแค่ครึ่งที่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้สามารถเก็บเส้นเอ็นในข้อเข่าไว้ได้ ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า
"ข้อเข่าเทียมนั้นสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงข้อเข่าจริง แต่ต้องระวังกิจกรรมที่มีการพับงอเข่านานๆ เช่น เรื่องการคุกเข่า และหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้ข้อเข่ามากๆ เพราะข้อเข่าเทียมก็สึกหรอได้เหมือนเข่าจริง"
"หลายคนกังวลว่าถ้าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการหนักขึ้นต่อเนื่องจนเดินไม่ได้เลย แต่ในความจริงเรารักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจต้องปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทำกายภาพบำบัด ใช้ยา หรือรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมก็ได้เช่นกัน ข้อเข่าของเราจะได้กลับมาแข็งแรงสมวัย ไม่ต้องมากังวลว่าจะเจ็บเวลาเดินไปไหนมาไหน" นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ กล่าวทิ้งท้าย