หนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์ พิธีกร ที่พิสูจน์ฝีมือความแกร่งในความเป็นมืออาชีพมานานกว่า 20 ปี เริ่มจากเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา เป็นนักแสดง เป็นพิธีกรที่มีความสามารถโดดเด่นในการสื่อสาร ทั้งภาคภาษาอังกฤษและไทย มีโอกาสเปิดตัวพิสูจน์ความสามารถในการเป็นพิธีกรเวทีระดับโลกครั้งแรกในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเมื่อปี 2546 และ 19 ปีต่อมา หนิง ศรัยฉัตร ก็ได้ทำหน้าที่อีกครั้ง เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ปี 2565


เส้นทางความสำเร็จในอาชีพพิธีกร หรือที่หลายคนเรียกว่า MC (Master of Ceremonies) ของ หนิง ศรัยฉัตร ที่ผ่านมานั้น ไม่มีทางลัด แต่คือโอกาสที่ได้รับประสบการณ์ รับบททดสอบกับสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะในแบบที่มาเหนือความคาดหมาย แต่เพราะความมีวินัยในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างที่สุด ทำให้ทุกวันนี้ หนิง ศรัยฉัตร ไม่เพียงเป็นพิธีกรที่ยังครองเวทีในงานอีเวนต์ต่างๆ ที่เป็นระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็น Private Coaching หรือผู้ฝึกสอนส่วนตัวให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ในการช่วยพัฒนาทักษะการพูด การสื่อสาร และมีผลงานพ็อกเกตบุ๊ก เกี่ยวกับการสอนพูดอีกด้วย


หนิง ศรัยฉัตร กับการทำงานเป็นพิธีกรแบบไหน 

“ถ้ารูปลักษณ์ภายนอก คนมองเห็น หนิง ศรัยฉัตร มัดผมตึง ภาพลักษณ์เนี้ยบ หากเป็นเรื่องการทำงาน คนเบื้องหลังรู้กันว่าเป็นคนมีวินัยมาก ตรงต่อเวลา ทำการบ้านก่อนเสมอ ไม่มีคำว่าพลาด ทีมงานมั่นใจว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน สามารถทำให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นจนจบได้อย่างดี” หนิง ศรัยฉัตร เล่าถึงความเป็นพิธีกรในแบบของเธอ ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยรัฐออนไลน์ 

...

นอกเหนือจากการทำงานแบบเป็นทีม ให้เกียรติทีมงาน ให้เกียรติลูกค้า ต้องปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากัน กินข้าวกล่องด้วยกัน อยู่ด้วยกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง เพราะในอาชีพพิธีกรที่ทำอยู่ หนิง ศรัยฉัตร ไม่มีเพื่อนร่วมงานแบบคนทำงานออฟฟิศ เพราะฉะนั้นเพื่อนร่วมงานคือลูกค้า และทีมงานที่อยู่เบื้องหลังเวที 

เทคนิคการดึงคนฟังให้สนใจอยู่กับ หนิง ศรัยฉัตร 

ใครที่เคยเห็น หนิง ศรัยฉัตร เป็นพิธีกร หรือเอ็มซี บนเวที จะเห็นได้ชัดว่า สามารถดึงคนให้จดจ่อกับสิ่งที่กำลังบอกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ด้วยทักษะที่ฝึกปรือและประสบการณ์ตรงที่ยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล ด้วยเทคนิคที่ หนิง ศรัยฉัตร บอกสรุปมาให้ได้ดังต่อไปนี้

  • การจ้องตา 

เมื่อต้องอยู่บนเวที หรือแม้แต่ต้องพูดคุยกับใคร เทคนิคที่ หนิง ศรัยฉัตร ทำมาโดยตลอดคือ การสบตาทุกคน ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตั้งใจพูดกับเขาอยู่ ไม่ใช่อ่านไปพูดไป แต่คือเทคนิคจ้องตาที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่ามีความสำคัญ และทำให้คนฟังตั้งใจฟัง

  • ลูกล่อลูกชน เสน่ห์ที่พอดี

เมื่อเป็นคนมีวินัยในการทำงาน ทำการบ้านทุกอย่างเต็มที่ ยังต้องมีภาพลักษณ์ เอกลักษณ์เฉพาะตัว และรู้ทันความสนใจของผู้ฟัง ซึ่งสไตล์ หนิง ศรัยฉัตร คือ “มีความขำบ้างนิดหน่อย เรามีลูกล่อลูกชน เราจะรู้ว่าตอนนี้เริ่มน่าเบื่อแล้ว เราจะทำยังไงให้น่าสนใจมากขึ้น แต่หนิงว่า เสน่ห์ในการทำเอ็มซีของหนิงเองน่าจะเป็นเพราะว่าหนิงรู้ว่าจังหวะไหนควรจะเพิ่มอะไรเข้าไป ไม่มากแล้วก็ไม่น้อยจนเกินไป”

  • รู้ทันใน 2-3 นาทีแรก 

การเป็นเอ็มซี ต้องรู้ว่าความสนใจของคนเต็มที่ไม่เกิน 2-3 นาทีแรก 

“สมมติคนฟังกำลังเริ่มเบื่อ เราต้องหาวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนฟัง อินเตอร์แอ็กกับเขา เช่น ตั้งคำถามว่า ไม่ทราบว่าเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างหรือยัง โดยไม่คาดหวังว่าต้องตอบ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ปลุกเขา เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการดึงให้คนอยากฟังเรามากขึ้น หรือว่าการเข้าใกล้กับคนดูมากขึ้น บางงานถ้ามันถึงจุดที่ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว บางทีเราต้องเดินลงเวทีไปหาคนฟัง เพราะว่าการที่เราอยู่ใกล้กับเขา ยิ่งทำให้เขารู้สึกสนใจมากขึ้น”

เรียกได้ว่าความเป็นพิธีกรบนเวที หรือในรายการใดๆ ไม่เพียงแค่ทำให้ทุกอย่างจบตามคิวที่วางไว้ แต่ต้องทำให้เวทีนั้นบรรลุเป้าหมายด้วย

  • ควบคุมความสั่น 

การขึ้นเวทีกับอาการสั่นเพราะตื่นเต้น เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะครั้งแรกของทุกคน

“ครั้งแรกสั่นมาก เป็นอะไรที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ มือไม้สั่น พูดอะไรสั่น พูดผิดพูดถูก แต่ก็ไปจนจบงานได้ แต่หนิงโชคดีที่เจอลูกค้าน่ารัก ลูกค้ามาบอกว่าไม่เป็นไร เขาเข้าใจว่าเป็นงานแรก ทำให้รู้ว่าคำพูดคนมีพลังมาก เราเอาพลังของคนนี้มาบอกตัวเองว่า คนเราผิดพลาดได้ แต่คราวหน้าต้องทำให้ดีกว่าเดิม แม้ว่าจะจัดเจนเวที เพราะทำหน้าที่มานานกว่า 20 ปี และวัยที่อายุเพิ่มขึ้น แต่ความตื่นเต้นก็ยังมีอยู่ แต่ด้วยหน้าที่ คือไม่มีเวลามาตื่นเต้น และหนิงเชื่ออย่างหนึ่งว่าเมื่อคุณมีความมั่นใจ ความตื่นเต้นก็ลดลง”

  • มีวินัย ทันโลก ยึดที่มั่นยืนหนึ่งในอาชีพ 

นอกจากการมีวินัยในการทำงานแล้ว การเป็นเอ็มซีที่อยู่ยั้งยืนยงต้องมีความทันสมัยต่อโลกด้วย 

“สิ่งที่เป็นยูนิเวอร์แซลหรือว่าคลาสสิกตลอดกาลคือ การมีวินัย ตรงต่อเวลา ทำการบ้าน ชีวิตนี้หนิงแทบจะไม่เคยไปงานสาย ขอไปถึงก่อน ถ้ารู้ตัวว่าสายต้องแจ้งลูกค้า และขออภัย ถ้ามีอะไรส่งให้หนิงดูก่อน การมีวินัย การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งที่น่ารัก และอีกสิ่งที่เปลี่ยนไปกับโลกที่ทันสมัย คือโลกออนไลน์ ที่หนิงต้องลงรูปเวลาทำงาน เพราะว่าเพื่อให้คนเห็น เป็นเหมือนมาร์เก็ตติ้ง บางคนบอกว่าหนิงไม่ได้ทำธุรกิจอะไร แต่จริงๆ การเป็นเอ็มซีก็เป็นธุรกิจของหนิงโดยที่มีหนิงเป็นโปรดักต์ หนิงก็ต้องบริหารจัดการลงคอนเทนต์ที่หนิงเป็นเอ็มซี เขียนพ็อกเกตบุ๊ก สอนหนังสือ สอนการพูด ทำไพรเวตคลาสด้วย”

...

การเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารในโลกโซเชียล เป็นข้อดีที่ตอบโจทย์ความคาดหวังที่เจ้าของงานอยากให้เอ็มซีช่วยลงงานใน Instagram Reel, TikTok บ้าง 

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

จากพิธีกรมืออาชีพ มาเป็นโค้ชส่วนตัว

เส้นทางของอาชีพเอ็มซี สำหรับ หนิง ศรัยฉัตร กับการต่อยอดเป็นไพรเวต โค้ชชิ่ง โดยสร้างฐานสำคัญด้วยการทำพ็อกเกตบุ๊ก เรื่องฮาวทูการพูด และทุกวันนี้ก็มีสอนพูดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกอาชีพ ซึ่งเวลาโค้ชชิ่งให้บรรดาผู้บริหารที่พูดไม่เก่ง พบว่า สาเหตุเกิดจากโครงร่างของเนื้อหาใจความที่จะพูด ที่โดยหลักๆ ต้องมี บทนำ เนื้อหา และบทสรุป แต่หลายคนพูดแล้วรวมกันหมด เพราะไม่สามารถบริหารจัดการการพูดได้  เคล็ดลับการพูดสำหรับผู้บริหาร มีคำแนะนำจาก หนิง ศรัยฉัตร มาให้ลองปรับใช้กัน ดังนี้

ข้อแรกคือ จัดกระบวนการคิดและพูด

“บางคนรู้ว่าจะพูดอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องจัดลำดับอย่างไร เราจึงมีหน้าที่ไปปรับกระบวนการคิดของเขา เหมือนเราเกิดมาเป็นนักวางแผน เรารู้ว่าต้องพูดอย่างไร แต่บางคนไม่ใช่นักวางแผน ไม่มีกระบวนการคิด เขาเลยมีปัญหามากในการร้อยเรียงให้พอดี”

...

ข้อสองคือ ต้องรู้ทันคนฟัง ที่ปัจจุบันชอบฟังสั้นๆ แต่มีอิมแพ็ก

“อาจจะเปิด-ปิดด้วยคำโควตคำคมหรืออะไรที่มันสั้นๆ ประโยคสองประโยคแล้วโดนใจ 

ข้อสามคือ เล่าได้อรรถรส เพราะปัญหาของการพูดบางคนคือ โมโนโทน ทำให้ไม่น่าติดตาม

“ถ้าเล่าเรื่อยๆ เอื่อยๆ คนก็จะไม่ชอบ ซึ่งต้องมีทักษะแอ็กติ้ง ต้องเป็นคนกล้าแสดงออก ผู้บริหารบางคนพูดเก่งมาก แต่เห็นคนแล้วตื่นเต้น ก็ต้องออกไปเจอคนแล้วคุยมากขึ้น”

ข้อสี่ ภาษาท่าทาง ที่ต้องมาพร้อมกับการพูดเก่ง 

จากการศึกษาวิจัย คนเชื่อเรื่อง Body Language หรือภาษาท่าทาง คนเชื่อเรื่องความเคลื่อนไหวอากัปกริยา เชื่อหน้าตาที่แสดงออกมากกว่า

“ถ้าคนไม่มีภาษาท่าทาง ไม่แสดงออกเลย ต่อให้พูดความจริง คนก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นคำพูดกับภาษาท่าทางก็ต้องควบคู่กันไป”

ความจริงเรื่องวัย และเจเนอเรชันใหม่

ในวัยที่อายุมากขึ้น สำหรับอาชีพเอ็มซีนี้ ก็ต้องยอมรับว่า บางผลิตภัณฑ์ก็ไม่จ้างแล้ว เพราะด้วยอายุ ด้วยสถานภาพ และโลกเปลี่ยนไป ก็ต้องไปจ้างเอ็มซีรุ่นใหม่ๆ วิธีคิดของหนิงคือ ไม่เสียดาย และโอกาสยังมีสำหรับอาชีพนี้เสมอ

“ทุกวันนี้เวลามองไป ก็จะเห็นว่างานนี้เราเคยทำ จึงไม่ต้องเสียดาย เพราะเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันคือวัฏจักรชีวิต พอถึงเวลาเราก็จะได้งานอีกประเภทหนึ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้นแค่นั้นเอง” 

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

...

ความแตกต่างกันในอาชีพนี้ หนิง ศรัยฉัตร บอกว่า ในยุคนี้เปิดกว้างกว่ายุคก่อนที่ส่วนใหญ่มาจากเซเลบริตี้ มีนามสกุลดัง แต่ปัจจุบันใครๆ ก็เป็นได้ อยู่ที่ลูกค้าว่าชอบแบบไหน

“หนิงทำงานมากว่า 20 ปี แบ็กสเตจคือเด็กเรียนจบใหม่ หลายครั้งมีความสุขที่เด็กบางคนทำงานเสร็จขอถ่ายรูปกับเรา แล้วบอกว่า พี่คะ หนูได้ยินชื่อพี่มานาน วันนี้หนูได้ทำงานกับพี่ รู้ว่าทำไมคนเขาถึงชอบทำงานกับพี่ แค่นี้คือรางวัลของเรา เพราะอาชีพเอ็มซีไม่มีรางวัล ไม่มีใครมานั่งมอบรางวัลให้เรา หนิงว่าการที่ลูกค้าชอบ ทีมงานรัก ใครทำงานกับเราแล้วเขาบอกว่าสบายใจ ก็เป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ แล้ว”