เงินชดเชยเลิกจ้าง คือ สิทธิ์ที่พนักงานจะได้รับเป็นเงินช่วยเหลือเมื่อถูกให้ออกจากงาน แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ การศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขของการจ่ายเงินชดเชย กรณีเลิกจ้างตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากรู้ถึงข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ก็จะสามารถรักษาสิทธิ์ของตนเองได้
เงินชดเชยเลิกจ้าง 2567 คืออะไร
เงินชดเชยเลิกจ้าง คือ สิทธิ์ที่พนักงานจะได้รับเป็นเงินช่วยเหลือ กรณีที่ถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากเหตุผลที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง หรือมีการเปลี่ยนโครงสร้างภายในต่างๆ
เงินชดเชยการเลิกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานได้เท่าไรบ้าง
การจ่ายเงินชดเชย เลิกจ้างตามกฎหมายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- เงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างกรณีทั่วไป
- เงินค่าเสียหายจากการไม่บอกล่วงหน้า หรือเงินค่าตกใจ ซึ่งจะได้รับเมื่อนายจ้างให้ออกจากงานโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าให้เตรียมตัวลาออก
วิธีคิดเงินชดเชยเลิกจ้างคิดอย่างไร ได้เท่าไรบ้าง
ดังที่กล่าวมาในข้างต้น การจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งมีวิธีคำนวณ ดังนี้
1. ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป
- หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1-3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3-6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6-10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10-20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย
- หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย
...
2. เงินค่าเสียหายจากการไม่บอกล่วงหน้า คิดเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้าย
เงินชดเชยเลิกจ้าง ยื่นภาษีอย่างไร
เงินชดเชยเลิกจ้างถือเป็นเงินที่ได้รับตามกฎหมาย แต่หากนำมาคำนวณรวมกับเงินได้อาจจะส่งผลให้ภาษีบุคคลสูงไปด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้เงินชดเชยแยกออกจากงานเสียภาษีปกติ
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ปรังปรุงกฎหมายภาษีล่าสุด โดยปรับเพิ่มเพดานค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง
- เดิม ค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี หากเงินชดเชยที่ได้รับมากกว่า 300,000 บาท แต่หากเกิน ส่วนที่เกินจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ใหม่ ค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากเกิน ส่วนที่เกินจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อย่างไรก็ดี มติใหม่ของการปรับปรุงภาษีกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 แต่ใครที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีแล้ว สามารถปรับปรุงและขอคืนภาษีได้ในระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันสุดท้ายที่ยื่นแบบ
เงินชดเชยเลิกจ้าง ประกันสังคมได้อะไรบ้าง
หากใครที่เป็นสมาชิกประกันสังคม เฉพาะประกันสังคม มาตรา 33 กรณีมีการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน มีเงื่อนไขการช่วยเหลือ คือ กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนเป็นเวลา 180 วันต่อปี ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย สมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้าง 10,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท หากค่าจ้าง 20,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 10,000 บาท
เงินชดเชยเลิกจ้าง ต้องหัก ณ ที่จ่ายไหม
เงินชดเชยเลิกจ้าง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไหม จะต้องพิจารณาถึงการจ่ายเงิน อายุการทำงานของลูกจ้าง และเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย แต่หากเป็นเงินชดเชยส่วนอื่นๆ เช่น เงินสมทบพิเศษ เงินวันหยุดที่ไม่ได้ใช้ นายจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และส่งให้กรมสรรพากรเอง
...
เงินชดเชยเลิกจ้าง จ่ายภายในกี่วัน
ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เงินชดเชยเลิกจ้าง กรณีค่าชดเชยมาตรา 118 หรือเงินชดเชยเลิกจ้าง, สินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า และค่าชดเชยพิเศษมาตรา 120, 121 และ 122 จะต้องจ่ายเงินในวันที่เลิกจ้าง
การคำนวณและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเงินชดเชยเลิกจ้างเป็นเรื่องที่พนักงานหรือเหล่ามนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม เพราะหากต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง นอกจากจะรู้เท่าทันกฎหมายแล้ว ยังเป็นการรักษาสิทธิ์ของตนเองอีกด้วย
อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถาม สำนักงานสรรพากร หรือโทร 1161 และกระทรวงแรงงาน สายด่วน 1506
ที่มา : กระทรวงแรงงาน, กรมสรรพากร และกรมประชาสัมพันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง