เชื่อหรือไม่ว่าการมีอุปนิสัยที่ดี มีพลังในแง่บวกก็ช่วยให้เราอายุยืนได้ บุคลิกภาพหรือนิสัย (personality traits) จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และยืดอายุขัยให้อยู่ไปนานๆ แต่ในทางกลับกัน นิสัยที่ไม่ดีก็มักทำให้เราป่วยง่าย แถมชีวิตยังเครียดหนักอีกต่างหาก ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เราเจ็บป่วย แต่ข่าวดีก็คือ นิสัยคนเรานั้นไม่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด (ที่มา: Greater Good Magazine) ดังนั้น ใครเผลอมีนิสัยชวนป่วยติดตัวอยู่ ก็ไม่ต้องกังวล รีบปรับเปลี่ยนนิสัยกันนะ
1. เคล็ดลับอายุยืน มองโลกในแง่ดี เพื่อหัวใจที่เบิกบาน
มีงานวิจัยยืนยันว่า การมองโลกในแง่ดีเปรียบเสมือนยาวิเศษที่ส่งผลดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวมของเรา งานวิจัยปี 2019 ในกลุ่มคนกว่า 70,000 คน จากวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เผยว่า คนที่มองโลกในแง่ดีมีแนวโน้มใช้ชีวิตแบบสายเฮลตี้ และมีโอกาสอายุยืนถึง 85 ปีขึ้นไป มากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า ทำไมคนมองโลกในแง่ดีถึงมีสุขภาพแข็งแรงกว่า แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยทางร่างกายและพฤติกรรม คนมองโลกในแง่ดีมักจะมีระดับการอักเสบในร่างกายต่ำ มีไขมันดีสูง แถมยังมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพด้วย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และอื่นๆ
...
คนมองโลกในแง่ดี เวลาป่วยจะมีพลังต่อสู้กับโรคได้มากกว่าและฟื้นตัวไวกว่า อีกทั้งยังยืดหยุ่น ปรับตัวเก่ง และไม่ค่อยเครียดด้วย ลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากมาย ทั้งความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือด โรคทางเดินอาหาร ปวดเรื้อรัง ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้า และวิตกกังวล (ที่มา: GoodRx)
ถึงพันธุกรรมจะมีผลประมาณ 25-30% แต่ปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้ การศึกษา สถานที่อยู่ หรือแม้แต่สถานะทางสังคม ก็ส่งผลต่อการคิดบวกได้ (ที่มา: Harvard Health Publishing) แต่สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ทัศนคติเราก็อาจเปลี่ยนตามได้ แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะเราสามารถฝึกให้ตัวเองคิดบวกได้
ฝึกมองโลกในแง่ดีได้ เช่น มองหาโอกาสท่ามกลางความท้าทาย เหมือนเจอทางลัดบนเส้นทางขรุขระ ทำให้มีพลังสู้ต่อ ช่วงเครียดๆ ก็เลือกทำกิจกรรมดีๆ ดีกว่าพึ่งเหล้าบุหรี่ และฝึกขอบคุณบ่อยๆ ซึ้งใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเติมพลังบวกให้ตัวเอง
2. เคล็ดลับอายุยืน ต้องมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง
นิสัยมุ่งมั่น (conscientiousness) คือ การมีระเบียบ รับผิดชอบ และขยันในการกระทำของตน คนที่มีความมุ่งมั่นสูงจะละเอียด รอบคอบ น่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบในหน้าที่สูง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชี้ว่า คนเหล่านี้มักมีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาวอีกด้วย (ที่มา: การศึกษาจาก Health Psychology)
ทำไมคนที่มีนิสัยมุ่งมั่น (conscientious) มักสุขภาพดีและอายุยืนกว่าคนอื่น คำตอบคือ คนเหล่านี้มักเลือกวิถีสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้ามากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังใส่ใจสุขภาพเชิงรุก ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ รักษาโรคไม่ปล่อยปละละเลย ตลอดจนมีวินัยสูงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้ดีและรวดเร็วขึ้น
คนที่มีนิสัยมุ่งมั่นไม่ได้แค่สุขภาพกายดีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สุขภาพจิตดีด้วยเพราะเครียดน้อย ซึ่งลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่เกิดจากความเครียด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า รวมไปถึงปัญหาระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อสุขภาพสมองที่ดีขึ้น ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
แม้ว่านิสัยมุ่งมั่น (conscientiousness) จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม (ที่มา: Scientific Reports) แต่ก็สามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เป็นแบบนี้ได้ โดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนและจัดระเบียบงานประจำวันให้ชัดเจน มีกำหนดเวลาและลำดับความสำคัญ (ที่มา: Foundry)
3. เคล็ดลับอายุยืน เข้าสังคม พบปะผู้คนบ้าง
ลองสังเกตตัวเองดูสิว่า เป็นคน "ชอบเข้าสังคม" (extrovert) หรือ "ชอบอยู่เงียบๆ" (introvert) คนที่ชอบเข้าสังคมมักจะสนุกเวลาอยู่กับคนเยอะๆ ยิ่งคุย ยิ่งมีพลัง ชอบหาอะไรใหม่ๆ ทำ ส่วนคนที่ชอบอยู่เงียบๆ กลับรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่คนเดียว ชอบคิดทบทวน มองโลกภายในตัวเอง เติมพลังด้วยกิจกรรมที่ลึกซึ้งและใช้สมาธิ ซึ่งทั้งสองแบบมีข้อดีที่ต่างกัน แต่มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า คนที่เข้าสังคมบ่อยและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มักมีระดับโมเลกุล Interleukin-6 ต่ำ ซึ่งโมเลกุลนี้เกี่ยวข้องกับความเครียด คนที่มีระดับโมเลกุลนี้สูงจะรับผลกระทบจากความเครียดง่าย เสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ที่เกิดจากความเครียดได้มากกว่า (ที่มา: Futurity)
...
เพราะอะไรคน "ชอบเข้าสังคม" (extrovert) ถึงมีสุขภาพดีกว่าคน "ชอบอยู่เงียบๆ" (introvert) งานวิจัยจาก Scientic American ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาแอ็กทีฟกว่า ไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉงจะช่วยลดอาการอักเสบ ความเครียด และลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ได้ นอกจากนี้ สุขภาพจิตที่ดีขึ้นยังส่งผลให้มีความสุขมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ Centers for Disease Control and Prevention พบว่า การมีสุขภาพจิตดีจะส่งผลดีอย่างมากต่อสุขภาพกาย เช่น ภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจและเบาหวาน เป็นต้น
แม้จะเป็นคนติดบ้าน ไม่ค่อยชอบออกไปพบปะผู้คน แต่การดูแลรักษาสายสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ลองหาเวลาทำกิจกรรม เช่น เดินเล่น หรือเดินป่าท่ามกลางธรรมชาติตามลำพังหรือกับเพื่อน ก็เป็นวิธีที่ดีในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แถมยังช่วยให้จิตใจเบิกบาน ไม่ห่างไกลจากตัวตนของคุณ
4. เคล็ดลับอายุยืน เปิดใจกว้างรับสิ่งใหม่ๆ
...
การเปิดใจกว้างลองประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นนิสัยที่บ่งบอกถึงความอยากรู้อยากเห็น มีจินตนาการที่กว้างไกล ชอบทดลองสิ่งแปลกใหม่ และยอมรับความแตกต่าง การก้าวออกจากกรอบความคิดเดิม พบปะผู้คนใหม่ เดินทางท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ล้วนช่วยขยายโลกทัศน์ ช่วยให้เราเข้าใจโลกใบนี้และผู้อื่นมากขึ้น ส่งผลต่อความสุขและสุขภาพที่ดีในระยะยาว
คนที่มีความสุขกว่ามักมีระดับความเครียดที่ต่ำลง และรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตมากขึ้นด้วย ทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อสุขภาพกายและการป้องกันโรค การศึกษาจาก Social Psychological and Personality Science พบว่า คนที่มีนิสัยใจคอเปิดกว้างมีความเสี่ยงต่อโรค และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุต่ำกว่า ส่วนอีกการศึกษาจาก PLOS ONE แสดงให้เห็นว่า หญิงที่มีนิสัยเปิดกว้าง สามารถอดทนและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กดดันได้ดีกว่า การตอบสนองต่อความเครียดในระดับปานกลาง ช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อระบบหัวใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่สูง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีนิสัยเปิดกว้างที่มีอัตราการเต้นของหัวใจในระดับที่ต่ำกว่า การลดภาวะเครียดต่อหัวใจในระยะยาวจะเสริมให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น
...
คุณเคยฝันอยากเป็นคนที่มองโลกกว้างไกล ใจเปิดรับประสบการใหม่ๆ บ้างไหม ไม่ยากเลย เพียงแค่ก้าวออกจาก comfort zone ออกไปผจญภัยในดินแดนแปลกใหม่ สนทนากับผู้คนหลากหลาย เรียนรู้ทักษะใหม่หรือหางานอดิเรกใหม่สักอย่าง ทุกประสบการณ์ใหม่ๆ คือ บันไดสู่โลกกว้าง ขยายกรอบความคิด และเพิ่มพูนความเข้าใจให้กับตัวเอง
5. เคล็ดลับอายุยืน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้ใจเป็นสุข สุขภาพแข็งแรง
การเห็นอกเห็นใจ (Agreeableness) ไม่ใช่แค่ตอบตกลงกับทุกอย่างตลอดเวลา แต่คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านความร่วมมือ เห็นอกเห็นใจ และใส่ใจผู้อื่น (ที่มา: Berkeley Well-Being Institute) คนแบบนี้มักเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์มากกว่า เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนรอบข้างได้ดีกว่า สามารถสร้างและรักษาสายสัมพันธ์ที่ดี ทำให้มีเครือข่ายสนับสนุนที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะของตน ตลอดจนมีการสื่อสารกับผู้คนในทางบวกมากกว่าและเครียดน้อยกว่า ซึ่งทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากความเครียดได้
จากงานวิจัยพบว่า คนที่มีอัธยาศัยดีมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ ขับขี่ขณะมึนเมา หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ที่มา: the European Journal of Personality) ในทางตรงกันข้าม คนเหล่านี้มักมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพมากกว่า เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งานวิจัยขนาดใหญ่ปี 2022 ในวารสาร Frontiers in Psychology ยังสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า คนอัธยาศัยดีมักบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักใบเขียว ปลา และผลไม้ แถมยังมีวิธีจัดการความเครียดในเชิงบวก มากกว่าจะพึ่งพาสารเสพติดหรือกินมากจนเกินไป (ที่มา: Evidation)
อยากมีอายุยืนอย่างมีความสุขไม่ใช่เรื่องยาก แค่เพียงปรับเปลี่ยนอุปนิสัยที่สร้างพลังบวกให้กับตนเองและคนรอบข้าง ก็ช่วยส่งผลในแง่ดีทั้งด้านจิตใจภายในไปจนถึงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย
ที่มา : Health Digest