โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า การเสื่อมสภาพนี้ส่งผลต่อรูปร่าง โครงสร้าง และการทำงานของกระดูกข้อต่อ รวมถึงกระดูกส่วนอื่นที่อยู่ใกล้กับข้อต่อหัวเข่า
ปกติแล้วเมื่อกระดูกผิวข้อเข่าเสื่อมลง จะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทั้งอาการจะค่อยๆ ลุกลามไปเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมให้เกิดช้าลง ในที่สุดก็อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่า
ระยะ ‘อาการ’ ของโรคข้อเข่าเสื่อม
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ผิวกระดูกอ่อนเริ่มถูกทำลาย แต่ยังไม่เกิดการอักเสบ ซึ่งการที่ผิวข้อต่อถูกทำลายจะส่งผลให้เกิดสารชีวภาพชนิดหนึ่งคือ Urine CTX-II ขึ้นมา ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ โดยหากตรวจพบและทำการรักษาจนร่างกายหยุดผลิตสารชีวภาพชนิดนี้ จะนับเป็นการรักษาที่เรียกว่าให้ผลดีและชะลอการดำเนินโรคได้
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เยื่อหุ้มข้อเกิดการอักเสบถึงระดับเซลล์ แนวทางการรักษาจะเน้นไปที่การกินยาหรือฉีดยาเพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด และยืดระยะเวลาความเสื่อมของกระดูกให้เกิดช้าลง
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่โครงสร้างของข้อเปลี่ยนสภาพแล้ว การรักษาจะใช้แนวทางเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปวด เพราะเป็นภาวะที่ไม่สามารถหยุดการเสื่อมของกระดูกได้แล้ว
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม?
1. ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
2. ผู้ที่มีอาการปวดหัวเข่าเรื้อรัง
3. ตรวจพบลักษณะของกระดูกงอก
4. ผู้ที่มีอาการฝืดแข็งบริเวณข้อเข่าในตอนเช้าหลังตื่นนอน และมีอาการไม่เกิน 30 นาที
...
5. ผู้ที่เมื่อเคลื่อนไหวเข่าแล้วเกิดเสียงดังกรอบแกรบจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ หรือเอ็นที่เริ่มหนาตัวขึ้น หรือเกิดจากความขรุขระของกระดูกอ่อนบริเวณปลายหัวกระดูก
ข้อดีของการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจปัสสาวะหา Urine CTX-II
การคัดกรองข้อเข่าเสื่อมจากการตรวจหาสารชีวภาพ Urine CTX-II ในปัสสาวะ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความผิดปกติของข้อต่างๆ ได้ดีตั้งแต่การเกิดโรคในระยะแรกหรือระยะที่ยังไม่เกิดอาการเจ็บปวด และไม่เฉพาะความเสื่อมของข้อเข่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อสะโพกและข้อที่มีขนาดใหญ่อื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ อาการในระยะแรกหรือระยะที่ 1 จะไม่สามารถตรวจพบด้วยการเอกซเรย์ การอัลตราซาวนด์ การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือวิธีอื่นๆ ดังนั้นหากไม่ตรวจหาสาร Urine CTX-II ในปัสสาวะก็จะทำให้พลาดโอกาสในการเริ่มรักษาตั้งแต่โรคอยู่ในระยะแรก ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
ส่วนการตรวจพบโรคด้วยวิธีอื่นๆ เมื่อโรคเริ่มเข้าสู่ระยะการอักเสบหรือระยะที่ 2 แล้ว จะเป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวด และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคข้อเข่าเสื่อม อาจไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก การตรวจวินิจฉัยและคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอก่อนมีอาการ จะช่วยให้พบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ และเป็นระยะที่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
บทความโดย : นพ.กอบศักดิ์ อุดมเดช ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์