ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองเสื่อม มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันก็พบว่าในคนวัยทำงาน อายุ 30 ปีขึ้นไป ก็พบว่าป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน หากว่าตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ควรต้องรับมืออย่างไรบ้าง

โรคสมองเสื่อมคืออะไร

โรคสมองเสื่อม คือ ชื่อกลุ่มอาการที่มีการทำงานของสมองในด้านความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อมผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาทางความคิด การตัดสินใจ พฤติกรรม และอารมณ์ผิดปกติไป ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนในที่สุดผู้ป่วยหลายคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากสถิติทางระบาดวิทยาพบว่าผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 100 คน มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม 5 คน และเมื่ออายุมากขึ้น อัตราการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นอีก ถ้าคนอายุยืนถึง 80 ปี จะพบโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คน

โรคสมองเสื่อม ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบว่าวัยทำงานตั้งอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อของสมอง ภาพจาก iStock
โรคสมองเสื่อม ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบว่าวัยทำงานตั้งอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อของสมอง ภาพจาก iStock

...

ที่น่ากังวลคือภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย หรือในวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ก็สามารถพบได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อของสมอง การได้รับสารพิษ เป็นต้น ทำให้เซลล์สมองฝ่อเหี่ยวลง ส่งผลให้มีปัญหาในด้านความจำ ความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม

สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อย มี 2 ชนิด คือ

1. โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรง หรือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยช่วงแรกผู้ป่วยจะมีสมองฝ่อลง โดยเฉพาะสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ หลังจากนั้นสมองส่วนอื่นๆ จะมีการฝ่อตามมาจนมีผลต่อความคิด การตัดสินใจ การพูดสื่อสาร ตลอดจนมีปัญหาพฤติกรรมตามมาได้ อาการของโรคนี้จะค่อยๆ รุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ การตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่เริ่มแรกจะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคให้เกิดช้าลงได้ จึงควรให้ความใส่ใจกับอาการหลงลืมที่พบในผู้สูงอายุ ถ้ามีอาการหลงลืมบ่อยขึ้นจนเกิดผลเสีย เช่น ของหายบ่อย ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ จำเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ ทั้งนี้ การสังเกตอาการจากผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยก็มักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยลืมอะไร และคิดว่าตนเองเป็นปกติดี

2. โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ (vascular neurocognitive disorder)

ยิ่งอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุก็ยิ่งมีโรคประจำตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เส้นเลือดเล็กๆ ในสมองแตกหรือตีบตันได้ มีผลต่อเนื้อสมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้สมองส่วนความคิด ความจำ การรับรู้เสียหายไปด้วยได้

นอกจากอัลไซเมอร์แล้ว โรคประจำตัวบางอย่างของผู้สูงวัยก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน ภาพจาก iStock
นอกจากอัลไซเมอร์แล้ว โรคประจำตัวบางอย่างของผู้สูงวัยก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน ภาพจาก iStock

นอกจากสาเหตุการเกิดโรคสมองเสื่อม 2 ชนิดข้างต้นนี้แล้ว โรคสมองเสื่อมยังเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะโพรงสมองโต มีเลือดคั่งหรือเนื้องอกที่สมอง การติดเชื้อในสมอง เช่น โรคซิฟิลิส หรือโรคเอดส์ รวมถึงการขาดวิตามินที่สำคัญต่อการทำงานของสมอง เช่น วิตามินบี 12 เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อสังเกตว่าตนเองหรือผู้ใกล้ชิด มีปัญหาเรื่องความจำ การพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยจึงมีความสำคัญมากเพื่อหาสาเหตุ และถ้าเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาได้ การแก้ไขที่ทันท่วงทีจะทำให้อาการโรคสมองเสื่อมดีขึ้นได้

...

9 วิธีรับมือเมื่อตนเองเป็นโรคสมองเสื่อม

หากได้รับการยืนยันจากแพทย์หลังตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม สิ่งที่เราควรรับมือเพื่อเตรียมตัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้มีอะไรบ้าง

  1. ค่อยๆ ตั้งสติ ให้เวลาตัวเอง ปรับตัวปรับใจ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
  2. ปรึกษาแพทย์ ถึงแนวทางรักษาและแหล่งประโยชน์ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ เช่น สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
  3. ทำความเข้าใจกับครอบครัว เริ่มวางแผนอนาคตเกี่ยวกับการดูแล
  4. จัดการธุรกรรมและทรัพย์สินต่างๆ เช่น การเงิน ที่ดิน กรมธรรม์ ทำพินัยกรรม
  5. ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
  6. ทำสมุดช่วยจำ ไว้จดบันทึกเกี่ยวกับตัวเอง ครอบครัว เพื่อน ภาพถ่าย จดสิ่งต่างๆ กันลืม
  7. ดูแลสุขภาพกายและใจ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ดูแลรักษาโรคประจำตัวไม่ให้อาการกำเริบ มีเพื่อน มีสังคม
  8. ใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมให้มากที่สุด อาจหาเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยสนับสนุน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างเป็นสำคัญ
  9. เตรียมแนวทางการดูแลสุขภาพตนเองที่ต้องการในอนาคต เมื่อสมรรถภาพสมองเสื่อมลงจนไม่สามารถตัดสินใจได้ เช่น ทำพินัยกรรมชีวิต

โรคสมองเสื่อม เป็นภัยเงียบที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ตัว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปคือการยอมรับและทำความเข้าใจอาการป่วยของโรคนี้ และควรเตรียมตัวหลายๆ ด้านเพื่อรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอย่างมีสติ เพื่อตัวเราเองและคนรอบข้างให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รพ.พญาไท, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม

...