หากใครมาเยือนเมืองเก่าสงขลา คงต้องไม่พลาดการเดินเล่นสำรวจตามถนนสายหลักสามสาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ยลโฉมสถาปัตยกรรมของตึกรามบ้านช่องหลากรูปแบบ แวะชมสตรีตอาร์ต-ภาพวาดสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนตามผนังอาคารบ้านเรือน ที่สำคัญ ย่านเมืองเก่าสงขลายังเป็นแหล่งรวมอาหารพื้นถิ่นหลากหลาย ชนิดที่ภายในหนึ่งสัปดาห์คุณสามารถเลือกลิ้มลองได้โดยไม่ซ้ำเมนูกันเลยทีเดียว   

เมื่อมีโอกาสมาเยือนสงขลาในระยะเวลาสั้นๆ และตั้งใจจะเดินชมเขตเมืองเก่าพร้อมซอกแซกชิมอาหารรสท้องถิ่นให้ทั่ว ปะเหมาะเคราะห์ดีได้พบกับ "บ้านในนคร" ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าบนถนนนางงาม ทำเลสะดวกสำหรับการเดินทอดน่องสำรวจเมืองอย่างสบายๆ และรู้สึกหายเหนื่อยโดยพลันเมื่อกลับสู่มุมสงบสบายของที่พัก 

เมื่อก้าวเข้าสู่อาคารเก่าสามชั้นของบ้านในนคร เหมือนได้อยู่ในแวดล้อมที่เรียกบรรยากาศเก่าๆ กลับมา มุมนั่งเล่นอ่านหนังสือ โซฟาสไตล์วินเทจ ชุดถ้วยชามเซรามิกและบรรดาของเก่าสะสม ชุดเฟอร์นิเจอร์และหมอนอิงผ้าปาเต๊ะสีสันสดใสแฝงกลิ่นอายพื้นถิ่นทางใต้ และงานกระเบื้องโมเสกที่สร้างสีสันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของตัวบ้านและมุมต่างๆ ในสวน 

ดนัย โต๊ะเจ กับมุมนั่งเล่นอ่านหนังสือใน
ดนัย โต๊ะเจ กับมุมนั่งเล่นอ่านหนังสือใน "บ้านในนคร"

...

ทั้งหมดนี้ออกแบบและลงมือสร้างสรรค์โดย ดนัย โต๊ะเจ อดีตพนักงานต้อนรับการบินไทย ผู้บูรณะปรับโฉมอาคารเก่าอายุร่วมร้อยปีแห่งนี้เมื่อแปดปีก่อน และผันตัวเองมาดูแลกิจการที่พักขนาดกะทัดรัด 6 ห้องเท่านั้น... และวันนี้เขายิ้มรับอย่างยินดีที่จะมาพูดคุยถึงที่มาของบ้านในนครให้ฟัง

บ้านเก่า เมืองเก่าสงขลา ชะตาลิขิต

แม้จะเป็นคนพื้นเพจากสุไหงโก-ลก แต่เมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองที่ดนัยประทับใจอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อเพื่อนมาบอกข่าวว่าเห็นประกาศขายบ้านเก่าบนถนนนางงาม ใจกลางเขตเมืองเก่าสงขลา เขาจึงสนใจทันที 

"ผมชอบเมืองเก่า และสงขลาก็เป็นเมืองที่คุ้นเคยและประทับใจมาตลอด และบ้านนี้ยังมีพื้นที่สวน ซึ่งผมเป็นคนชอบพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว แถมยังอยู่ในโลเคชันที่ดีมาก บนถนนสายสำคัญเส้นเดียวกับศาลหลักเมือง ตรงใจกลางเมืองเก่า ไปมาสะดวก แถมยังเป็นแหล่งอาหารท้องถิ่นหลากหลาย กิจกรรมหลายอย่างก็เกิดขึ้นแถวนี้"

"พอได้มาดูบ้านก็ชอบเลย แต่ถ้าถามว่าคิดจะมาทำธุรกิจอะไรที่นี่ไหม ก็ไม่เคยคิดเลย ทุกอย่างเป็นเหมือนลิขิตที่ให้เรามาที่นี่ ได้มาเจอบ้านหลังนี้ และได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่... พอมาเห็นบ้านก็คิดว่าซื้อแน่นอน แล้วก็ตัดสินใจซื้อทิ้งไว้ ซึ่งคิดไม่ผิดเลย"

หลังจากตัดสินใจลาออกจากงานและมีแผนจะไปพำนักยังต่างประเทศกับครอบครัว ดนัยบอกว่า เขาตรงดิ่งมาที่นี่ เพราะอยากจัดการซ่อมแซมบูรณะตัวบ้านก่อนห่างหายไปนาน ด้วยเกรงว่าหากทิ้งไว้โดยไม่ดูแล บ้านเก่าอาจทรุดโทรมลงไปได้ง่าย แต่ห้วงเวลาของการชุบชีวิตบ้านหลังนี้ขึ้นมาใหม่ กลับกลายเป็นช่วงพลิกผันที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจใหม่อีกครั้ง

บริเวณโถงต้อนรับแขกของ
บริเวณโถงต้อนรับแขกของ "บ้านในนคร"

"ผมมาขลุกอยู่ที่นี่เพื่อซ่อมแซมบ้าน แล้วก็พบว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด ทำสิ่งต่างๆ เอง ตกแต่งปรับปรุงเอง เราออกแบบแปลนคร่าวๆ ว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน ระบบท่อ น้ำ ไฟ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่น ประตูจะเป็นแบบไหน ก็จะคิดเดี๋ยวนั้นเลยในช่วงรื้อถอน คือถ้าข้าวของยังอยู่ในสภาพดีใช้ได้ ก็จะรักษามันไว้ เอามาใช้ หรือปรับแต่งให้ใช้ใหม่ได้" 

"ทำไปทำมาก็คิดว่าถึงที่สุดแล้วเราก็อยากจะอยู่กับบ้าน อยู่กับรากของเราที่เมืองไทย ก็เลยตัดสินใจว่ามาตั้งหลักแหล่งที่นี่ดีกว่า จึงเป็นที่มาของ ‘บ้านในนคร’"  

รังสรรค์ใหม่สไตล์เฉพาะตัว ด้วยสมองและสองมือ

ด้วยความที่ร่ำเรียนมาทางโบราณคดี ผนวกกับการงานที่เคยได้เดินทางไปเยือนหลากหลายประเทศ และความชอบด้านศิลปะเป็นทุนเดิม ดนัยบอกว่า ศิลปะมันหล่อหลอมอยู่ในตัวเขา จากสิ่งที่เขาเติบโตและพบเห็น และเมื่อลงมือปรับโฉมตัวอาคารแห่งนี้ เขาก็สร้างสรรค์มันในแบบฉบับของตัวเอง 

มุมนั่งเล่นในบรรยากาศย้อนยุค
มุมนั่งเล่นในบรรยากาศย้อนยุค

...

"คอนเซปต์ของเราคือ เอาของธรรมดาๆ ทั้งถ้วยชามรามไห กระเบื้องเก่า ข้าวของเครื่องใช้โบราณที่คนอาจจะเอาไปทิ้ง แต่เราเอามาตกแต่งดัดแปลงทำให้มีคุณค่าขึ้นมา เมื่อคนมาเห็นก็จะนึกถึงภาพจำเก่าๆ ในอดีตที่วันนี้เขาอาจไม่ได้เห็นหรือมันหายไปแล้ว แต่ยังได้มาเห็นที่นี่ และผมก็ชอบที่จะเอาความเป็นท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน เช่น ผ้าพื้นเมือง ซึ่งช่วยเสริมคุณค่าและทำให้เกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้น" 

ด้วยเหตุนี้ บ้านในนคร จึงเต็มไปด้วยของตกแต่งที่มาจากข้าวของเครื่องใช้ ทั้งหม้อ ไห กระทะ ตะหลิว ถาด ทัพพี ทุกสิ่งอย่างที่มี และลวดลายผ้าพื้นเมืองที่อวดโฉมอยู่ในรูปของผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง ปลอกหมอนอิง ผ้ารองจาน กล่องใส่กระดาษทิชชู สารพัดสารพัน อีกทั้งเศษกระเบื้องเก่าหลากสีสันที่นำมาบรรจงรังสรรค์ใหม่เป็นตัวหนังสือ ดอกไม้ และรูปลักษณ์ต่างๆ ตามผนัง พื้นทางเดิน ลูกบิดประตู กรอบกระจก ที่เขาทำขึ้นมาเองกับมือทุกชิ้น  

ห้องพัก
ห้องพัก "บ้านในนคร"

...

"มันมีความสนุกตรงที่ว่าเราสร้างที่พักขึ้นมาจากสิ่งที่มี และออกแบบตามใจเรา ข้าวของเก่าที่เราเก็บรักษาไว้มันก็เหมือนพิพิธภัณฑ์ในตัวที่เราพยายามรักษาไว้ และก็คิดไว้แต่แรกว่าห้องพักแต่ละห้องเราจะสร้างสรรค์มันออกมาให้ไม่เหมือนกันเลย เราจะไม่ซื้อของสำเร็จมาตั้ง ของแต่ละชิ้นจะต้องผ่านการคิดหรือดัดแปลงเพื่อให้คนรู้สึกว้าว และรู้สึกภูมิใจเมื่อได้เห็นผลงานที่ทำออกมาและมีคนชอบมัน" 

บ้านเก่า และเรื่องเล่าผ่านกาลเวลา 

ไม่เพียงแต่ทำเลที่ตั้งที่อยู่ในเมืองเก่าย่านประวัติศาสตร์ บ้านเก่าหลังนี้ยังมีประวัติความเป็นมาที่ช่วยเติมมนตร์เสน่ห์ให้กับที่พักแห่งนี้ด้วย ดนัยเล่าว่า บ้านแต่ละหลังในย่านนี้ต่างมีประวัติและเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยความใคร่รู้ เขาจึงอยากทำความรู้จักในเชิงลึกด้วยการพยายามสืบค้นเรื่องราวของผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ในแต่ละยุคสมัยด้วย 

"ผมพยายามสืบค้นประวัติของบ้านเพิ่มเติม เช่น จากหนังสืองานศพ หรือจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศของเมืองสงขลาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พยายามซูมหาตำแหน่งของบ้านหลังนี้ และก็พบ เห็นเป็นตัวบ้านรางๆ... ภาพนั้นอายุเกือบร้อยปีแล้ว เพราะฉะนั้นบ้านหลังนี้ก็น่าจะผ่านกาลเวลามาไม่น้อยกว่าหนึ่งศตวรรษ"

ภาพของพระนิเทศโลหสถาน ต้นตระกูลวุฒิภูมิ เจ้าของบ้านคนแรก
ภาพของพระนิเทศโลหสถาน ต้นตระกูลวุฒิภูมิ เจ้าของบ้านคนแรก

...

"สุดท้ายก็ค้นจนทราบว่าเจ้าของที่มีชื่อในโฉนดที่ดินคนแรกคือ พระนิเทศโลหสถาน (วูดฮัล วุฒิภูมิ) เป็นต้นตระกูลวุฒิภูมิ ท่านเป็นชาวศรีลังกา เป็นนักภูมิศาสตร์ และนักทำแผนที่ มารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมืองดีบุกทางภาคใต้ของไทยกำลังบูม และต้องการคนชี้แหล่งแร่พวกนี้... ดีใจมากที่ค้นพบข้อมูลของท่าน"

"เจ้าของคนต่อมาคือ นายคล้าย ละอองมณี อดีต สส.สงขลา 8 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ เวลามีงานของพรรคที่สงขลา บุคคลสำคัญๆ ของพรรคก็มารวมตัวกันที่บ้านนี้ เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น ต่อมาท่านก็ขายบ้านให้กับ นายพงษ์ศักดิ์ โชคสกุลนิมิตร ชาวนครปฐม ที่เดินทางโดยเรือมาหาลู่ทางทำกินที่สงขลา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเจ้าของกิจการแพปลา เมื่อเกษียณก็ได้ย้ายไปอาศัยกับลูกหลานที่กรุงเทพฯ ก่อนประกาศขายบ้านหลังนี้ในที่สุด"  

ภาพของนายคล้าย ละอองมณี เจ้าของบ้านคนที่สอง
ภาพของนายคล้าย ละอองมณี เจ้าของบ้านคนที่สอง

ดนัย บอกว่า การรู้รากที่มา รู้ประวัติศาสตร์ ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ยังคงอยู่ และคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจมาทำ "บ้านในนคร" ที่นี่  

"ผมมองว่าเมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญคือเป็นเมืองเก่าที่ยังมีชีวิตและยังคงความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ที่นี่มีกลุ่มคนท้องถิ่นเชื้อสายจีน มุสลิม ไทย อยู่ร่วมกัน และประกอบกิจการดั้งเดิมมายาวนาน มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ถ่ายเทไปมาและหล่อหลอมเข้าด้วยกัน และยังสืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน มันเป็นเสน่ห์ของที่นี่"

ดนัยบดเมล็ดกาแฟสดๆ พร้อมดริปให้แขกที่มาพัก
ดนัยบดเมล็ดกาแฟสดๆ พร้อมดริปให้แขกที่มาพัก

"สำหรับ บ้านในนคร เราพยายามเก็บรักษาข้าวของเก่าๆ ไว้เหมือนพิพิธภัณฑ์ในตัว จัดวางอาจจะรุงรังบ้าง แต่เชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยย้อนความทรงจำของผู้คนได้ หลายคนมาพักที่นี่ ก็อยากให้เหมือนกลับมาเยี่ยมบ้าน ได้บรรยากาศที่เรียกความทรงจำเก่าๆ กลับมา ที่สำคัญ บ้านในนคร อยู่ใจกลางเมืองเก่าสงขลาเลย แค่ก้าวเท้าไม่กี่ก้าวก็สามารถไปถึงสถานที่ทุกแห่งในละแวกนี้ แวดล้อมไปด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟ และขนมท้องถิ่นให้เลือกสารพัด" ดนัย กล่าวทิ้งท้าย   

ก่อนจากกันไป ขอแอบกระซิบด้วยว่า แม้ร้านอาหารหลากหลายจะรายล้อมย่านนี้ คุณจะต้องไม่พลาดชุดอาหารเช้าของบ้านในนคร โรตีแกงไก่ หรือข้าวต้มไก่สับก้อนกลม สูตรเฉพาะของที่นี่ ที่เสิร์ฟพร้อมผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาล และกาแฟดริปบดเมล็ดใหม่ทุกเช้า... นั่งจิบกาแฟ แกล้มโรตีในสวนกลางเมืองเก่าสงขลา ฟินอย่าบอกใคร!.

บรรยากาศการตระเตรียมอาหารเช้าในครัว เพื่อรองรับแขกผู้มาเยือน
บรรยากาศการตระเตรียมอาหารเช้าในครัว เพื่อรองรับแขกผู้มาเยือน "บ้านในนคร"