ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุควรต้องเรียนรู้ทักษะอะไรบ้าง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ และสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนในสังคม เพื่อการดำเนินในชีวิต ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เรียกได้ว่าครบทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นนอน จะเข้านอนอีกรอบ ทำให้หลายคนคุ้นชินและมีเทคโนโลยี โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เป็นเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต่างก็ใช้เทคโนโลยีทำสารพัดเรื่องในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าผู้สูงอายุหลายคนจะใช้มือถือทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างชำนาญ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมยุคดิจิทัลได้อย่างสบาย แต่ต้องยอมรับว่ามีผู้สูงอายุอีกมาก ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้ไม่ดีนัก ซึ่งทักษะดิจิทัล เป็นหนึ่งทักษะจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น แต่นอกเหนือจากทักษะดิจิทัลที่ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้แล้ว ผู้สูงอายุยังควรจะมีทักษะด้านอื่นๆ ที่จำเป็นอีกหลายอย่าง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายและมีความสุข เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย
5 ทักษะจำเป็น กับการใช้ชีวิตผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล
สำหรับทักษะที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในยุคดิจิทัลนั้น ควรมี 5 ทักษะพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
1. ทักษะด้านเทคโนโลยี
ทักษะด้านเทคโนโลยีนี้ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในยุคดิจิทัลปัจจุบัน เพราะอย่างที่กล่าวไว้ว่า เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานด้านนี้ โดยเฉพาะด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อื่นๆ และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย สามารถการเปิด-ปิด รับ-ส่งข้อมูล การใช้ฟีเจอร์พื้นฐานของโปรแกรม หรือแอพปลิเคชั่นต่างๆ ได้
...
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุต้องมีทักษะด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ ที่จะมาในรูปแบบต่างๆ สารพัดวิธี ที่ต้องรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ควรติดตามข่าวสาร และมีความระมัดระวังในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ควรจะมีความรอบครอบ และสอบทานแหล่งที่มาของข้อมูล ที่ถูกส่งผ่านเข้ามาอย่างละเอียดรอบครอบ โดยเฉพาะการต้องทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ
2. ทักษะการจัดการทางการเงิน
ทักษะด้านการจัดการทางการเงินนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้สูงอายุจะต้องมี เพราะความสามารถในการจะหาเงินใหม่เข้ามาเพิ่ม อาจจะไม่เท่าตอนเป็นหนุ่มสาว จึงต้องรู้จักการจัดทำงบประมาณ การวางแผนใช้เงินให้เพียงพอต่อการมีชีวิตอยู่ ความเข้าใจในการลงทุน หรือการหาแหล่งรายได้เพิ่ม และติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีอากรที่เกิดขึ้นด้วย
3. ทักษะการจัดการด้านการดูแลสุขภาพ
เพราะผู้สูงอายุมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นตามช่วงอายุ ทำให้ต้องสามารถดูแลสุขภาพของตัวเอง บริหารการจัดการเรื่องอาหาร ยา และการพบแพทย์ ต้องมีการวางแผน การทำความเข้าใจในโรคต่างๆ เข้าใจกระบวนการรักษาในโรคที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ประสานงานและเกิดความเข้าใจในการติดต่อกับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังต้องมีทักษะในการดูแลร่างกายให้แข็งแรง หรือยังคงประสิทธิภาพที่ดี เพื่อลดหรือบรรเทาการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และยืดอายุการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรง ผู้สูงอายุจึงต้องมีทักษะในกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ได้แก่ การออกกำลังกาย การยืดเหยียด และการฝึกการทรงตัว เป็นต้น
4. ทักษะทางสังคม
แม้ว่าผู้สูงอายุ จะไม่ได้เข้าสังคมมากเหมือนตอนช่วงวัยทำงาน แต่ก็ยังคงต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องทีมีความสำคัญ ทั้งต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีทักษะทางสังคมที่แข็งแกร่ง สามารถสื่อสาร พูดคุยหรือรับฟังกับบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวางตัวเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมด้วย
5. ทักษะการแก้ปัญหา
แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต้องเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไร รวมถึงผู้สูงอายุทักษะนี้ก็ไม่สามารถละเลยไปได้ ผู้สูงอายุต้องสามารถระบุปัญหา ประเมินทางเลือก และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการแก้ไขปัญหา หรือหากแก้ไม่ได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลอื่น ให้เข้ามาช่วยแก้ไข
...
ทั้งหมดก็เป็น 5 ทักษะพื้นฐาน สำหรับการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุต้องการทักษะที่หลากหลายในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุแต่ละคน ที่สำคัญผู้สูงอายุต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยให้สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ได้ด้วย