‘หนังตะลุง’ คือศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมอันหลากหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน ซึ่ง คอนสแตนติน คอร์โซวิติส (Constantine Korsovitis) ช่างภาพชาวออสเตรเลียที่มีความหลงใหลในศิลปะแขนงนี้ ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือภาพ “A Life in Shadows” ที่รวบรวมภาพถ่ายขณะที่ออกเดินทางไปบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงอันเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายให้ได้ชมกันที่ ‘งานเทศกาลหุ่นโลก’ ครั้งที่ 27 (Harmony World Puppet Innovation 2024) ซึ่งจัดขึ้นที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Museum) ปทุมธานี
คอนสแตนติน คอร์โซวิติส ช่างภาพชาวออสเตรเลียผู้มีใจรักในการถ่ายภาพสารคดีผ่านบุคคล การเล่าเรื่อง และประสบการณ์ที่พบปะระหว่างช่างภาพและผู้ถูกถ่าย ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพหลากหลายรูปแบบ ทั้งการถ่ายภาพแบบอนาล็อกที่ใช้ฟิล์มแบบดั้งเดิม รวมถึงการถ่ายภาพดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นช่างภาพที่มีผลงานจัดแสดงในแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ และเทศกาลภาพถ่ายต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1998 และในปี 2012 คอนสแตนตินได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการถ่ายภาพสารคดีจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์
...
เขาเริ่มสนใจในศิลปะหนังตะลุงตั้งแต่ปี 1999 เมื่อได้รับคำเชิญจากสำนักเลขาธิการวายังแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesian National Wayang Secretariat) ให้เข้าร่วมบันทึกเทศกาลหุ่นกระบอกนานาชาติในจาการ์ตา โดยในปี 2001 เขาได้จัดแสดงผลงานครั้งแรกที่อินเดีย อินเตอร์เนชันแนล เซ็นเตอร์ (India International Centre) ในเมืองเดลี จากนั้นก็จัดแสดงอีกครั้งที่เทศกาลยูนิมา (Unima Festival) ที่เมืองเพิร์ธในปี 2010 และในปี 2016 ได้จัดแสดงภาพถ่ายที่พิพิธภัณฑ์รัฐกลันตัน (Kelantan State Museum) โกตาบารู ถัดมาที่ปี 2018 ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมไทย เขาได้จัดแสดงส่วนหนึ่งของผลงานที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ในกรุงเทพฯ
เรียกได้ว่าตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา เขาได้ถ่ายภาพและพูดคุยกับผู้คนมากมายจากศิลปะแขนงนี้ ไม่ว่าจะเป็น คนเชิดหุ่น ช่างทำหุ่น นักดนตรีในแต่ละประเทศ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหนังตะลุง โดยคอนสแตนตินได้แรงบันดาลใจจากการได้ชมการแสดงการเชิดหุ่นหนังตะลุงในเทศกาลต่างๆ และค่อยๆ พัฒนางานสารคดีภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงมีชีวิตชีวา แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็ตาม
คอนสแตนติน กล่าวว่า “ในปี 1999 ผมได้มีโอกาสไปถ่ายรูปเทศกาลหุ่นเงานานาชาติที่เมืองจาการ์ตา ผมได้ดูการแสดงหุ่นเงาติดต่อกันถึงสามวัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากทำสารคดีเกี่ยวกับศิลปะการแสดงหุ่นเงานี้และอยากทำความเข้าใจในวิถีชีวิตของศิลปินเหล่านั้น ผมอยากถ่ายรูปคนเชิดหุ่นที่บ้านของพวกเขา แทนที่จะถ่ายตอนแสดงหรือในสตูดิโอแบบเดิมๆ และอยากถ่ายภาพพร้อมกับพูดคุยเพื่อทำความรู้จักพวกเขาให้ลึกซึ้งขึ้น อยากให้เห็นตัวตนจริงๆ ของพวกเขาที่ไม่ใช่แค่ในฐานะศิลปิน แต่ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง และจากการที่ผมได้เดินทางสำรวจวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ในหลากหลายประเทศ ก็พบว่าศิลปินแขนงนี้เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ความน่าค้นหา และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ผมจึงอยากให้ผลงานของผมสามารถสะท้อนถึงคุณค่าของศิลปะหนังตะลุงและความสำคัญของศิลปินกลุ่มนี้ที่มีความทุ่มเทอยู่ในจิตวิญญาณอย่างเต็มเปี่ยม”
...
“A Life in Shadows” จึงนับเป็นหนึ่งในผลงานที่ทรงคุณค่าของเขา ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีในการเดินทางบันทึกเรื่องราวศิลปะการแสดงหนังตะลุง ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเพณีการเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีจุดร่วมคือการใช้มหากาพย์ฮินดูอย่างรามายณะและมหาภารตะเป็นเรื่องราวต้นแบบ หนังตะลุงได้ผสมผสานการเชิดหุ่นเข้ากับดนตรี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเล่าเรื่อง แฟชั่น พิธีกรรม ศาสนา และการศึกษา
...
โดยหนังสือ A Life in Shadows ได้ถ่ายทอดคุณค่าของหนังตะลุงผ่านภาพถ่ายสารคดีที่มีความงดงามและละเอียดอ่อนควรค่าแก่การสะสม ซึ่งประกอบด้วยภาพถ่าย 168 ภาพ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ River Books ราคา 1,200 บาท โดยจัดจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ อาทิ Kinokuniya, AsiaBook และร้าน River Books รวมถึงเว็บไซต์ของ River Books สำหรับต่างประเทศสามารถซื้อได้ทาง Amazon และนอกจากนี้ยังสามารถพบกับงาน “A Life in Shadows” อีกหนึ่งรอบได้ที่ จักรพงษ์วิลล่า (Chakrabongse Villas) พระนคร กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ เวลา 16.00 น.