เมื่อถึงวัยเกษียณ นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อสำรองไว้ใช้ในยามสูงวัยแล้ว การเตรียมพื้นที่ภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน

“อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design” เป็นแนวคิดเรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อม การสร้างสถานที่ และสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมีการออกแบบดัดแปลงพิเศษเพื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ คำนึงถึงการใช้งานที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือลักษณะทางร่างกาย ส่งผลให้หลัก Universal Design เป็นเทรนด์การออกแบบที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรองรับการอยู่อาศัยของผู้บริโภคทุกช่วงวัยได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นอกจากการซื้อบ้านในโครงการที่มาพร้อม Universal Design แล้ว ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เผยแนวทางการออกแบบและปรับพื้นที่บ้านให้รองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย ภายใต้หลักที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและปิดจุดบอดที่เป็นพื้นที่อันตราย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมั่นใจด้วยตัวเอง โดยมี 5 พื้นที่สำคัญที่ควรปรับ เพื่อรองรับบ้านผู้สูงอายุ ดังนี้

...

1. ห้องนั่งเล่น

เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาในการทำกิจกรรมระหว่างวันไม่น้อย พื้นที่ในห้องนี้จึงควรออกแบบให้มีความปลอดโปร่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวกตลอดทั้งวัน จัดวางต้นไม้เพื่อเพิ่มความสดชื่นในห้อง หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์และสะอาดตลอดทั้งวัน โดยควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชั่นไม่ซับซ้อน สะดวกในการใช้งาน และมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปจนเกะกะและทำให้ห้องดูอึดอัด ควรเน้นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ชิดผนังเพื่อให้มีพื้นที่โล่งมากที่สุด ไม่ควรมีของวางเกะกะตามพื้นเพื่อให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกและป้องกันการสะดุดล้ม รวมทั้งรองรับการใช้งานรถเข็นได้สะดวก

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นอกจากนี้ ควรจัดวางของใช้ประจำวัน งานอดิเรก รวมทั้งของใช้จำเป็นหรือยาไว้ที่โต๊ะ ชั้นวาง หรือตู้ที่มีความสูงเหมาะสมและอยู่ในระยะที่ผู้สูงอายุสามารถเอื้อมถึงเองได้ โดยที่ไม่ต้องก้มต่ำเกินไปเมื่อต้องการหยิบใช้งาน การจัดสรรพื้นที่ให้รองรับไลฟ์สไตล์ประจำวันจะช่วยให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรต่างๆ ได้อย่างราบรื่น และเมื่อมีการพึ่งพาตนเองมากขึ้นก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองตามไปด้วย

2. ห้องนอน

ส่วนสำคัญของบ้านที่ผู้สูงอายุใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อพักผ่อน โดยห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่างเพื่อลดการขึ้น-ลงบันได และอยู่ในบริเวณที่มีความสงบ มีความเป็นส่วนตัว และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยควรออกแบบให้ครอบคลุมการอยู่อาศัย เช่น

  • ควรปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดและหกล้ม
  • เตียงนอนต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป พร้อมพื้นที่บริเวณข้างเตียง 90-100 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น หรือบุตรหลานสามารถเข้าไปช่วยดูแลได้
  • ติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง และมีไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพื่อนำทางจากเตียงนอนไปกลับห้องน้ำ หรือเลือกใช้ไฟที่เปิด-ปิดได้ด้วยรีโมต
  • มีโต๊ะข้างเตียงที่หยิบของได้สะดวก โดยเฟอร์นิเจอร์อย่างตู้เสื้อผ้าหรือชั้นวางของควรมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ไม่อยู่สูงจนเกินไปเมื่อต้องใช้งาน
  • ไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุด เลือกประตูแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อกที่ใช้งานง่าย ใช้แรงน้อย รองรับการเข้าออกของรถเข็นได้สะดวก
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

3. ห้องน้ำ

เป็นอีกหนึ่งห้องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสูง นอกจากขนาดของห้องน้ำที่ควรกว้างอย่างน้อย 200 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้รถเข็นแล้ว ควรมีการแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

  • พื้นที่โซนแห้ง เลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุ หรือเลือกอ่างแบบฝังครึ่งเคาน์เตอร์เพื่อให้มีพื้นที่ใต้อ่างสะดวกต่อการใช้งานรถเข็น โดยก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยกหรือก้านปัด ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ มีระดับความสูงที่เหมาะสม และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์เพื่อช่วยให้ลุกนั่งได้ง่าย
  • พื้นที่โซนเปียก บริเวณที่นั่งอาบน้ำต้องมีความแข็งแรง ขนาดและความสูงเหมาะกับผู้สูงอายุ และติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการลุกนั่ง โดยฝักบัวควรติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของที่นั่ง เลือกใช้ฝักบัวที่ปรับระดับความสูงได้และเลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำที่คุมอุณหภูมิได้ ที่สำคัญควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป หรือใช้น้ำยาทากันลื่นมาช่วยเคลือบหน้ากระเบื้องเพื่อป้องกันการลื่นล้มเมื่อพื้นเปียก
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

4. พื้นที่ขึ้นลงบันได

หากห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นบน หรือมีเหตุจำเป็นต้องขึ้นไปชั้นบนของบ้านอาจทำให้ปวดเข่าเวลาขึ้น-ลงบันได หรือมีโอกาสที่อาจจะสะดุดพลัดตกจากบันไดได้ ดังนั้น จึงควรปรับบันไดภายในและภายนอกบ้านให้มีความกว้างที่เหมาะสม ลูกตั้งบันไดสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างอย่างน้อย 30 เซนติเมตร

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

จมูกบันไดควรมีสีแตกต่างจากพื้นผิวของบันไดเพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่างของบันไดได้ชัดเจน ควรมีราวบันไดทั้ง 2 ข้างในระยะ 80 เซนติเมตรจากพื้น และมีแสงสว่างให้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ติดตั้ง “ลิฟต์บันได” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุในการขึ้นลงชั้นบนโดยไม่ต้องเดินเอง

5. สวนและภูมิทัศน์รอบบ้าน

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ และทำสวนปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกในยามว่าง จึงควรปรับพื้นที่ให้ร่มรื่น และเป็นระเบียบ

...

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  • ทางเข้าบ้านและบริเวณสวนควรทำให้เป็นพื้นทางเดินเรียบ ไม่ขรุขระ และไม่ปูพื้นทางเดินด้วยหินที่อาจทำให้เสียการทรงตัวและมีโอกาสลื่นได้ หากพื้นที่สวนมีบริเวณกว้าง ควรมีที่นั่งสำหรับชมธรรมชาติเป็นระยะ โดยที่นั่งพักควรมีราวจับหรือเท้าแขน เพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกได้สะดวก
  • ในกรณีที่มีทางลาดเข้าบ้าน ควรมีความชันไม่เกิน 1:12 มีพื้นที่ว่างหน้าทางลาดไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร มีขอบกั้นและราวจับตลอดแนวทางลาด ใช้วัสดุพื้นผิวไม่ลื่น หรือติดเทปกันลื่นเพิ่มเพื่อช่วยให้รองเท้าสามารถยึดเกาะพื้นได้ดีขึ้น สำหรับความกว้างทางเดินควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตรเพื่อรองรับการใช้รถเข็น
  • หากผู้สูงอายุชอบการทำสวน ควรเลือกการปลูกในกระบะที่ระยะความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร หรือปลูกต้นไม้แบบสวนแนวตั้ง เพื่อลดการก้มเงยหรือลุกนั่งบ่อยๆ ที่อาจจะทำให้ปวดหลัง หรือก่อให้เกิดอาการหน้ามืดและหกล้มได้

การเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเป็นการเตรียมความพร้อมที่ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น เพราะอุบัติเหตุต่างๆ มักเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะกับพื้นที่ใกล้ตัวที่เรามักจะมองข้าม