“ขันธ์ 5” หลักธรรมในพุทธศาสนาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนจะได้เรียนรู้ เป็นหนึ่งในเนื้อหาของวิชาสังคมศึกษาหรือวิชาพระพุทธศาสนา บทความนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐชวนทำความรู้จักขันธ์ 5 คืออะไร พร้อมสรุปขันธ์ 5 อธิบายง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก
ทำความรู้จัก “ขันธ์ 5” คืออะไร
ขันธ์ 5 มาจากคำว่า "ขันธ์" แปลว่า พวก หมวด เมื่อรวมกับ 5 จึงหมายถึงสภาวธรรม 5 อย่าง
ขันธ์ 5 หมายถึง รูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่สร้างตัวตนหรือชีวิตขึ้นมา หากเรานำขันธ์ 5 มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว จะช่วยให้เข้าใจถึงความทุกข์ ชีวิต และธรรมชาติความเป็นไปของชีวิตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะหาทางแก้ไขและหาทางดับทุกข์ให้กับตนเองได้
หลักธรรมขันธ์ 5 มีอะไรบ้าง
เบญจขันธ์ หรือขันธ์ 5 ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรมทั้ว 5 ได้แก่
1. รูปขันธ์
ส่วนที่เป็นรูปธรรม ว่าด้วยเรื่องของร่างกายและอวัยวะทั้งหมดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ไขมัน เส้นประสาท หัวใจ แขน ขา หรือแม้แต่สมอง
...
2. เวทนาขันธ์
ส่วนที่เป็นนามธรรม หมายถึง ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ สุขเวทนา รู้สึกสุขสบาย, ทุกขเวทนา รู้สึกทุกข์ และอทุกขมสุขเวทนา รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์
3. สัญญาขันธ์
ส่วนที่เป็นนามธรรม คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งที่ได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นรู้รส รู้รูป รู้เสียง รู้ใจหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น รู้ว่าน้ำสีขาว ไม่มีรสชาติ คือ น้ำเปล่า รู้ว่าเมื่อแดดออกอากาศจะร้อน
4. สังขารขันธ์
ส่วนที่เป็นนามธรรม การคิดปรุงแต่งของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเมื่อจิตปรุงแต่งไปในทางที่ดีก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดี จิตปรุงแต่งในทางชั่ว ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี
5. วิญญาณขันธ์
วิญญาณขันธ์ หมายถึง จิตที่รับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หรือการรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง
ขันธ์ 5 ในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง
การนำขันธ์ 5 มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เราได้เข้าใจในสัจธรรมและธรรมชาติของชีวิตมากยิ่งขึ้น เช่น
- การสังเกตรสชาติอาหารเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน
- การสังเกตผิวพรรณที่เปลี่ยงแปลงไปตามกาลเวลา
- การสังเกตพฤติกรรมดีชั่วว่าเกิดจากความคิด เหตุผลหรืออารมณ์ ณ ขณะนั้น
- การสังเกตผลดี ผลเสีย หรืออารมณ์ที่เป็นผลของการกระทำ
- การสังเกตเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าสิ่งเหล่านั้นส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกตนเองอย่างไร
- การนึกคิดถึงที่มาของเสียง รส หรือรูป
หลักธรรมเกี่ยวกับขันธ์ 5 จะเน้นสอนเรื่องความทุกข์ และชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของสังขารว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง พุทธศาสนิกชนสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันกันได้