หากผู้สูงอายุลื่นล้มจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วยังกระทบไปถึงคนรอบข้างอีกมากมาย จะดีกว่าไหมหากเราเฝ้าระวังและป้องกันพื้นที่อันตรายในบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในอนาคต

คนทุกวัยมีสิทธิ์หกล้มหรือลื่นล้มได้ แต่หากมีการหกล้มในผู้สูงวัยจะอันตรายกว่าวัยอื่นหลายเท่าตัว ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้ง่าย เพราะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านสายตาทำให้คาดคะเนระยะทางไม่ถูกต้อง ข้อต่อและเอ็นอ่อนแอลง จึงมีผลต่อการทรงตัว ระบบทางเดินปัสสาวะมีปัญหา ทำให้รีบเร่งเข้าห้องน้ำ มีความเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่มาจากสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ที่ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึง 28-35 เปอร์เซ็นต์ และจะเสี่ยงมากถึง 32-42 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป

นอกจากเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในบ้านแล้ว การมีคนคอยดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดก็ช่วยป้องกันปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในบ้านแล้ว การมีคนคอยดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดก็ช่วยป้องกันปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง

...

เมื่อผู้สูงอายุหกล้มจะเกิดผลกระทบที่นอกเหนือจากการบาดเจ็บของร่างกาย ที่มีตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง อาจพิการหรือเสียชีวิตได้ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในการรักษาพยาบาล ยิ่งหากมีภาวะแทรกซ้อน ต้องรักษาหรือพักฟื้นที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงขึ้น ทั้งยังส่งผลทางด้านจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีความกังวลใจ ขาดความมั่นใจในการเดิน อาจเกิดภาวะซึมเศร้า ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง

การหกล้มของผู้สูงอายุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ในช่วงหน้าฝนจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวภายในบ้านผู้สูงอายุให้สะอาด ปลอดภัย และเอื้อต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงนั้นได้

จึงอยากชวนให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ตรวจสอบ 4 จุดเสี่ยงภายในบ้าน เพื่อป้องกันไว้ก่อนจะต้องตามแก้

1. พื้นบ้าน

พื้นบ้านที่ลื่นเพราะพื้นมีความมันวาว ควรปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนเป็นกระเบื้องพื้นเรียบ ไม่ลื่น ไม่มันวาว มีความหนืด เพื่อป้องกันการหกล้ม หรือหากมีความเสี่ยงต่อการลื่นเพราะพื้นเปียกน้ำ หากเปียกน้ำฝนหรือมีน้ำหกบริเวณพื้นบ้าน ให้รีบหาผ้ามาเช็ดให้แห้งในทันที และควรแก้ไขจุดต่างระดับของพื้นบ้าน จัดวางของในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินสะดวก ไม่สะดุด

2. พื้นห้องครัว

ห้องครัวเป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้สูงอายุมักเข้าไปบ่อย และหลายครอบครัวผู้สูงอายุยังชอบประกอบอาหารเองอยู่ พื้นกระเบื้องห้องครัวมักมีความมันที่เกิดจากการประกอบอาหาร จึงต้องหมั่นทำความสะอาดคราบมันบริเวณพื้นให้สะอาด หรือทำความสะอาดทุกครั้งหลังประกอบอาหาร รวมถึงเก็บของมีคมให้อยู่ในที่ปลอดภัย

3. บันได

หากบ้านมีสองชั้นขึ้นไป ควรจัดห้องนอนผู้สูงอายุให้อยู่ชั้นล่าง เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่ถ้ามีความจำเป็นอื่นที่ไม่สามารถให้นอนชั้นล่างได้ ต้องระมัดระวังการขึ้นบันไดให้ดี และปรับปรุงให้บันไดเอื้อต่อการเดินขึ้นลงของผู้สูงอายุ เช่น ติดยางกันลื่นที่ขอบบันได ปิดมุมแหลมคมของบันไดให้หมด มีราวจับบันไดทุกขั้น และเพิ่มแสงสว่างบริเวณบันได หรือจุดที่เป็นพื้นต่างระดับให้มองเห็นได้ชัดเจน

4. ห้องน้ำ

เริ่มจากประตูควรเป็นแบบเลื่อนเพื่อง่ายต่อการเปิดปิด ติดราวจับไว้ในห้องน้ำเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้พยุงตัวเวลาเดิน พื้นกระเบื้องควรเลือกใช้กระเบื้องสำหรับห้องน้ำกันลื่นโดยเฉพาะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวังพื้นห้องน้ำไม่ให้เปียก หรือมีคราบแชมพู ครีมนวดอยู่บนพื้น เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ทางที่ดีควรแบ่งโซนห้องน้ำเป็นสองโซน คือ โซนเปียกและโซนแห้ง โดยทำพื้นเรียบเสมอกัน เพราะหากเป็นพื้นต่างระดับอาจทำให้สะดุดล้มได้

นอกจากสี่จุดที่ต้องระวังเพื่อป้องกันผู้สูงอายุลื่นล้มในบ้านแล้ว หากมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้รู้สึกอุ่นใจและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น