การมีอายุขัยที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีคือสิ่งที่ผู้สูงวัยหลายคนต้องการ รวมถึงคนทั่วไปในวัยทำงานที่อนาคตก็ต้องก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างเลี่ยงไม่ได้ การดูแลตนเองแต่เนิ่นๆ อย่างถูกวิธีเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนอย่างมีความสุข โดยไม่เป็นภาระของคนรอบข้างและระบบสาธารณสุข คือเทรนด์สุขภาพที่มาแรงในปี 2567
ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าคณะนักวิจัยฯ บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO เผยว่า ปัจจุบันนี้ การดูแลตัวเองในแบบองค์รวมกำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยจะเป็นการมองหาวิธีดูแลและเข้าใจทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้วก็ตาม เพราะในแง่ของสุขภาพนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ไม่ควรรอให้เกิดโรคก่อนแล้วจึงไปปรึกษาแพทย์ ด้วยเหตุนี้หัวใจสำคัญที่สุดคือการมีอายุที่ยืนยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนวัยแรงงานในอนาคต
เราจึงต้องเตรียมตัวและปรับตัวให้มีช่วงเวลาในการทำงานยาวขึ้น การดูแลสุขภาพในแบบเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอสำหรับปัจจุบัน โดยเทรนด์การดูแลสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และจะช่วยให้คนไทยมีอายุยืนยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ได้แก่
1. Holistic health care การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2567 การให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องสุขภาพร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ในอนาคตสุขภาพที่ดีต้องหมายรวมถึงชีวิตที่มีความสุขแบบองค์รวม นั่นคือ ความสุขที่มาจากร่างกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตใจที่เบิกบาน
...
โดยเทรนด์นี้กำลังเป็นที่สนใจของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้คนกำลังมองหาวิธีการสร้างสมดุลให้กับทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งการรักษาหรือยาอีกต่อไป
2. การดูแลสุขภาพ และโภชนาการแบบรายบุคคล
อีกเทรนด์หนึ่งที่สำคัญและกำลังเป็นที่นิยมมาก คือ การดูแลสุขภาพและโภชนาการแบบรายบุคคล โดยเราจะต้องรู้จักร่างกายของเราก่อนว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร ขาด หรือมีอะไรที่มากเกินไป จากนั้นจะเน้นไปที่การวางแผนโภชนาการที่ปรับให้เหมาะสมกับพันธุกรรม เพศ ชีวภาพ และเป้าหมายด้านสุขภาพของเราหรือของแต่ละบุคคล อาหารที่มีประโยชน์ที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. การฝึกสติ และการสร้างสุขภาพจิตที่ดี
จิตใจมนุษย์ถือเป็นพื้นฐานของความสุขทั้งปวง หากจิตป่วยร่างกายก็ยากที่จะแข็งแรงสมบูรณ์ได้ ความกดดันของสังคมในปัจจุบัน เป็นต้นเหตุให้เกิดความเครียดได้ง่าย ทำให้เกิดโรคทางจิตตามมามากมาย เช่น โรคซึมเศร้า ดังนั้น จิตจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ความสำคัญของสุขภาพจิตคือการเน้นไปที่การฝึกสติ ลดความเครียด และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยกิจกรรมที่จะช่วยฝึกสติได้ เช่น การทำสมาธิ การทำโยคะ และการฝึกการหายใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
4. การใช้อาหารเป็นยา
การทานอาหารที่ดี เท่ากับว่าเป็นการเสริมสร้างสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ยิ่งเรารักษาสุขภาพด้วยการกินดี พักผ่อนดี ออกกำลังกายดี ชีวิตก็จะดีได้ไม่ยาก ในปัจจุบันการแพทย์ได้วิจัยออกมาแล้วว่าอาหารหลายๆ ชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้ ฉะนั้นการกินอาหารจากธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารเคมี จะทำให้ร่างกายถูกซ่อมแซมได้มากกว่าการกินยาเคมี โดยอาหารที่รับประทานควรเลือกชนิดที่ดูดซึมได้ง่าย ช่วยเสริมสร้างให้ระบบการทำงานของร่ายกายมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่สมดุล และเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
5. การกินอาหารที่ทำมาจากพืช
การทานอาหาร plant-based คือ การทานอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร ถั่ว และธัญพืชที่ไม่ขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุด โดยมีงานวิจัยรองรับในเชิงวิชาการมากมายว่าการทานอาหาร plant-based ช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น อาการเจ็บป่วยต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดในสมอง นอกจากนี้ การทานอาหาร plant-based ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มการได้รับวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย
...
6. การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สมดุล
ภูมิคุ้มกันคือระบบป้องกันของร่างกายที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ และความไม่สมดุลของการทำงานในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ การสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ โรคร้ายเรื้อรังที่เราพบเจอทุกวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคและจุดอ่อนของร่างกายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง อีกทั้งการรักษาภูมิคุ้มกันที่ดีช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ทั้งยังมีผลต่อระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าเช่นกัน
ดังนั้น การดูแลสุขภาพที่ดีจะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญการดูแลสุขภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพง เราสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้และทักษะที่เหมาะสม โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สมดุล
...
ภาพ : iStock