คำว่า Empathy กลายเป็นที่พูดถึงและสนใจขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่โอปอล สุชาตา ช่วงศรี รองอันดับ 3 Miss Universe 2024 ได้นำมาใช้ในการตอบคำถามว่าคุณสมบัติอะไรที่จะทำให้เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เธอชนะใจกรรมการจนได้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายและคว้ารางวัลรองอันดับ 3 มาได้สำเร็จ
โดยโอปอลได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า "คุณสมบัติที่ผู้นำควรมี คือความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าคุณจะเก่ง หรือมีการศึกษาดีแค่ไหน สุดท้ายต้องมีความเห็นอกเห็นใจ ใส่ใจผู้คน และความเป็นอยู่ของพวกเขา ไม่ใช่แค่ผู้นำ ฉันเชื่อว่าทุกคนในโลกต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน นั่นคือวิธีที่เราจะรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ขอบคุณค่ะ" ซึ่งนอกจากจะชนะใจกรรมการแล้วยังสร้างความประทับใจให้กับเหล่าแฟนนางงามอีกด้วย
ขณะเดียวกัน นอกจากในบทบาทของผู้นำแล้ว Empathy ยังเป็นทักษะที่ทุกคนควรมีไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหน้าที่ใดก็ตาม เพราะการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันสูง ทำให้หลายคนหลงลืมการรู้สึกเห็นใจผู้อื่นไปแล้วมาโฟกัสที่เรื่องของตนเองเป็นหลัก จึงยิ่งสร้างความบั่นทอนในจิตใจให้กับคนรอบข้างและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้
...
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลบทความของ Daniel Goleman นักจิตวิทยา ที่กล่าวถึงเรื่อง Empathy ว่าเป็นความสามารถในการรับรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก มองเห็นในมุมเดียวกับที่ผู้อื่นมอง ทำให้เราสามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่บุคคลนั้นไม่ได้พูดออกมา รวมถึงสามารถเข้าใจความคิดและวิธีการมองโลกของอีกฝ่ายได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของบุคคลในทุกช่วงวัย
- เด็กที่สามารถรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่นย่อมเรียนรู้ที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมกับเพื่อนและคนรอบข้างได้
- ผู้ใหญ่ที่มีความเข้าอกเข้าใจกันก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ ทำงานเป็นทีม มีการแสดงออกทางอารมณ์และมีการตอบสนองต่อผู้คนรอบข้างได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Jobsdb ประเทศไทยเผยว่า Empathy เป็นทักษะที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในทักษะขั้นพื้นฐานของการรู้สึกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการลองเปิดใจ เอาใจของเราไปใส่ในหัวใจของอีกคน ว่าหากเราเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกัน จะรู้สึกอย่างไรหรือเลือกตัดสินใจแบบไหน
ยิ่งเราแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นบ่อยแค่ไหน เช่นเดียวกัน เราก็จะยั้งตัวเองไม่ให้สร้างบาดแผลต่อผู้อื่นได้มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำและคำพูด ทั้งนี้การรับฟังปัญหาด้วยความจริงใจ ก็นับเป็นการแสดงออกถึง Empathy อย่างหนึ่ง เพราะหัวใจหลักของทักษะนี้คือการแสดงให้ทุกคนเข้าใจว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้” โดยการสร้าง Empathy ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1. เปิดใจยอมรับความแตกต่าง
ยอมรับว่าโลกนี้มีคนที่แตกต่างและหลากหลาย อย่าไปตีกรอบคนที่คิดต่างจากเราว่าเป็นคนแปลกแยก แล้วพยายามทำความเข้าใจในมุมมองนั้นๆ ให้มากที่สุด หรือเคารพความแตกต่างนั้นแทน ด้วยการเปิดหู เปิดตา และเปิดใจรับฟังเรื่องราวที่หลากหลายมุมมอง การเลือกฟังแง่มุม หรือหยิบเอาแง่คิดจาก CEO ที่ประสบความสำเร็จแล้วทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จก็เป็นได้
2. ทำกิจกรรมร่วมกับคนในทีมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
การทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงานไม่จำเป็นว่าต้องไปเที่ยวหรือกินข้าวด้วยกันหลังเลิกงานเสมอไป แค่เพียงพูดคุยกันเรื่องสัพเพเหระทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน หรือการกินข้าวด้วยกันในช่วงพักกลางวัน ก็ช่วยสานสัมพันธ์และสร้าง Empathy ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานได้แล้ว
...
3. เริ่มต้นได้จากการสื่อสารที่ดี
เพราะการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้ผู้พูดเปิดใจและเล่าถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา การมี Empathy ที่ดีคือการฟังโดยไม่ตัดสินใครจากเรื่องราว หน้าที่ของเราคือรับฟังและใส่หัวใจตัวเองลงไปในเรื่องราวของเขาอย่างเข้าใจ พร้อมแนะวิธีแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา
4. ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
“Empathy” ไม่ได้หมายถึงการเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมไปถึงการรับฟัง “ความเห็นที่ต่างไป” ด้วยความเข้าใจ อย่างในแง่ของทีมที่ทำงานร่วมกัน ขึ้นชื่อว่าทีมแล้วย่อมแสดงถึงกลุ่มคนจำนวนมาก แน่นอนว่าความคิดต้องมีหลากหลายและกระจัดกระจาย การนำความคิดของทุกคนมารวมกันแล้วหาทางออก ถึงจะเป็นการทำงานที่สนุกและมีประสิทธิภาพ หรืออย่างตัวองค์กรเอง การรับฟังฟีดแบคลูกค้า รวมถึงฟังความเห็นของพนักงานด้วยกันเองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
...
ดังนั้น การมี Empathy จึงเป็นทักษะที่ทุกคนควรมีติดตัว เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย การเปิดใจรับฟังและมองผู้อื่นอย่างเข้าใจจะช่วยให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น