ผู้สูงอายุหกล้ม อุบัติเหตุที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่ไม่เล็กสำหรับผู้สูงวัย เพราะการหกล้มของผู้สูงอายุส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด และอาจส่งผลถึงชีวิตของผู้สูงวัยในระยะยาวอีกด้วย แต่เราสามารถป้องกันอุบัติเหตุนี้ได้

ผู้สูงอายุหกล้ม มีสาเหตุจากอะไร

ปัญหาหกล้มในผู้สูงอายุมีอันตรายกว่าคนวัยอื่นหลายเท่าตัว และในผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงและทรงตัวได้ไม่ดีพอ โดยในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% ไม่เพียงเท่านั้น จากสถิติเกี่ยวกับการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

ผู้สูงอายุหกล้มส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

หากผู้สูงอายุหกล้ม จะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ศีรษะ ฯลฯ เกิดการกระแทก และมีอาการบาดเจ็บตามมา อาจบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงบาดเจ็บรุนแรง และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต โดยปัญหาการหกล้มเกิดมากกับผู้สูงอายุ และมีความอันตรายมากกว่าคนวัยอื่น จากสถิติยังพบว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย 3 คนต่อวัน แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม

นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายภายนอกของผู้สูงอายุแล้ว การที่ผู้สูงอายุหกล้มยังส่งผลกระทบถึงจิตใจของผู้สูงอายุเองด้วย เพราะทำให้เกิดความกังวล ขาดความมั่นใจในการเดิน กลัวการหกล้ม อาจเกิดภาวะซึมเศร้าทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจของคนรอบข้าง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ถ้าหากมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปอีก

...

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม

สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. ปัจจัยภายในที่มาจากร่างกายของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย โรคประจำตัว ผลข้างเคียงจากการกินยารักษาบางชนิด

  • สมองประมวลผลช้าลง คิดช้า การตัดสินใจช้า
  • ปฏิกิริยาตอบสนองช้า การเคลื่อนไหวช้าลง
  • สายตาไม่ดี
  • หน้ามืดวิงเวียนง่าย
  • กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอ่อนแอลง ข้อต่อตึงแข็ง ไม่คล่องตัวเหมือนก่อน
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เมื่อรีบเข้าห้องน้ำทำให้เสี่ยงหกล้มง่าย
  • การกินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยารักษาอาการชักและปวดเส้นประสาท ยาคลายวิตกกังวล ยานอนหลับ ยารักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุน ยารักษาปัสสาวะขัด ยารักษาอาการทางจิต
  • โรคที่มักจะมาเยือนเมื่อถึงวัยสูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน ฯลฯ
ดูแลทำความสะอาดพื้นบ้านไม่ให้เปียกหรือมีสิ่งของกีดขวางจนเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้มได้
ดูแลทำความสะอาดพื้นบ้านไม่ให้เปียกหรือมีสิ่งของกีดขวางจนเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้มได้

2. ปัจจัยภายนอกมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวผู้สูงอายุ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบากกว่าคนวัยหนุ่มสาว และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการหกล้มได้ง่าย

  • พื้น : ลื่น ขรุขระ ต่างระดับ มีธรณีประตู ทางเดินลาดชันมาก มีน้ำขัง
  • บันได : ขึ้นลงไม่สะดวก วางของกีดขวางทาง
  • มีสิ่งกีดขวางทางเดิน : โต๊ะเก้าอี้ที่มีส่วนยื่นออกมา พรมเช็ดเท้า สายไฟ บ้านรกวางของระเกะระกะบนพื้น
  • แสงสว่างไม่เพียงพอ : บริเวณที่ใช้งานหรือเดินผ่านเป็นประจำ โดยเฉพาะ บันได
  • เก็บของไว้ที่สูง : ต้องเอื้อมหยิบหรือใช้เก้าอี้ปีน
  • สัตว์เลี้ยง : นอนขวางทางเดิน กระโจนใส่
  • กระจกใสขนาดใหญ่ : อาจเดินชน
  • มีบ่อน้ำ : หกล้มตกบ่อ

ผู้สูงอายุหกล้ม ป้องกันได้ก่อนสายเกินแก้

แม้ว่าผู้สูงอายุหกล้มจะเป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เราก็มีวิธีป้องกันเบื้องต้นได้ ทั้งในด้านปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังต่อไปนี้

ป้องกันผู้สูงอายุหกล้มจากปัจจัยภายใน

ดูแลสุขภาพร่างกาย

  1. นอนหลับพักผ่อน กินอาหารให้พอเพียงและกินเป็นเวลา เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลม
  2. ออกกำลังกาย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก สร้างความยืดหยุ่นข้อต่อ และช่วยให้การทรงตัวดี ถ้ามีปัญหาสุขภาพปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม
  3. ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น ควบคุมระดับความดันโลหิต ควบคุมเบาหวานโดยการคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ระมัดระวังการกินยา สอบถามกับแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา
หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันการหกล้มได้
หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันการหกล้มได้

...

ระมัดระวังการเคลื่อนไหว

  1. มีสมาธิใส่ใจในสิ่งที่ทำ ทำทีละเรื่อง
  2. อย่ารีบร้อนเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ค่อยๆ ลุกจากเตียง ดูเก้าอี้ก่อนนั่ง เดิน ไม่วิ่ง
  3. มองก่อนก้าวขึ้น-ลง ดูสภาพพื้นก่อนก้าวเดิน
  4. งดปีนป่ายหยิบของจากที่สูง หรือปีนซ่อมแซมบ้าน ตัดต้นไม้

ป้องกันผู้สูงอายุหกล้มจากปัจจัยภายนอก

ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

1. ห้องนอน

  • ไม่นอนบนพื้น อาจปวดข้อ หรือวิงเวียนหน้ามืด ทำให้เสียการทรงตัว
  • ใช้เตียงสูงระดับข้อพับเข่าเพื่อลุกนั่งสะดวก ไม่มีขอบแหลมคม ฟูกไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป
  • สวิตช์ไฟเปิดปิดสะดวก อยู่ในจุดใกล้เตียงนอน ใกล้ประตู
  • อยู่ชั้นล่าง เพื่อเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  • มีบริเวณเดินสะดวก
ควรให้ผู้สูงอายุพักอาศัยในบริเวณห้องชั้นล่างเพื่อเลี่ยงการขึ้นบันไดที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้
ควรให้ผู้สูงอายุพักอาศัยในบริเวณห้องชั้นล่างเพื่อเลี่ยงการขึ้นบันไดที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

...

2. ห้องน้ำ

  • พื้นต้องไม่ลื่น
  • มีราวจับตามจุดต่างๆ
  • อุปกรณ์ใช้งานสะดวก
  • ประตูเปิดออกด้านนอก หรือใช้บานเลื่อน
ควรติดตั้งราวจับในห้องน้ำและทางเดินเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เกาะพยุงตัวป้องกันการหกล้ม
ควรติดตั้งราวจับในห้องน้ำและทางเดินเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เกาะพยุงตัวป้องกันการหกล้ม

3. ห้องครัว

  • อุปกรณ์การใช้งานต่างๆ หยิบได้ง่าย ไม่ต้องก้ม เอื้อมไกล หรือเอื้อมข้ามเตา
  • มีเก้าอี้ให้นั่งพัก
  • แสงสว่างพอเพียง
  • พื้นไม่ลื่น

4. ห้องนั่งเล่น

  • เครื่องเรือนมีความแข็งแรงมั่นคง ไม่มีส่วนใดยื่นออกมา งดใช้เก้าอี้โยก

5. สภาพแวดล้อมในบ้าน

  • พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่ขรุขระ ไม่ใช้พื้นต่างระดับ ไม่มีธรณีประตู ทางไม่มีจุดลาดชันมากเกินไป ไม่มีน้ำขัง
  • จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่มีของวางกีดขวางทางเดิน พรม หรือสายไฟบนพื้น
  • ติดไฟให้มีแสงสว่างมองเห็นชัดในจุดที่มักละเลย เช่น บันได และทางเดิน
  • บันได ไม่วางสิ่งของ มีราวจับ
  • ติดราวจับช่วยพยุงตัวภายในห้องน้ำ หรือภายในบ้าน ตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้สูงอายุ

...

6. อื่นๆ

  • ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น สวมแว่นสายตา ไม้เท้าช่วยพยุง ไม้ช่วยใส่รองเท้า เครื่องช่วยฟัง ติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ติดอุปกรณ์กันกระแทก
  • ใช้เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ที่ช่วยให้มีความคล่องตัว ใส่สบาย ไม่มีการตกแต่งรุงรัง หรือมีน้ำหนักมาก