- อาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เริ่มด้วยขี้ลืม หากละเลยอาการเริ่มต้น คิดว่าเป็นเพียงความขี้ลืมปกติ อาการอาจแย่ลงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
- ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์จะมีความเสี่ยงสูง แต่หากดูแลสุขภาพอย่างดี สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ
- ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ สามารถช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงควบคุมอาการของโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย
โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ที่พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน ส่งผลให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา สมองจะเสื่อมลงอย่างมากและรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
อาการและความรุนแรง
อาการของโรคอัลไซเมอร์จะดำเนินไปเรื่อยๆ กินเวลาหลายปี โดยจะแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ ดังนี้
อาการระยะแรก
อาการแรกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มด้วยความขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น ย้ำคิดย้ำทำ และถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ ลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ รวมถึงมีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง
อาการระยะปานกลาง
หากผู้ป่วยละเลยอาการเริ่มต้น คิดว่าเป็นเพียงความขี้ลืมปกติ ปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จัก หรือไม่สามารถลำดับเครือญาติคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา นอนไม่หลับ และที่พบบ่อยคือหลงทาง ไม่สามารถหาทางกลับบ้านเองได้ ความรุนแรงของอาการระยะปานกลางอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเกิดภาวะซึมเศร้า
...
อาการระยะสุดท้าย
เป็นระยะที่รุนแรง จนผู้ป่วยเกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจ หรือก้าวร้าวขึ้น อาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหารและกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ ฯลฯ
10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์
- มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆ นี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือบุคคลในครอบครัว คอยช่วยเหลือ
- เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่นลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ
- รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเวลาพักร้อน เช่น ขับรถไปในสถานที่ที่ไปประจำ จำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้
- รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่งๆ เช่น ไม่รู้วันที่ ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ อย่างไร
- รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ บอกสีต่างๆ ยากขึ้น
- รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ
- ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางหรือเก็บไว้และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บรองเท้าไว้ในตู้เย็น
- ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ เมื่อจะไปงานสำคัญ
- มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ
- รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว
หากพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่เริ่มแรกและรับการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด รวมถึงสามารถวางแผนอนาคตให้ตัวเองได้
การชะลอการเกิดอัลไซเมอร์
จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ประจำปี 2562 ที่ลอสแอนเจลิส ระบุว่าการดำเนินชีวิตอย่างรักสุขภาพ จะส่งผลดีต่อสมอง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ได้ โดยการปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- มีกิจกรรมการกระตุ้นความคิด
โดยมีสองงานวิจัยในการประชุมชี้ว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างใส่ใจสุขภาพหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้
รายงานหนึ่งระบุว่า ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์ จะมีความเสี่ยงสูง แต่หากดูแลสุขภาพอย่างดี สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ
สำหรับอีกรายงานได้ยืนยันว่า การพักอาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงสูงวัยที่ใช้สมองอยู่เสมอ มีศักยภาพการทำงานสูง (วัดจากคะแนนการทำงานของสมอง ระยะเวลาที่เรียนหนังสือ หน้าที่การงาน และกิจกรรมทางกายภาพ) มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 21% ต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยได้บริหารสมอง จะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 113%
...
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการใช้ยายับยั้งสารอะเซตีลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) เพื่อลดการทำลายสารความจำในสมอง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงควบคุมอาการของโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์เอกพจน์ นิ่มกุลรัตน์ อายุรแพทย์ด้านโรคสมอง และระบบประสาท โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
...