งานวิวาห์สุดอลังการของ อนันต์ อัมบานี ลูกชายคนเล็กของ มูเกช อัมบานี อภิมหาเศรษฐีอินเดีย ที่จัดงานต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วัน 4 คืน ได้กลายเป็นไวรัลระดับโลก เพราะนอกจากการทุ่มเทจัดงานใหญ่หลายวันแล้ว ยังเชิญคนดังระดับโลก มหาเศรษฐี นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง อย่างนายเจ วาย ลี ประธานบริษัทซัมซุง อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นายโทนี แบลร์ และนายบอริส จอห์นสัน ซีอีโอบริษัท Saudi Aramco นายอามิน เอช นัสเซอร์ นักร้องสาวอะเดล ลาน่า เดล เรย์ คิม คาร์เดเชียน รวมทั้ง เดวิด เบคแคม รวมทั้งดาราบอลลีวูดชื่อดังที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ซึ่งในงานนี้มีเยาวชนไทยไปร่วมแสดงดนตรีคลาสสิกขับกล่อมให้เหล่ามหาเศรษฐีอินเดียและคนดังจากทั่วโลกได้รับฟังอีกด้วย

พงษ์ไพโรจน์ เลิศสุดวิชัย หรือต้องสู้ เยาวชนไทยวัย 22 ปี ที่ได้เป็นหนึ่งใน 40 ตัวแทนนักดนตรีคลาสสิกชาวไทยที่ร่วมเดินทางไปแสดงดนตรีในงานนี้ได้เปิดใจกับทีมไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ด้วยความภาคภูมิใจว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้ไปแสดงดนตรีในงานแต่งงานแห่งนี้ พร้อมทั้งเล่าถึงประสบการณ์ความประทับใจหลายอย่างที่ได้พบเจอในงานดังกล่าว

ต้องสู้-พงษ์ไพโรจน์ เลิศสุดวิชัย (สวมแว่น) และน้องชายของเขา ต้องหนึ่ง-สุดเลิศ เลิศสุดวิชัย สองนักดนตรีเยาวชนไทยที่ได้ไปร่วมแสดงดนตรีคลาสสิกในแต่งงานของมหาเศรษฐีชาวอินเดียชื่อดัง
ต้องสู้-พงษ์ไพโรจน์ เลิศสุดวิชัย (สวมแว่น) และน้องชายของเขา ต้องหนึ่ง-สุดเลิศ เลิศสุดวิชัย สองนักดนตรีเยาวชนไทยที่ได้ไปร่วมแสดงดนตรีคลาสสิกในแต่งงานของมหาเศรษฐีชาวอินเดียชื่อดัง

...

ต้องสู้เล่าว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 เขาได้รับการติดต่อจากบริษัทสตูดิโอแห่งหนึ่งว่ากำลังหานักดนตรีคลาสสิกจำนวน 40 ชีวิตไปร่วมแสดงดนตรีเครื่องสายคือ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส ในพิธีแต่งงานของอนันต์ อัมบานี ลูกชายคนเล็กของ มูเกช อัมบานี อภิมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ที่ร่ำรวยสุดในเอเชีย ประธานกลุ่มบริษัท รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ กับเจ้าสาวคือ รติกา เมอร์ชานต์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของเจ้าของบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ในอินเดีย โดยเขาและน้องชายชื่อ ต้องหนึ่ง เป็นหนึ่งในนั้นที่เดินทางไปร่วมแสดงดนตรีในวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา

คู่บ่าวสาวทายาทมหาเศรษฐีอินเดียชื่อดัง อนันด์ อัมบานี และรติกา เมอร์ชานต์
คู่บ่าวสาวทายาทมหาเศรษฐีอินเดียชื่อดัง อนันด์ อัมบานี และรติกา เมอร์ชานต์

“ผมกับน้องเล่นไวโอลินทั้งคู่ ที่ประทับใจก็เพราะเป็นงานแต่งแห่งศตวรรษ เหมือนที่เราเห็นในหนังบอลลีวูด ทุกคนแต่งตัวจัดเต็ม พื้นที่จัดงานเหมือนอยู่ในห้องประชุมใหญ่ๆ และมีหลายชั้น ให้อารณ์เหมือนอยู่ในราชวังเมืองโบราณ ทุกพื้นที่มีรายละเอียดการตกแต่งสวยงาม คนในงานก็แต่งส่าหรีสวยๆ แต่งเลื่อมทองต่างๆ ผู้ชายก็ใส่สูท ใส่ชุดประจำชาติของเขา ในงานมีส่วนที่จำลองเป็นร้านขายน้ำหอม ร้านขายพรมต่างๆ”

บรรยากาศภายในสถานที่จัดงานแต่งงานถูกตกแต่งอย่างสวยงามตระการตา
บรรยากาศภายในสถานที่จัดงานแต่งงานถูกตกแต่งอย่างสวยงามตระการตา

เขาเล่าด้วยน้ำเสียงประทับใจให้เราฟังและเห็นภาพต่อว่า ในพื้นที่จัดงานชั้น G มีห้องใหญ่ทั้งหมด 3 ห้อง โดยที่ทั้ง 3 ห้องเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ได้แก่ ห้องทำพิธีฮินดู มีการเชิญพระครูมาทำพิธีแต่งงาน ตรงกลางห้องมีรูปปั้นของพระวิษณุและพระลักษมีอยู่ ส่วนห้องกลางออกแบบให้เป็นเวทีใหญ่ที่เชิญนักร้องนักแสดงระดับโลกมาร้องเพลง รวมทั้งมีวงดนตรีต่างๆ และนักร้องชื่อดังของอินเดีย

...

ส่วนห้องที่สามเป็นห้องที่ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวมาร่วมถ่ายรูปกับเหล่าญาติๆ และคนในครอบครัว ซึ่งในห้องนี้คนภายนอกไม่สามารถเดินเข้าไปได้ ภายในห้องตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตรตระการตา มีพู่ดอกไม้ ร้อยเรียงกันเป็นอุบะ

“บริเวณที่ผมกับน้องชายและนักดนตรีคลาสสิกชาวไทยคนอื่นๆ มาร่วมแสดงดนตรีจะอยู่ที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องรับประทานอาหาร และได้แบ่งกลุ่มละ 20 คน ไปแสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีจากฮังการีและนักดนตรีจากอินเดียที่เล่นเครื่องดนตรีคลาสสิกอื่นๆ โดยเพลงที่บรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงซาวนด์แทร็กจากภาพยนตร์บอลลีวูดและเพลงคลาสสิก ซึ่งในวันนั้นมีบิล เกตส์ มาร่วมฟังเราแสดงดนตรีด้วย”

...

จุดเริ่มต้นเส้นทางนักดนตรีคลาสสิก

สำหรับจุดเริ่มต้นของการเป็นนักดนตรีคลาสสิกนั้น ต้องสู้ บอกกับเราว่าเริ่มต้นเมื่อตอนเขาอายุ 5 ขวบ ซึ่งพ่อของเขาที่เป็นศิลปินนักวาดภาพแต่ชอบเล่นกีตาร์อยากสนับสนุนให้ลูกๆ มาเส้นทางดนตรีเพื่อเรียนรู้ช่องทางใหม่ๆ จึงได้ผลักดันเขาและน้องชายที่อายุห่างกัน 3 ปี เริ่มต้นเรียนไวโอลินในวัยที่ไล่เลี่ยกัน

“ตอนแรกๆ สมัยเด็ก ก็ไม่ได้รู้สึกสนุกกับการเล่นดนตรีเท่าไร เพราะรู้สึกว่าต้องสละเวลาเล่นกับเพื่อน ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียสละขนาดนั้น แต่ก็มาคิดได้ตอนโตว่าการเล่นดนตรีให้อะไรกับเรามากกว่านั้น ไม่ต้องรู้สึกเสียดายเวลา จากนั้นก็เริ่มซึมซับ ฟังดนตรีคลาสสิกมาเรื่อยๆ และคุณพ่อก็เป็นนักฟังดนตรี เราก็เลยรู้สึกว่าดนตรีเหมาะกับเรา”

ต้องหนึ่ง-สุดเลิศ เลิศสุดวิชัย เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่ตอนอายุ 4 ขวบ และเดินตามรอยพี่ชายจนถึงปัจจุบัน
ต้องหนึ่ง-สุดเลิศ เลิศสุดวิชัย เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่ตอนอายุ 4 ขวบ และเดินตามรอยพี่ชายจนถึงปัจจุบัน

...

ขณะเดียวกัน เขายังมีคุณพ่อและคุณแม่ที่ล้วนเป็นนักฟังดนตรีคลาสสิกทั้งคู่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาชื่นชอบและหลงใหลเส้นทางนี้ตามไปด้วย โดยที่พ่อของเขาชอบเปิดเพลงเก่าและเพลงสุนทราภรณ์ให้ฟังบ่อยๆ ส่วนคุณแม่ก็มักจะชอบพาไปดูมิวสิคัล และโอเปร่าตอนเด็กๆ จึงทำให้เขาและน้องชายซึมซับความชอบนี้มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

“มันเป็นโลกใบใหม่ที่คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนในโลกก็มีภาษาดนตรีเหมือนกัน เป็นภาษาที่สื่อกันผ่านอารมณ์ ผมเลยคิดว่านี่คือเสน่ห์ของดนตรี เพราะเชื่อมโยงกันได้ทุกแคว้น ทุกแดน ทุกภาษา ทุกเชื้อชาติเข้าด้วยกันหมดเลย ดนตรีเป็นภาษาสากล การเล่นทำนองแบบนี้คือเพลงเศร้า ทำนองแบบนี้หมายถึงดีใจ คนทั่วไปฟังครั้งเดียวก็เข้าใจเลย เพราะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเราโดยไม่ต้องแปล”

นอกจากความหลงใหลในดนตรีคลาสสิกแล้ว เขายังรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นและได้ฟังดนตรี และรู้ว่าสามารถใช้เป็นช่องทางอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงรู้สึกว่านี่คือทางของเขาจริงๆ

อนาคตของเส้นทางสายนักดนตรีที่วางไว้

ปัจจุบัน ต้องสู้ ในวัย 22 ปี เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นสถาบันเฉพาะทางที่สอนด้านดนตรีคลาสสิก ดนตรีตะวันตกโดยเฉพาะ ตามพระปณิธานของสมเด็จพระพี่นางฯ เพื่อให้คนที่สนใจด้านดนตรีได้มุ่งไปเส้นทางนี้โดยเฉพาะ ส่วน ต้องหนึ่ง น้องชายของเขาที่ตอนนี้อายุ 18 ปี ก็เดินตามรอยเข้าศึกษาในสถาบันเดียวกันซึ่งขณะนี้กำลังเรียนในชั้นปีที่ 2

ส่วนอนาคตที่เขามองไว้คือการไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านดนตรีคลาสสิกที่ประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของดนตรีคลาสสิก จากนั้นก็ตั้งใจทำงานที่นั่นสักระยะค่อยกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งสายอาชีพทางด้านดนตรีคลาสสิกก็มีทั้งการเล่นดนตรีในวงออร์เคสตรา เป็นอาจารย์ด้านดนตรีในมหาวิทยาลัย หรือเป็นติวเตอร์ด้านนี้โดยเฉพาะก็ได้

อนาคตที่ต้องสู้วางไว้คือการได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านดนตรีคลาสสิกที่ประเทศฟินแลนด์
อนาคตที่ต้องสู้วางไว้คือการได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านดนตรีคลาสสิกที่ประเทศฟินแลนด์

นอกจากนี้ เขาและกลุ่มเพื่อนที่เป็นคนรุ่นใหม่วัยเดียวกันได้รวมตัวกันทำโครงการ Bangkok Youth Opera มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่สนใจเรื่องดนตรีคลาสสิกและโอเปร่าได้มีโอกาสเข้าถึงศาสตร์ด้านนี้มากขึ้นผ่านการจัดแสดงดนตรี โดยทุกครั้งที่มีการจัดแสดงก็จะมีคนดูเต็มทุกรอบ เรียกได้ว่ามีการตอบรับที่ดีเลยทีเดียว

“ผมมองว่าคนไทยเป็นคนที่เก่งมาก แต่ไม่ใช่ทุกศาสตร์ที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เราก็มีกำลังสนับสนุนอยู่บ้างแต่เราสามารถต่อยอดได้มากกว่านี้เยอะ อย่างโอเปร่าเยาวชนเองหากมีหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรไหนสนใจหรือสนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นคนยุคใหม่ที่กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ผมคิดว่าวงการศิลปะของไทยควรได้รับการสนับสนุนที่มากกว่านี้” เขากล่าวทิ้งท้าย