เมื่อสภาพอากาศคาดเดาไม่ได้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับพันธมิตรด้านความยั่งยืน และบริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ไม่เห็นโลกร้อน ไม่หลั่งน้ำตา : ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้ชีวิต” สร้างสีสันร้อนแรงให้กับงาน “Amazing Green Fest 2024” เทศกาลท่องเที่ยวยั่งยืน ครั้งแรกในประเทศไทย

ทำไม “โลกร้อน” จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “น้ำฝน บุณยะวัฒน์” รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผนของ ททท. ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้การกำหนดฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากในปัจจุบัน จึงไม่สามารถสร้างจุดขายชัดเจนให้กับการท่องเที่ยวอีกต่อไป และส่งผลต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการบินที่อาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน หรือการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไม่สามารถรับประกันความแน่นอนได้ ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มหวาดหวั่นในการเดินทาง อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับอาหารที่เป็นจุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวไทย เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรที่เคยมีคุณภาพสูง และเป็นที่ภูมิใจในท้องถิ่นต่างๆไม่สามารถผลิตได้เช่นเดิม ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนของประเทศมากที่สุด และเอาเปรียบโลกใบนี้มานาน จึงถึงเวลาที่จะต้องจัดการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืนประโยชน์ให้กับประเทศ โดยบทบาทใหม่ของ ททท.ต้องมุ่งสร้างสังคมอุดมปัญญา ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการรักษาและดูแลโลกได้อย่างไร ททท.ต้องปรับการเล่าเรื่องใหม่ เน้นให้ความรู้และข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องเติมความรู้ให้ตัวเอง และรู้จักตัวจริงในอุตสาหกรรมที่เป็นคนช่วยดูแลบ้านเมืองและโลกด้วยจิตสำนึก แล้วเอาความรู้นั้นมาเป็นประสบการณ์ในการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงต้องมองหาพันธมิตรที่มีความเข้าใจตรงกัน

...

ด้าน “วสุมน เนตรกิจเจริญ” นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และการขับเคลื่อนเรื่อง GREEN เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนเข้าใจง่าย โดยการทำงานของสมาคมมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการ “แชร์ แคร์ แฟร์” ผ่านการปลูกฝังความรับผิดชอบเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเดินป่า หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหารออร์แกนิก ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรกันจะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับภาวะโลกร้อน และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เกษตรอินทรีย์ไม่เพียงจะดีต่อสุขภาพ แต่เป็นวิถีการเกษตรที่ช่วยดูแลโลกด้วย โดย “อรุษ นวราช” นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) บอกว่า เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายดินทำลายน้ำ ทำให้ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะที่ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีในราคาแพงมาก ดังนั้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นโดยไม่พึ่งสารเคมีนำเข้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว TOCA เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง สร้างสังคมที่ยั่งยืน และรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่