สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทย เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่มีเพิ่มมากขึ้น และเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลในสังคมของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัยที่มีสัดส่วนสูงเพิ่มขึ้นในทุกปี

ปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย เนื่องจากสภาพปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบให้แต่ละกลุ่มวัยต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจที่แตกต่างกัน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและบุคคลในสังคมรอบข้าง 

เรื่องของสุขภาพจิตในสังคมนั้นอาจนำพาไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการยกระดับประสิทธิภาพ ในการแก้ไขอย่างจริงจัง และต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน

ในปี 2562 องค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 8 ของคนทั่วโลกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 970 ล้านคนทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้นเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤติ Covid-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลและได้รับผลกระทบ

ด้านสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย ที่รายงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องสภาวะสังคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 กล่าวถึงข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตของคนไทย (Mental Health Check In : MHCI) ที่มีเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากในปี 2558 จำนวน 1.3 ล้านคน เพิ่มเป็นเท่าตัวในปี 2566 จำนวน 2.9 ล้านคน 

นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้า สูงสุดท่ีร้อยละ 8.9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.4 ขณะท่ีผู้ที่มีความเครียดสูงมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.3 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 5.3 จากผู้เข้ารับการประเมินจำนวน 3.9 แสนราย

ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากการเข้าถึงการรักษา และมีผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาจำนวนมาก รายงานการศึกษาความชุกของโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิต

...

ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตของตนเอง โดยกรมสุขภาพจิต 2566 พบผู้ป่วยที่เข้ามารับการประเมินจำนวนมากกว่า 8.5 แสนคน พบว่ามีผู้ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในสัดส่วนที่สูงขึ้น ประกอบด้วย ผู้มีความเครียดสูงอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.8 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 3.2 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีผู้เข้ารับการประเมิน 7.5 แสนคน และพบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6 คน

ปัญหาสุขภาพจิต นอกจากจะส่งผลกระทบด้านจิตใจของตนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศ เนื่องจากทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน ซึ่งสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกือบ 1 ใน 5 ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก

สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันนี้ ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น เนื่องจากในอดีตผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมักเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เก่ียวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบสัดส่วนของผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและกลุ่มโรคซึมเศร้ามีสัดส่วนสูงที่สุดเป็น 2 อันดับแรก และสูงกว่าสัดส่วนผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดรวมกัน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมท่ีมีความรุนแรงข้ึน

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเทียบเท่าช่วงวิกฤติต้มยากุ้งที่ยังคงเป็นที่น่ากังวล และคาดการณ์ว่าปัญหาจากสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่ามลพิษทางอากาศเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชน อายุ 18 ปีข้ึนไป

ตัวเลขที่สูงขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทางสังคมไทยต้องพึงระวัง และรีบจัดการเพื่อการยกระดับประสิทธิภาพสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมถึงสุขภาพของประชากรไทยที่มีคุณภาพ โดยทั้งหมดมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยในระยะยาว 

ข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรมสุขภาพจิต

ภาพ : istock