เทศกาลภาพยนตร์ COREหนัง ครั้งที่ 14 (Coreหนัง: Class of 2024) มาถึงแล้ว กับผลงานหนังสั้นสารนิพนธ์ของนักศึกษากลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปีนี้จัดมาให้ชมกันอย่างครบรส ทั้งแนวดราม่า slice of life การค้นหาตัวเอง แนวคอมเมดี้ แนวสยองขวัญ ฆาตกรรม และหนังครอบครัว 

เทศกาลภาพยนตร์ COREหนัง ครั้งที่ 14 ปีนี้มีผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่มาให้ชมกันถึง 22 เรื่อง จากนักศึกษาเอกฟิล์ม 35 ชีวิต โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10-12 สิงหาคม 2567 ณ โรงภาพยนตร์เฮาส์ สามย่าน ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์  

...

โดยทีมงาน Coreหนัง ที่มี ณัฏฐณิชา กุลไกรจักร และ เคียวนุ ยูน เป็นโปรดิวเซอร์การจัดงาน เล่าว่า “งานหนังสั้นสารนิพนธ์ในปีนี้นำเสนอด้วยธีม ‘Coreหนัง: Class of 2024’ ซึ่งนอกจากที่ผู้ชมจะได้ชมฝีมือของเหล่าคนทำหนังรุ่นใหม่ในบทบาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพ ผู้กำกับศิลป์ ฯลฯ ผู้ชมยังจะได้ทำความรู้จักกับตัวตน แนวคิด และแรงบันดาลใจของพวกเขาจากงานจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบของ Yearbook หรือหนังสือรุ่นของคนทำหนังเลือดใหม่เหล่านี้ด้วย

ด้านฝ่ายจัดฉายของทีมงาน Coreหนัง วรัญญา ภาใจธรรม เล่าให้ฟังว่า “แนวหนังในปีนี้นำเสนอแนวภาพยนตร์ที่ครบทุกรส ที่เด่นๆ คือ แนวดราม่า Slice of Life การค้นหาตัวเอง นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคอมเมดี้ แนวสยองขวัญ ฆาตกรรม หนังครอบครัว และแนวสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ฉีกกรอบออกไป เช่น หนังกึ่งสารคดี หนังอินดี้ รวมถึงหนังที่ตั้งคำถามกับประเด็นบางอย่าง และหนังที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำของผู้กำกับในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต เป็นต้น”  

...

แม้ปีนี้จะมีการปรับรูปแบบการจัดฉาย โดยธรรมเนียมการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสายภาพยนตร์มาให้ข้อคิดเห็นต่อหนังของนักศึกษาที่มักจะต่อท้ายจากการจัดฉายหนังนั้น ได้ถูกจัดขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว “เราต้องการให้ผู้ชมได้ใช้เวลาเต็มอิ่มกับการชมภาพยนตร์มากขึ้น ในปีนี้เราจึงจัดเป็นงานเชิงวิชาการขึ้นก่อนสำหรับคนทำหนังโดยเฉพาะ 

...

โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงภาพยนตร์มาให้ข้อคิดเห็นกับหนังของพวกเรา เช่น คัทลียา เผ่าศรีเจริญ โปรดิวเซอร์ จาก 185 Films, พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง กระเบนราหู (Manta Ray), ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต นักลำดับภาพยนตร์, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ และปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ แห่งค่าย GTH เป็นต้น เพราะฉะนั้นในงาน COREหนัง วันที่ 10-12 สิงหาคมนี้ ก็จะใช้เวลากับการฉายหนังอย่างเต็มอิ่มและต่อเนื่องมากขึ้น และสำหรับข้อคิดเห็นในฐานะเลือดใหม่ในวงการภาพยนตร์ พวกเขามองเทศกาลหนังสารนิพนธ์ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับนักทำหนังรุ่นใหม่บ้าง 

...

ณัฏฐณิชา กล่าวว่า “ถ้าพูดในเชิงอุตสาหกรรม การจัดฉายหนังนักศึกษาก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนทำหนังรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถและผลงานออกสู่ตลาด สู่สายตาสาธารณะ รวมถึงคนในแวดวงภาพยนตร์ หนังแต่ละเรื่องมีตัวตนของผู้สร้างที่ใส่ตัวเองลงไปในงาน และในแง่ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นหนึ่งในความฝันของเด็กเรียนภาพยนตร์ สิ่งนี้เป็นผลลัพธ์ที่เราเรียนรู้สั่งสมมาตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย และในชีวิตของเด็กภาพยนตร์ก็อยากสร้างสรรค์หนังของตัวเองสักเรื่องที่ได้ออกฉายสู่สายตาสาธารณะ”

“ผมคิดว่าเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่ทำหนังจบ ก็คงคิดว่านี่เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเราช่วงนี้ อีกสิบปีผ่านไปอาจจะเป็นอีกอย่าง แต่เมื่อเราได้หันกลับมาดู ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ และมันอาจเป็นบทสรุปที่ทำให้เราได้คำตอบบางอย่าง เพื่อนผมเองหลายคนที่ทำหนังเสร็จก็มีคำตอบกับชีวิตในอนาคตว่าเขาจะมุ่งมั่นเป็นคนทำหนังต่อไป ผมว่ามันสามารถให้คำตอบในแง่การเดินทางต่อในอนาคต” เคียวนุ ยูน กล่าวถึงคำตอบที่ชัดเจนขึ้นของเด็กภาพยนตร์หลังทำหนังสารนิพนธ์จบ

วรัญญา กล่าวว่า “ความมีเสน่ห์ของหนังนักศึกษา คือ การที่เราสามารถสร้างสรรค์มันออกมาในรูปแบบอะไรก็ได้ที่เราต้องการ เราสามารถเป็นตัวของเราเองได้มากที่สุด การทำหนังสารนิพนธ์นี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาก ตั้งแต่เริ่มปั้นโปรเจกต์จนกระทั่งผลงานเสร็จสมบูรณ์ออกมาเป็นหนัง ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมดตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตของนักศึกษาภาพยนตร์ทุกคน ก็อยากชวนทุกคนมาดู หรือคนในอุตสาหกรรมที่กำลังมองหาแวว หรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากเด็กรุ่นใหม่ ก็อาจจะได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาบทสำหรับหนังในอุตสาหกรรมก็เป็นได้”  

“อยากให้คนภายนอกเปิดใจกับหนังนักศึกษา เพราะคนรุ่นใหม่มีความสามารถ อนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเรามีศักยภาพอีกมาก เรามีความสามารถ ทุกคนมีของ ก็อยากให้ช่วยกันสนับสนุนหนังของคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกันค่ะ” ณัฏฐณิชา กล่าวทิ้งท้าย

เทศกาล Coreหนัง ชมฟรี! วันที่ 10-12 สิงหาคม 2567 ณ โรงภาพยนตร์เฮาส์ สามย่าน ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เปิดจองบัตรเข้าชมภาพยนตร์ทางระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2567 ผ่าน ticketmelon (75 ที่นั่ง) ที่  Ticketmelon และรับบัตรหน้างานโดยสามารถ Walk-in ได้ (48 ที่นั่ง) มาก่อนรับสิทธิ์ก่อน.