เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ มักจะมีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยากและยังตื่นง่าย เมื่อตื่นแล้วก็ทำให้หลับยากขึ้นไปอีก สาเหตุของอาการนี้มาจากอะไร และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงวัยอย่างไรบ้าง
การนอนไม่หลับทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน รู้สึกอ่อนเพลีย สมองตื้อ ทำอะไรช้าลง อารมณ์เสียง่าย เสี่ยงวิตกกังวลและซึมเศร้า อาจมีปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง อ้วน และมีโอกาสเสี่ยงสมองเสื่อม
ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ มีสาเหตุจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ มาจากหลายปัจจัยด้วยกันดังต่อไปนี้
- ระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายที่ลดต่ำลง
- ความเครียด ความวิตกกังวล และความกังวลว่านอนไม่หลับขณะพยายามนอนให้หลับ
- อาการปวดต่างๆ ที่เป็นอยู่ เช่น ปวดข้อ ปวดแขน ปวดขา ปวดหลัง
- มีโรครบกวนการนอน เช่น เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต ที่ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน โรคหัวใจ โรคปอด โรคซึมเศร้า สมองเสื่อม นอนกรน ภาวะหยุดหายใจตอนนอนหลับ กล้ามเนื้อขากระตุก
- ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่นท้อง กรดไหลย้อน
- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยารักษาหอบหืด ยาขยายหลอดลม ยาต้านซึมเศร้า หรืออาหารเสริม เช่น โสม
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ เครื่องดื่มชูกำลัง และสูบบุหรี่
- สิ่งแวดล้อมรบกวนการนอน มีเสียงดัง แสงสว่างกวนสายตา อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป ที่นอนนอนแล้วไม่สบายตัว ห้องอับ
- ทำกิจกรรมที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ออกกำลังกายใกล้เวลานอน ดูหนังตื่นเต้นหรือน่ากลัว เล่นเกมที่ต้องลุ้น อยู่หน้าจอมือถือหรือหน้าจอต่างๆ ใกล้เวลานอน
...
9 วิธีช่วยให้ผู้สูงวัยนอนหลับง่ายขึ้น
ปัญหาของอาการนอนไม่หลับของผู้สูงวัย สามารถแก้ไขหรือบรรเทาได้ โดยใช้วิธีต่อไปนี้
- ออกไปสัมผัสแสงแดดยามเช้าหรือบ่ายแก่ๆ ออกกำลังกายให้เหมาะกับวัยและสภาวะร่างกาย เพื่อให้ต่อมใต้สมองผลิตเมลาโทนินช่วยการนอนหลับ
- เลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีนหลังเที่ยงวัน งดแอลกอฮอล์ และบุหรี่
- มื้อเย็นควรเป็นอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด และเลี่ยงการรับประทานมากเกินไป หรือถ้าหิวใกล้เวลานอน กินอาหารย่อยง่ายเบาๆ เช่น นม หรือกล้วย เลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ใกล้เวลานอน
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายเพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่าใกล้เวลานอน เช่น อาบน้ำอุ่นๆ ฟังเพลง ฟังบรรยาย อ่านหนังสือ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนไปจากการนึกถึงปัญหาเวลานอน
- ฝึกคลายความเครียด เลี่ยงสนใจในเรื่องที่ทำให้อารมณ์ไม่ดี หากิจกรรมที่ชอบระหว่างวัน ออกกำลังกาย
- เข้านอนและตื่นเป็นเวลา ควรเข้านอนก่อนเที่ยงคืน เลี่ยงการนอนกลางวันเกิน 1 ชั่วโมง และหลัง 15.00 น.
- หากน้ำหนักเกิน ลดความอ้วนเพื่อช่วยลดปัญหานอนกรน การหยุดหายใจระหว่างหลับ และกรดไหลย้อน
- ปรับสภาพในห้องนอนให้นอนหลับสบาย ที่นอนนุ่มพอเหมาะ ความสูงของหมอนพอเหมาะ อุณหภูมิกำลังสบาย ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวน ไม่ทำงานหรือนั่งเล่นบนเตียงนอน ห้องนอนควรมีไว้เพื่อการนอนเท่านั้น
- ถ้านอนไม่หลับจริงๆ อย่าดูนาฬิกา อย่าพยายามบังคับตัวเองให้หลับเพราะจะยิ่งกังวล ลองลุกขึ้นมาหากิจกรรมเบาๆ ทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การแก้ปัญหานอนไม่หลับควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุก่อน ถ้ายังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ ส่วนการใช้ยานอนหลับควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น การใช้ยาเองอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาอีกมาก เช่น หยุดยาแล้วนอนหลับเองไม่ได้ เมื่อหยุดยามีอาการไม่พึงประสงค์ หรือต้องเพิ่มขนาดยา เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง : CaregiverThai.com
ภาพ : iStock