คุณรู้หรือไม่ว่าภายในปี 2030 การขาดแคลนพนักงานดูแลผู้สูงอายุ 1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา จะเป็นปัญหาวิกฤติสาธารณสุขและสังคม สำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐฯคาดการณ์ว่าในปี 2034 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งนั่นหมายถึงสถานการณ์การขาดแคลนผู้ดูแลก็จะเริ่มเป็นปัญหามากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันการดูแลผู้สูงอายุและเด็กพิการกำลังเป็นภาระของสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูง
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าผู้ดูแลครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้างต้องทำงานที่มีมูลค่าประมาณ 470 ล้านดอลลาร์ทุกปี ประมาณการว่าผู้ดูแล 41 ล้านคนให้การดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 34,000 ล้านชั่วโมง คิดเป็นมูลค่ารวม 600,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่พวกเขาเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นี่อาจจะถึงจุดเปลี่ยนที่เราจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุ แทนผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์จริงๆ...
ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เป็นชาติแรกในโลก คาดว่าจะขาดแคลนผู้ดูแลผู้ป่วยถึง 1 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นั่นจึงทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงานบริการ
...
ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า หลายปีก่อนหุ่นยนต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่นอาจเป็น Honda Asimo แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆของภูเขาน้ำแข็ง ปัจจุบันในบ้านพักคนชรา สำนักงาน และโรงเรียนหลายแห่งของญี่ปุ่นเริ่มมีการพัฒนาการใช้หุ่นยนต์เพื่อเป็น Caregiver หรือผู้ดูแลเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะมีประชากรสูงอายุมากขึ้น แต่ประชากรวัยแรงงานก็ลดลงด้วย
Telenoid ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กคล้ายทารก ไม่มีขาและแขนเล็ก เป็นเวอร์ชันแรกๆที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานในบ้านพักคนชราในกรุงโตเกียว พนักงานในบ้านพักคนชราบอกว่า เจ้า Telenoid ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการตอบโต้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหาภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะการตอบสนองของหุ่นยนต์ที่สามารถทำได้ดีกว่ามนุษย์อย่างหนึ่งก็เพราะว่ามันมีความอดทนมากกว่า
ข้อมูลจาก Robotic.org ระบุว่า หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุสามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการตักอาหารหรือน้ำ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถตอบสนองความต้องการทางสังคมและอารมณ์ได้โดยการเล่นเกมและให้ความบันเทิง และหุ่นยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอาจช่วยแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ในบางเวอร์ชันของ Caregiver Robots หุ่นยนต์ยังสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ ด้วยการติดตามตารางนัดหมายและการใช้ยาได้ด้วย
บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในรัฐมินเนโซตาได้เริ่มใช้หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI สองตัวเป็นผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น หุ่นยนต์ Pepper และ NAO ซึ่งสร้างโดย Softbank ได้รับการปรับแต่งโดยนักหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาในเมืองดูลูธ เพื่อโต้ตอบและเพิ่มความเป็นอิสระให้กับผู้อยู่อาศัยใน The Estates of Roseville รวมถึงบ้านพักคนชราอีก 7 แห่ง
เจ้า Pepper เป็นหุ่นยนต์สูง 4 ฟุต ส่วน NAO สูง 2 ฟุต หุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านการสนทนาและการสังเกต มันถูกออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ และมีระบบ AI ที่สามารถวัดการแสดงออกทางสีหน้า ภาษากาย และน้ำเสียงได้ ขณะเดียวกันก็ปรับใบหน้าและเสียงของตัวเองเพื่อจำลองปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ หุ่นยนต์ได้รับการตั้งโปรแกรมให้เตือนผู้ป่วยให้ออกกำลังกายและรับประทานอาหาร ชักชวนให้ผู้ป่วยเต้นรำและเล่าเรื่องตลก รวมทั้งคอยสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย และอาจใช้ “การบำบัดทางปัญญา” เพื่อกระตุ้นความเฉียบแหลมทางจิตใจด้วย
...
Arshia Khan ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย UMD และนักศึกษาระดับปริญญาโทของเธอได้ปรับแต่ง Pepper และ NAO ให้เหมาะกับบ้านพักคนชรา ซึ่งดำเนินการโดย Monarch Healthcare Management พวกเขาได้เริ่มฝึกหุ่นยนต์ให้เรียนรู้แผนผังของสถานที่ ต่างๆเพื่อให้ Pepper และ NAO สามารถเดินทางตามหน้าที่ของตนเองได้
Khan บอกว่า เขารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับนักเรียนด้วยการนำหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ไปใช้งานในสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุ และว่านี่ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมด้วยการใช้หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์จริงๆ
การใช้หุ่นยนต์เพื่อการดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องมือ AI ที่หลากหลาย เช่น มีสกูตเตอร์ผสมกับแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ชื่อ temi ซึ่งติดตามเจ้าของบ้านไปทั่วบ้าน และ Mylo ที่มีหน้าเหมือนแมวจาก CR Robotics ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นภาพที่เป็นมิตรและปลอบโยนสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพื่อโต้ตอบด้วยในชีวิตประจำวัน ล่าสุดสำนักงานผู้สูงอายุแห่งรัฐนิวยอร์ก (NYSOFA) ได้แจกหุ่นยนต์ ElliQ ให้กับผู้สูงอายุ 800 คนที่อาศัยอยู่คนเดียว
...
การใช้หุ่นยนต์มนุษย์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุอาจเป็นทั้งทางเลือกและก้าวสำคัญของการเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม การขาดแคลนบุคลากร และการขาดแคลนบุคลากรที่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ เป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาจดูเหมือนเป็นเรื่องราวจากนิยายวิทยาศาสตร์ ที่อนาคตผู้สูงอายุจะมีเพื่อนคู่ใจเป็นหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI สามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์ได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีชีวิตโดดเดี่ยว เหงา เศร้าได้มีเสียงหัวเราะมากกว่าการอยู่กับมนุษย์จริงๆก็เป็นได้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่