การเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งนอกจากเป็นการเปิดประตูก้าวสู่วัยผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ชีวิตหลังวัยเกษียณเราจะต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย การเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือกับอนาคตที่จะต้องมาถึงตั้งแต่ในวัยทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เราใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณมาไว้ดังนี้

1. เตรียมกาย

เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว สิ่งที่ต้องพบเจอเป็นอันดับแรกคือการเสื่อมโทรมของร่างกายที่เป็นไปตามวัย ดังนั้นการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้น ด้วยการวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารหวานและไขมันสูง

รวมทั้งควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อให้รู้ว่า มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ จะได้หาวิธีป้องกันและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วย นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะทำให้มีโอกาสตรวจพบโรคในช่วงเริ่มต้น ซึ่งรักษาให้หายขาดได้ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปล่อยไว้จนร่างกายทรุดหนัก

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

สำหรับวัยเกษียณ “ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ” ตั้งแต่ค่าดูแลสุขภาพไปจนถึงค่ารักษาพยาบาล จะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด และจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่คนไทยก็ยังถือว่าโชคดี ที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือ “สวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่ภาครัฐจัดไว้ให้ประชาชน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  1. สวัสดิการข้าราชการ : ข้าราชการเกษียณที่เลือกรับเงินบำนาญ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะจะยังคงได้รับสิทธิรักษาพยาบาลต่อเนื่อง แถมยังได้รับสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีอีกด้วย
  2. กองทุนประกันสังคม : แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนเดิมแล้ว วัยเกษียณก็ยังสามารถรักษาสิทธิผู้ประกันตนได้ โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือผู้ประกันตนโดยสมัครใจ
  3. สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น : ข้าราชการหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ หรือสถานพยาบาลท้องถิ่น
  4. สวัสดิการของหน่วยงานอื่นๆ : รัฐวิสาหกิจยังให้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกษียณอายุไปแล้ว หรือยังให้สิทธิพนักงานที่เกษียณอายุสามารถเข้ามาใช้บริการห้องพยาบาลขององค์กรได้เช่นเดิม
  5. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : คนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นจากรัฐบาลจะได้สิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง โดยต้องไปลงทะเบียนสมัครกับหน่วยงานที่กำหนด และเลือกโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในเขตอาศัย 1 แห่ง


2. เตรียมใจ

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน การดูแลจิตใจเป็นเรื่องสำคัญเสมอ เพราะ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” และเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่พลังกายเริ่มถดถอย ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับพลังใจมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะถ้าปล่อยให้ใจป่วย กายก็จะป่วยตามไปด้วย

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  • มีเวลาว่างมากขึ้นก็รู้สึกเหงา : ลองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี วาดรูป ทำงานฝีมือ หรือออกไปดูหนังฟังเพลง ท่องเที่ยว ทำบุญ กิจกรรมกลุ่มต่างๆ หรือกิจการเล็กๆ น้อยๆ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย รู้สึกเศร้า : วิธีผ่อนคลายจิตใจให้สงบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การมองโลกในแง่บวก เข้าวัด นั่งสมาธิ ฟังธรรม หรือออกกำลังกาย ที่นอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้จิตใจแจ่มใสได้ เพราะช่วยคลายเครียดและทำให้เซลล์สมองทำงานดีขึ้น
  • ต้องพึ่งพาคนอื่น รู้สึกไม่มีค่า : ควรนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เช่น ไปเป็นที่ปรึกษา วิทยากร อาสาสมัคร หรือทำกิจกรรมการกุศล นอกจากนี้ควรทำกิจวัตรประจำวันของตนเองให้มากที่สุดโดยไม่ต้องให้ใครมาดูแล

3. เตรียมที่อยู่อาศัย

...

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในวัยเกษียณ เช่น

  • ย้ายห้องนอนมาอยู่ชั้นล่างหรือย้ายไปอยู่บ้านชั้นเดียว เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินขึ้นลงบันได หรืออาจจะติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขึ้นไปชั้นบน เช่น เก้าอี้เลื่อนขึ้นบันได
  • ปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ โดยติดราวจับช่วยพยุง เปลี่ยนพื้นห้องน้ำเป็นแบบกันลื่น ขยายขนาดห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และประตูให้กว้างขึ้น เผื่อให้รถเข็นเข้าได้
  • เตรียมแผนฉุกเฉินในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องใช้บริการรถพยาบาลและเตียงหาม จะจัดวางพื้นที่ในบ้านอย่างไร เพื่อให้เข้ามารับตัวได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ที่สำคัญคืออย่าลืมศึกษาสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากภาครัฐ หรือสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพราะมีสิทธิประโยชน์มากมายที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ดี เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่ควรได้รับจากรัฐบาล จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข

...