โรคอัลไซเมอร์ เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมของเซลล์สมองทุกส่วน ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่สามารถชะลอการเกิด หรือเสื่อมถอยของเซลล์สมองให้ช้าที่สุดได้

สัญญาณเตือนอาการอัลไซเมอร์

จากข้อมูลสถิติระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก พบว่า ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ 85 ปี เป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุ 95 ปี ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-3 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น อาการต่อไปนี้คือสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์

  1. ระยะแรก มีอาการเด่นเรื่องหลงลืม จำเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่ได้ ถามหรือพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ วางของแล้วหาไม่เจอ ของหายบ่อยๆ
  2. มีปัญหาในการใช้ภาษา นึกคำไม่ออก ใช้คำผิด
  3. ไม่มีสมาธิ หรือมีใจจดจ่อกับเรื่องราวได้นานๆ
  4. มีปัญหาเรื่องมิติ การกะระยะและทิศทาง เช่น หลงทางบ่อยๆ ขับรถเฉี่ยวชนบ่อยขึ้น
  5. มีปัญหาในการบริหารจัดการ วางแผน แก้ไขปัญหาไม่ได้ คิดใช้เหตุผลได้ไม่เหมาะสม
  6. สูญเสียทักษะในการทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนที่เคยทำได้ เช่น การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ ทำอาหาร เป็นต้น
  7. บุคลลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีอาการทางจิต เช่น มีอาการระแวง หึงหวงทั้งที่ไม่เคยเป็น พูดจาหยาบคาย วิตกกังวล หวาดกลัวไม่สมเหตุสมผล
  8. มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ มีความสนใจสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่สนใจเข้าสังคม แยกตัว เฉื่อยชา ไม่ทำอะไร ไม่สนใจคนรอบข้าง

การเสื่อมถอยและอาการต่างๆ ข้างต้นจะเริ่มเห็นชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก เรียกว่า ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) สักระยะหนึ่ง ก่อนที่อาการจะเสื่อมถอยมากขึ้นในเวลาต่อมา จนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม

...

เมื่อมีความรุนแรงมากจะกระทบความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันที่ผู้ป่วยเคยทำได้ และในระยะหลังๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร ด้วยตนเองได้

วิธีป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

แม้ว่าจะยังไม่สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ 100% แต่เราก็ยังมีวิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกัน หรือลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เร็วขึ้นได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • บริหารสมองหรือทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมอง
  • พบปะผู้คนและมีกิจกรรมทางสังคมที่มากกว่าการใช้สื่อออนไลน์ และคอยดูแลสุขภาพจิต ไม่เครียด ลดโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า
  • ออกกำลังกายต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังโรคประจำตัวที่อาจเกิดขึ้นใหม่
  • รวมถึงควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันสูง และไขมันในเลือดสูง
  • รับประทานอาหารสายสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน ให้มีดัชนีมวลกาย ไม่เกิน 30
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่
  • นอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพการนอนที่ดี
  • ฝึกสมาธิตามแนวพุทธศาสนา หรือตามแนวทางอื่นๆ ที่ถนัด
  • เลี่ยงมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้เครื่องกรองอากาศ
  • ระวังอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ทั้งในวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ
  • ระวังเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน
  • ดูแลหูและการได้ยิน หากมีอาการหูตึง ควรใส่เครื่องช่วยฟัง

วิธีดังกล่าวคือแนวทางในการปฏิบัติตนให้ห้างไกลและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะยาวได้ และยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, รพ.เปาโล