ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในซีอีโอแห่งยุคที่มีศาสตร์และศิลป์ในการครองใจคนมากที่สุด สำหรับ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ซีอีโอ “เอพี ไทยแลนด์” โดยปลุกปั้นธุรกิจจนผงาดเป็น บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับท็อปไฟว์ของประเทศ มียอดขายหลายหมื่นล้านบาท และดูแลพนักงานกว่า 3,000 คน ด้วยหลักการบริหารแบบไม่บริหาร ถือคติเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข และเติบโตต่อเนื่องพร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน

นอกจากการทุ่มเทบริหารธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้ว อีกหนึ่งความมุ่งมั่นของซีอีโอมือทองคือการส่งต่อพลังบวก และมอบโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้คนไม่สิ้นสุด โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 5 แล้ว ที่ “เอพี ไทยแลนด์” ร่วมจัดงานคอนเฟอเรนซ์ใหญ่ระดับประเทศอย่าง “CREATIVE TALK CONFERENCE 2024” (CTC 2024) ภายใต้แนวคิด “Creative Generation” เชื้อเชิญสปีกเกอร์กว่า 100 คนจากทุกวงการ มาร่วมกันระเบิดพลังความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกับการสร้างสรรค์ธุรกิจให้รับกับยุคที่ Creativity กลายเป็นหัวใจสำคัญของคนในทุกเจเนอเรชัน และสร้างนิยามใหม่ให้เกิดเจเนอเรชันแห่งอนาคตที่เรียกว่า “Creative Generation” โดยงานนี้ “คุณอนุพงษ์” ขึ้นเวทีแชร์เคล็ดลับการบริหาร (ใจ) คน ที่ไม่เคยบอกใคร ในฐานะผู้นำแห่งยุคด้วย

...

สไตล์การบริหารของคุณอนุพงษ์เป็นแบบไหน

การบริหารของ “เอพี ไทยแลนด์” เรามี 3 Stage เปลี่ยนสไตล์ไปตามช่วงเวลา เริ่มจาก Stage 1 คือ Coaching เป็นช่วงระยะแรกที่มีพนักงาน 100 คน มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ตอนนั้นบริษัทยังเล็กๆ ผมทำหน้าที่เป็นโค้ชจะใกล้ชิดกับนักเตะ คนเป็นโค้ชหรือผู้นำต้องลงไปทำเอง บทบาทจะวางไว้หลวมๆ ไม่มีใครที่มีบทบาทชัดเจน คนๆหนึ่งต้องทำได้หลายอย่าง กลับกันเมื่อเข้าสู่ Stage 2 บริษัทโตขึ้น จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1,000 คน ยอดขายเพิ่มขึ้น 10 เท่า เราจะเปลี่ยนวิธีคิดทันที กลายเป็นเรื่อง Process+Structure สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าอะไรจะเติบโต และเราจะวางพนักงานแบบไหน พอถึง Stage 3 เมื่อบริษัทเติบโตมากขึ้น จนปัจจุบันมีจำนวนพนักงานกว่า 3,000 คน สิ่งที่ต้องโฟกัสก็เปลี่ยนไป กลายเป็นต้องโฟกัสกับเรื่องวัฒนธรรมองค์กร (Culture) การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆจะเป็นตัวชี้วัดความเป็นผู้นำ

ช่วยแบ่งปันเทคนิคการตัดสินใจของผู้นำแห่งยุคหน่อยค่ะ

ปัจจุบันผมไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแล้ว ผมทำหน้าที่แค่ถามคอมเมนต์ ถ้าเฟลก็เพราะคุณ ถ้าซักเซสก็เพราะคุณ ไม่เกี่ยวกับผม และที่เอพีเรามีวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งคือไม่เน้น Try Hard แต่เน้นที่ Outcome เราเน้น Work Smart ไม่เน้น Work Hard ซีอีโอก็เปรียบเสมือนวาทยกร ทำหน้าที่ดึงความสัมพันธ์ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นออกมา เพื่อสอดผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และเลือกดนตรีให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา

...

เป็นซีอีโอมีภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้ไหม

ผมเชื่อว่าคนเราไม่มีเวลาโฟกัสอะไรได้นาน เบิร์นอันนึงไม่ทำให้ Burnout ได้นาน ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่อยากตื่นมาทำงานเยอะที่สุดคือ “เบื่อคน” ซึ่งอาจจะเกิดจากเรา

ไม่ชอบเขา แต่กลับกันให้ลองถามว่า เราเอางานเป็นที่ตั้งจะช่วยเรื่องนี้ได้ไหม ผมเชื่อในหลักคิดเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โลกแห่งความเป็นจริงเรามักมองสถานการณ์คนอื่นด้วยการเอาตัวเองมาประเมิน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “คุณต้องฟังเขา” เราต้องหา “Need Objective Challenge” คือคุณไม่ได้เอาสถานการณ์ของเขามาประเมิน เราต้องดูความต้องการ เพื่อดูว่าความท้าทาย หรือความต้องการของเขาจริงๆมันคืออะไร

...

ในมุมของซีอีโอคิดอย่างไรกับ AI ที่กำลังครองเมือง

โลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จากประสบการณ์ของผมได้ยินมาว่า “AI” มา “ทองคำ” อาจจะกลายเป็นขี้ หมายถึงคนเขียน Coding จะโดน AI แทนที่ ตอนนี้เริ่มมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นในยุค AI ดังนั้น AI จะเก่งได้เราต้องตั้งคำถามให้ถูก สิ่งสำคัญคือเราต้องเป็น Specialist ในการตั้งคำถามเพื่อให้ AI ทำงาน อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า AI ยังไม่มี Creativity มันยังทำสิ่งใหม่ไม่ได้ เพราะ AI ในตอนนี้กำลังทำงานที่เราเคยทำในอดีต ดังนั้นเราอย่าไปกลัว เราต้องรู้ว่า AI คืออะไร เราต้องควบคุมให้ได้ ซึ่งสำคัญมาก เป็นหนึ่งในทักษะของยุคนี้ หัวใจสำคัญคนต้องรู้ว่า AI คืออะไร แล้วใช้มัน อย่าไปกลัว

...

อยากส่งต่อมรดกอะไรในองค์กรจากรุ่นสู่รุ่นบ้าง

วัฒนธรรมองค์กร เท่ากับ Storytelling เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ขององค์กร เพื่อสานต่อ Value ที่มีขององค์กร ทุกคนจะได้รับรู้คุณค่า รับทราบว่าเราเคยยึดถือแบบนี้ เราเคยเจออะไรมา เคยผ่านอะไรมา จึงเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ในองค์กรที่มีหนังสือจาก “เอพี ไทยแลนด์” แจกให้กับพนักงาน เพราะผู้นำมีหน้าที่สานต่อให้คนรุ่นหลังให้เขาเข้าใจ เห็นถึง Thinking และเรื่องราวที่สำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำแบบไหน หัวใจสำคัญที่สุด คือคุณได้มอบ Value อะไรให้กับองค์กร, พนักงาน และโลกใบนี้บ้าง ลองกลับมาถามตัวเองว่า วันนี้คุณทำหน้าที่ในฐานะผู้นำได้เต็มที่จนถึงที่สุดแล้วหรือยัง.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่