ซิสโก้หวังเติมเต็มทักษะดิจิตอลควบคู่ความรู้ด้านระบบไอที เสิร์ฟแรงงานให้อุตสาหกรรม ชี้ไทยขาดแคลนบุคลากร หวังอีก 5 ปี จะปั้นผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน...

นางสาวแซนดี้ วอลช์ ผู้อำนวยการด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม ซิสโก้ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า นอกจากการขยายธุรกิจและรายได้ ซิสโก้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1.การเร่งสร้างแรงงานคน 2.การพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรม 3.การช่วยเหลือสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคลากรด้านไอทีของประเทศไทย และเสริมสร้างศักยภาพแก่บุคลากรได้

"ในระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา ซิสโก้มีความร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการศึกษาในไทยกว่า 56 แห่ง ในโครงการซิสโก้ เน็ตเวิร์กกิ้ง อะคาเดมี่ เพื่ออบรมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสำหรับเตรียมความพร้อมสู่การเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมไอที  ซึ่งสามารถผลิตบุคลากรไปแล้วกว่า 41,000 คน ควบคู่กับการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐอีกด้วย"

ทั้งนี้ ซิสโก้ยังได้เพิ่มเติมหลักสูตรในโครงการต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรในสายไอทีให้รองรับเทรนด์การใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงหลักสูตรอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย อาทิ หลักสูตรลีนุกซ์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ IoT (Internet of Things) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรในสายงานไอทีอีก 30,000 คน ภายใน 5 ปีจากนี้

...


นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่มีการปรับใช้หลักสูตรใหม่เกี่ยวกับ IoT โดยปัจจุบันมีนักศึกษาราว 120 คน ที่จบหลักสูตรความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ IoT ขณะเดียวกันซิสโก้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดหลักสูตรด้าน IoT ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม ซิสโก้วางแผนขยายหลักสูตรในการอบรมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สายอาชีพด้านไอทีมากกว่าการขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เนื่องจากต้องการให้หลักสูตรต่างๆ มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็มีการสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนบุคลากรผู้หญิงในอุตสาหกรรมไอทีให้มากขึ้นด้วย

"ความร่วมมือระหว่างซิสโก้และสถานศึกษานั้นยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาบุคลากรด้านไอที บริษัทอยากให้ภาครัฐ สถานศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ให้ความสนใจและร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง อาทิ สนับสนุนการลงทุน เพิ่มความเข้มข้นในหลักสูตรด้านไอที เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีต่อทุกสายอาชีพ"

นายพิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2559 งานด้านไอทีถือเป็นอาชีพที่มีการจ้างงานสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากงานขายและบัญชี โดยสายงานด้านวิศวกรซอฟต์แวร์และด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลถือเป็นสายงานที่มีความต้องการจ้างงานมากที่สุด แต่ปัจจุบันประเทศไทยกลับอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีและทักษะด้านดิจิตอล

"คนรุ่นใหม่มีค่านิยมประกอบอาชีพอิสระ ทำให้มีการเลือกเรียนในสายไอทีน้อยลง  ประกอบกับหลักสูตรด้านไอทีในสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งยังไม่ได้มาตรฐาน โดยผลการสำรวจจาก TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ระบุว่าไทยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพไม่ได้เกิน 2,000 คนต่อปี ซึ่งอาจทำให้ทั่วโลกเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีราว 2 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2566 ตามที่ IDC คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับซิสโก้ จะสามารถเพิ่มโอกาสเข้าสู่สายอาชีพในอุตสาหกรรมไอทีแก่นักศึกษาที่ผ่านโครงการและหลักสูตรดังกล่าวได้เป็นอย่างดี".