ด้วยเวลาและโลกที่หมุนเปลี่ยนไปทุกวัน การปรับตัวให้ทันยุคสมัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เว้นแม้แต่องค์กรที่มีอายุกว่า 70 ปี อย่าง บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ที่ปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและท้าทาย ตอบโจทย์พนักงานยุคใหม่ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของบริษัท
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดดำเนินกิจการด้านธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2494 หรือเป็นเวลา 72 ปีแล้วที่ให้บริการผู้คนจำนวนมากมาหลายยุคสมัย ปัจจุบันมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 29,941 ล้านบาท เติบโต 14.4% โดยมีเบี้ยรับรายใหม่อยู่ที่ 10,517 ล้านบาท เติบโตกว่า 13.8% และมีเบี้ยปีต่ออายุ 19,423 ล้านบาท เติบโตกว่า 14.8% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเติบโตดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
แม้ว่าเมืองไทยประกันชีวิตจะเป็นองค์กรที่คร่ำหวอด และเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในแวดวงธุรกิจประกันชีวิต แต่ก็ไม่เคยหยุดพัฒนา และปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายใต้การบริหารของ สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และพ่วงด้วยตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ที่มองเห็นถึงความสามารถ และศักยภาพของพนักงานรุ่นใหม่ที่เกือบ 80% เป็นกลุ่มเจนวายลงไป จึงปรับกลยุทธ์วัฒนธรรมองค์กรให้เข้ากับพฤติกรรม และความต้องการของคนกลุ่มนี้ พร้อมทั้งผสานการทำงานให้เข้ากับพนักงานเจเนอเรชันอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับสโลแกน “บริษัทของคนหัวคิดทันสมัย” ขององค์กร
“ที่นี่คนทำงานส่วนใหญ่เป็นเจนวายลงไปประมาณ 75-80% ถือว่าเยอะพอสมควร การทำงานของเราก็มีบางโปรเจกต์ที่ต้องทำร่วมกันกับคนหลายๆ เจน ซึ่งเราไม่แคร์ว่าเขาสวมหมวกอะไร โปรเจกต์หนึ่งอย่างก็ต้องอาศัยการทำงานหลายๆ ฝ่ายที่มีทักษะไม่เหมือนกัน เราก็ดึงเขาเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้คนเจนใหม่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องยึดติดอยู่กับสายงานเดียว เพราะอาจจะรู้สึกว่าไม่ท้าทายพอ การที่ทำให้เขาได้เห็นภาพกว้างขึ้น และให้ได้สัมผัสเนื้องานอื่น จะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นผู้นำทีมด้วยกัน ไม่มีใครเป็นผู้นำทั้งหมด เพราะการที่เป็น Squad Team แต่ละคนจะเก่งในด้านที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องเห็นภาพเป็นทีมเดียวกัน ก็จะทำให้เขาได้โชว์ความสามารถมากกว่าตอนทำสายงานเดิม”
...
นอกจากนี้เขายังปรับรูปแบบการทำงานให้ไม่มีการ Fix ที่นั่ง พร้อมเปิดให้ทำงานได้แบบ 24 ชั่วโมง ตอบรับไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบทำงานตอนดึกๆ และสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาแบบ work from anywhere ซึ่งเป็นข้อดีของการทำงานที่เมืองไทยประกันชีวิต เพราะเพิ่มทางเลือกให้กับพนักงานที่อยากจะทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ หรือจะทำงานที่บ้านก็ได้ โดยออกแบบสถานที่ให้ทุกคนสามารถนั่งทำงานร่วมกันได้อย่างอิสระ
เขามองว่าประเด็นสำคัญที่องค์กรใหญ่ในไทยหลายองค์กรต้องเจอคือการทำงานแบบสันโดษ ดังนั้นการคิดโปรเจกต์แล้วจัดทีมให้พนักงานหลายรุ่นหลายวัยที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกันได้อย่างอิสระไม่จำกัดพื้นที่ ก็ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการทำงานแบบ Squad Team ที่ยืมตัวพนักงานหลายๆ ฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ก็ช่วยให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตนเองที่นอกกรอบมากขึ้น
“ต้องยอมรับว่าวิธีการบริหารจัดการแบบให้ทุกคนมาโชว์ของได้ เห็นต่างกันได้ แต่อย่าด่ากัน เพราะถือว่าไม่มีหัวโขน ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีว่ามาจากสายงานไหน นี่เป็นกลยุทธ์ดึงคนรุ่นใหม่ให้ทำงานได้นานขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องเนื้องานก็มีผล เพราะถ้างานไม่ท้าทายพอ หรือไม่ใช่ตัวเขา เรื่องนี้เราก็ช่วยไม่ได้ ขณะเดียวกันการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้น่าทำงานก็มีส่วนสำคัญมาก แต่ก็ไม่มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ช่วยได้ทั้งหมด เพราะต่อให้มี workplace ที่ใช่ แต่วัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่ ก็ไม่โอเคสำหรับเขา”
เรียกได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ของการบริหารจัดการคนทำงานต่างวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจพฤติกรรมความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขององค์กรได้เป็นอย่างดี ซึ่งประวัติการศึกษา และการทำงานของ สาระ ล่ำซำ หรือป้อง ผู้บริหารหนุ่มของเมืองไทยประกันชีวิต ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
ปัจจุบันเขาอายุ 53 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ จบการศึกษาบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2536 และจบการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาบริหาร) มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2538 และล่าสุดเมื่อปี 2565 ได้รับศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเงิน จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ที่ผ่านมา สาระ ล่ำซำ ได้รับรางวัลใหญ่ระดับสากล "Master Entrepreneur Award" ซึ่งจัดโดย Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) 2021, Regional Edition ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารองค์กรธุรกิจประกันชีวิตที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านบริหารงาน การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในปี 2562 เขาได้ปรับภาพลักษณ์องค์กร (Brightening the Brand) ครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับการถูก Disrupt ของธุรกิจประกันภัย ต่อมาในปี 2563 เมืองไทยประกันชีวิต มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) อยู่ที่ 21% มีสัดส่วนการขายแบบประกันชีวิตประเภทคุ้มครองชีวิต และประกันชีวิตควบการลงทุน (Protection and Investment Linked Product Portion) สูงถึง 76% ขณะเดียวกันมีผลงานจากช่องทางการขายผ่าน Online Sales เติบโต 120% เมื่อเทียบกับปี 2562.
...
ภาพ เอกลักษณ์ ไม่น้อย