งาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศของผู้บริหารรุ่นที่ 3 “ไทยรัฐกรุ๊ป” อย่างคุณวัชร คุณจิตสุภา และคุณธนวลัย วัชรพล...จบลงด้วยความคึกคัก พร้อมๆกับได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการผลิตภายใต้เอกลักษณ์ของความเป็นไทย

หลังจากที่งานเมรัยไทยแลนด์จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. ที่ Em Glass, Em Yard และ G fl. Emsphere เป็นเวลา 7 วัน โดยการผนึกกำลังกันของภาครัฐ รวมถึงค่ายผู้ผลิตสุราและเบียร์รายใหญ่ทุกรายของประเทศไทย ที่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสแก่ผู้ผลิตรายเล็กๆได้ถือกำเนิดขึ้น

เป็นไปเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้า ยกระดับเครื่องดื่มสุดประณีตจากชุมชนซึ่งปัจจุบันการผลิตส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมๆกับเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้กับประเทศ

จัดเป็นการสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลในเวลาเดียวกันก็เพื่อผลักดันความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาไทยจากท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย

...

คุณวัชรเล่าว่า นี่เป็นที่ที่พวกเราอยากส่งเสริมคนตัวเล็กๆให้มีโอกาส และมีเวทีสินค้าของพวกเขาออกมาแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าในท้องถิ่นของพวกเขามีของดีอยู่

เจตนาของผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของไทยรัฐกรุ๊ป ไม่ได้จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อมอมเมา หรือชวนกันไปเมา หากแต่อยากส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น และช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถขายสินค้าเพื่อนำรายได้กลับเข้าไปสู่ชุมชนของตนได้

เหมือนๆกับที่เกาหลีใต้มีโซจู, ญี่ปุ่นมีสาเก และบรั่นดีรสชาติละมุมละม่อม หรือจีน มีเหมาไถ ที่ล้วนแต่มีราคาแพง เป็นต้น

ในงานยังมีการประกวดคราฟต์เบียร์ ประเภทเบียร์ผลไม้ของผู้ผลิตไทยด้วย โดยมีคณะกรรมการตัดสินจากกรมสรรพสามิตและผู้เชี่ยวชาญ ผลคือ มีผู้คว้ารางวัล GOLD, SILVERและ BRONZE AWARD ไป 3 คน ได้แก่

คุณพนิดา รัตนูปการ, คุณจิระศักดิ์ จันทโรทัย และคุณเอกชัย ศรีไหม นอกจากนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตร GOOD BEER APPRECIATION ให้แก่ผู้ผลิตอื่นๆอีก 24 รายเป็นการการันตีเบื้องต้นว่าสินค้าของพวกเขามีรสชาติที่ดี และผลิตได้มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด

คณะผู้จัดงานยังให้ความสำคัญกับการเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการประกวดเหล้าขาวเพื่อสนับสนุนให้เป็นสินค้าที่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ การผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้ขับขี่ที่ไร้วินัย หรือเมาแล้วขับ

การเสวนาเพื่อให้ภาคเกษตรกรรมไทยได้รับประโยชน์จากการเพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสุราและเบียร์

มีการให้ตัวอย่างจากผู้ผลิตสุราพื้นบ้านประเภท จิน “Gin” ที่ต่างประเทศอาจใช้ “ข้าว” แต่มีผู้ผลิตบางรายของไทยใช้ “ผลมะแคว่น” ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งสามารถจะใช้เป็นสินค้าซอฟพาวเวอร์ส่งออกไปยังต่างประเทศได้เลย ภายใต้ความรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไทย

...

จริงๆแล้วในงานยังมีการเชิญเชฟชื่อดังหลายคน เข้าร่วมในการออกแบบเมนูอาหารสำหรับรับประทานควบคู่ไปกับสุราและเบียร์ ในรูปแบบต่างๆเหมือนๆกับที่มิชลินทำด้วย...ใครที่ไม่ได้ไปงานนี้ รออีกทีปีหน้าก็แล้วกัน.

มิสไฟน์

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม