ผู้บริหารหนุ่มที่มากความสามารถ บุรินทร์ เหมทัต คร่ำหวอดในวงการสื่อสารประชาสัมพันธ์มายาวนาน ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆจนตกผลึก จึงขอถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการทำงานทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณเอก–บุรินทร์ เหมทัต ทายาทคนโตของ ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ พีอาร์ในตำนาน เจ้าของบริษัท คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ ได้เข้ามาช่วยงานคุณแม่อยู่นานนับสิบปี มีประสบการณ์การทำงานประสานทั้งทางภาครัฐและเอกชน และองค์กรนานาชาติ ปัจจุบันยุติบทบาทงานทางด้าน พีอาร์แล้วหันมาผลิตงานทางสื่อโซเชียลในรายการ “บุรินทร์เจอนี่” ทางยูทูบ และด้วยความสนใจทางด้านความยั่งยืน ทำให้มีไอเดียที่อยากจะผลิตอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปั้นหลักสูตรใหม่ที่เรียนอย่างจริงจัง ในชื่อ หลักสูตรผู้นำทางความคิด ด้านความยั่งยืน
“ตอนนี้ผมเลยมาเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิชาผู้นำทางความคิดด้านความยั่งยืน หรือ GEN GREEN วิชาเลือกของหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป ระดับปริญญาตรี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเราอยากสร้าง sustainable influencer วิสัยทัศน์ของหลักสูตร GEN GREEN คือเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้และทักษะด้านความยั่งยืน ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างโลกที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง โดยหลักสูตรนี้จะเริ่มในการศึกษาปี 2568 เป็นวิชาเลือกที่นิสิตทุกคณะ ทุกชั้นปี สามารถเลือกลงเรียนได้ หลักสูตรนี้เราเน้นความรู้และทักษะด้านความยั่งยืน ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันและในสังคม แล้วจะเป็นการสร้างเครือข่ายและชุมชนของผู้นำรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นในความยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ”
...
ความตั้งใจในการสร้างหลักสูตรนี้ คุณเอก บอกว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานทางด้านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งน่าจะมีคอนเทนต์มีเนื้อหามารองรับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และอยากให้คนรุ่นใหม่เขาหันกลับมามองเรื่องความยั่งยืน เพราะเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่รอบๆตัวเรา ทุกคนสามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้หมด ระดับของการทำอาจจะแตกต่างกัน อยู่ที่ความชอบและความอินแค่เราเปิดไฟดวงที่จำเป็น ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ก็เป็นการสร้างความยั่งยืน เป็นการประหยัดพลังงานแล้ว หรือใครที่อินอีกระดับหนึ่งก็คือ แยกขยะ เศษอาหารทำปุ๋ย ทุกอย่างทำได้หมดอยู่ที่แต่ละคนจะทำอย่างไร
จากประสบการณ์ที่ตกผลึก ผู้บริหารหนุ่ม สะท้อนแง่คิดในการทำงานให้ฟังว่า จากประสบการณ์การทำงานทางด้านพีอาร์ สอนให้เราคิดเป็นระบบมากขึ้น และคิดในเรื่องของเนื้อหาสาระมากขึ้น ได้เอามาใช้ในโลกปัจจุบัน คือการบริหารจัดการเนื้อหา การบริหารจัดการประเด็น รวมไปถึงเรื่องของการจัดการสถานการณ์วิกฤติด้วย ทำให้เราสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้น ปัจจุบันการทำประชาสัมพันธ์ยุคนี้กับยุคก่อนแตกต่างกัน เรื่องของภูมิทัศน์สื่อก็ต่างกันอยู่แล้ว ปัจจุบันเราต้องดูว่าลูกค้าของเราเป็นใคร ชอบอะไร ใช้ภาษาแนวไหน ชอบเนื้อหาสาระแบบไหน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจริงๆสำคัญที่สุดในการทำพีอาร์ยุคนี้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่